นายกุลธร รัตนเสรี ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ทำนาข้าวในพื้นที่บางระกำโมเดล 265,000 ไร่ ใน จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ โดยไม่มีผลผลิตแปลงใดได้รับความเสียหายจากภัยอันเกิดจากน้ำ ทั้งนี้ จากการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวภายใต้โครงการบางระกำโมเดล ซึ่งนับเป็นปีที่ 8 ได้ช่วยแก้ปัญหานาข้าวเสียหายจากอุทกภัยหรือจากการขาดแคลนน้ำได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนปฏิทินปลูกข้าว โดยจัดสรรน้ำปริมาณ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จัดสรรส่งไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน พื้นที่ชลประทาน 205,000 ไร่ โครงการเขื่อนนเรศวร พื้นที่ชลประทาน 40,000 ไร่ และ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล พื้นที่ชลประทาน 20.000 ไร่ ในเขต จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย รวมพื้นที่ทั้งหมด 2.65 แสนไร่ ตามที่เรียนข้างต้นโดยเริ่มทยอยส่งน้ำเข้าทุ่งฯ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2567 เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกวันที่ 1 เมษายน 2567 เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2567
“หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ กรมชลประทานจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ รองรับปริมาณน้ำช่วงฤดูน้ำหลากจากลุ่มน้ำยม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยทั้งใน จ.พิษณุโลก และพื้นที่เศรษฐกิจ จ.สุโขทัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันรับน้ำเข้าทุ่งแล้ว 120,585 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำ 177.43 ล้านลบ.ม.หรือ 44.36%” นายกุลธร กล่าว
นอกจากนี้กรมชลประทาน ร่วมกับกรมประมง ส่งเสริมอาชีพโดยนำพันธุ์ปลามาปล่อยในทุ่ง ให้เกษตรกรมีอาชีพเสริม ทำประมง และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตจากปลา และผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมช่วงฤดูน้ำหลาก และเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน จะเริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ คงเหลือปริมาณน้ำส่วนหนึ่งในทุ่ง สำหรับให้เกษตรกรใช้เตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปรัง ช่วยประหยัดน้ำต้นทุนให้เขื่อนสิริกิติ์ จึงกล่าวได้ว่าโครงการบางระกำโมเดล ช่วยลดความเสี่ยงอุทกภัย
นายกุลธร กล่าวอีกว่า สภาพพื้นที่ทุ่งบางระกำ เป็นที่ราบเรียบ เป็นทุ่งรับน้ำโดยตรงตั้งแต่อดีต คนในพื้นที่ยึดอาชีพทำนาเป็นหลักและอาศัยน้ำฝนทำนา ปีไหนน้ำมากก็จะพบปัญหา
นาข้าวเสียหายจากน้ำท่วม ปีไหนฝนแล้งนาข้าวก็เสียหาย กระทั่งเกิดโครงการบางระกำโมเดล ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูก จากแต่เดิมที่ปลูกวันแม่ในเดือนสิงหาคม และเกี่ยววันพ่อในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก เปลี่ยนเป็นปลูกข้าวเดือนเมษายนโดยได้รับการสนับสนุนน้ำเตรียมแปลงปลูกจนเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นจากโครงการชลประทาน ทำให้นาข้าวไม่เจอกับปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมอีก ผลผลิตไม่เสียหาย สามารถเก็บเกี่ยวได้ 100%
“ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วยังมีการปล่อยน้ำพร้อมกับภาครัฐได้นำพันธุ์ปลามาปล่อยเข้าทุ่ง ชาวบ้านสามารถจับไปบริโภคหรือบางรายทำเป็นอาชีพประมง ช่วยเสริมรายได้” นายกุลธร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี