กรมชลเผยผลการศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก หากแล้วเสร็จตามแผนคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 แสนไร่ พื้นที่น้ำท่วมลดลงจาก 9,580 ไร่ เหลือเพียง 314 ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 88,733 บาท/ปี ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายบุญฤทธิ์ จำปาเงิน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก กรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำชลประทาน พบว่า โครงการส่งน้ำฯ สามชุก ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2507 มีอายุการใช้งานกว่า 50 ปี ทำให้ระบบชลประทานมีประสิทธิภาพการใช้งานลดลง แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ประสิทธิภาพดังเดิม
โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก มีพื้นที่ชลประทาน 320,569 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอศรีประจันต์ อำเภอสามชุก อำเภอดอนเจดีย์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และ อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง กรมชลประทาน ได้วางแผนปรับปรุงโครงการให้มีความเหมาะสมซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำ บรรเทาปัญหาขาดเเคลนน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
นายบุญฤทธิ์ จำปาเงิน ยังกล่าวถึงผลการศึกษาโครงการศึกษา ความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ว่า ภายหลังจากกรมชลประทานมอบหมายให้ บริษัท วายพี คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท สยาม-เทค กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอสพีที คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท ซีพีเอส ซัลเซล จำกัด ดำเนินการศึกษาโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2566 ได้เปิดเวทีชี้แจงผลการศึกษาพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้นำชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่หอประชุมสหกรณ์การเกษตรสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วเสร็จ นั้น
ได้ข้อสรุปแผนงานปรับปรุงโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วย แผนการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำและระบบคลองระบายน้ำ โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ ทั้ง 3 สายปรับปรุงและซ่อมแซมคลองส่งน้ำ 171.17 กิโลเมตร สะพาน 66 แห่ง ถนนคันคลอง 136.47 กิโลเมตร อาคารประกอบคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ 645 แห่ง ในจำนวนนี้ได้ทำการติดตั้งระบบ loT (Internet of Things) คลองส่งน้ำ 22 แห่ง และคลองระบายน้ำ 10 แห่ง สำหรับใช้ติดตามควบคุมการส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพแผนการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำและบรรเทาอุทกภัย โดยการก่อสร้างคันกั้นน้ำแม่น้ำท่าจีน รวมความยาว 13.45 กิโลเมตร ปรับปรุงคันคลองระบายใหญ่สามชุก1 และ สุพรรณ3 ความยาว 14.43 กิโลเมตรขุดคลอกท้องคลองระบายใหญ่และคลองซอยที่สำคัญ ความยาว 207.25 กิโลเมตร และแผนการปรับปรุงแก้มลิงในพื้นที่ 9 แห่ง ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
นอกจากนั้น ยังมีแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ อาทิเช่น ส่งเสริมการปลูกข้าวนาปรับเปียกสลับแห้ง ระบบน้ำหยดสำหรับการปลูกอ้อย ระบบสปริงเกอร์สำหรับไม้ผล รวมทั้งแผนการพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน
“หากปรับปรุงโครงการแล้วแล้วเสร็จตามแผนงาน คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งจากปัจจุบัน 331,189 ไร่ จะเพิ่มเป็น 490,556 ไร่ หรือ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินจาก 109% เป็น 161% ผลประโยชน์ทางด้านการเกษตรเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,083.97 ล้านบาท/ปี พื้นที่น้ำท่วมลดลงจาก 9,580 ไร่ เหลือเพียง 314 ไร่ หรือ ลดลง 96.72% คิดเป็นมูลค่ากว่า 64.88 ล้านบาท ที่สำคัญครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 55,120 บาท/ปี เป็น 88,733 บาท/ปี หรือ เพิ่มขึ้น 60.98% ต่อปี ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตพื้นที่โครงการให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ผคป.สามชุก กล่าวสรุป
นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การใช้น้ำของพี่น้องเกษตรกรในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี มีเกษตรกรที่ทำนาข้าวกว่า สี่แสนไร่เศษ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อมีโครงการปรับปรุงโครงการส่งน้ำฯ สามชุก จะทำให้เกษตรกรสามารถนำน้ำมาใช้ได้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งคลองยังสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ หากมีน้ำหลากมาในช่วงฤดูน้ำหลากสามารถเป็นแก้มลิงเก็บกักน้ำไม่ให้มีน้ำท่วม เป็นจัดการการระบายน้ำให้ดีขึ้น ต้องขอบคุณกรมชลประทาน ที่มาปรับปรุง คลองระบายน้ำต่างๆ ในอำเภอสามชุกที่ช่วยให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากขึ้นตามไปด้วย
นายคม แจ่มแจ้ง ประธาน JMC โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก ตัวแทนเกษตรกรผู้ใช้น้ำ กล่าวว่า เมื่อปี2562 ได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มบริหารผู้ใช้น้ำขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการใช้น้ำสำหรับทำอาชีพเกษตร อุปโภค บริโภค โดยเฉพาะอุปสรรคปัญหาการใช้น้ำที่ต้องมีการสื่อสาร ระหว่างภาครัฐกับเกษตรกร ที่จะต้องมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งจะช่วยจัดสรรการใช้น้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี