‘ประเสริฐ’เผยคุย‘ปปง.’เพิ่มมูลฐานความผิดยึดทรัพย์‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ เตรียมคุยธนาคารคุม‘ลิงก์ดูดเงิน’ 3 ต.ค.นี้ เริ่มระบบแจง‘ผู้ขายของออนไลน์’จะได้รับเงินต่อเมื่อ‘ผู้ซื้อ’ได้ดูสินค้าแล้ว
23 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถาม ของนาวาตรีวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ถาม นายกรัฐมนตรี เรื่อง การฉ้อโกงออนไลน์ ซึ่งมูลค่าการซื้อขายของออนไลน์แต่ละปีเป็นจำนวนนับแสนล้านบาท เมื่อเกิดเหตุการณ์หลอกขายของเกิดขึ้นจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ถ้าใครไม่ได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถือว่าไม่รับโทรศัพท์เลยหรือไม่ทำธุรกรรมใดๆ บางคนทำธุรกรรมกับธนาคารไม่ถึงชั่วโมงก็มีคนโทรไปแล้ว ซึ่งตนยังโดนเลย และคิดว่าทุกคนที่อยู่ในห้องนี้ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์อันเจ็บปวดกับแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ หลายคนถูกล่อหลวงให้กดลิ้งก์ เมื่อเร็วๆนี้เป็นของกรมบัญชีกลาง
เมื่อช่วงเช้านี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ดูแลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล บุกจับเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง ที่เอาข้อมูลไปขาย จึงอยากให้ทีมงานของกระทรวง ดีอีเอส ปรับกระบวนการแก้ปัญหาให้รวดเร็วขึ้น ทันต่อความต้องการของประชาชนและทันต่อยุคสมัย ยิ่งใกล้การเกษียณอายุอาจทำให้ผู้ที่เกษียณอายุถูกหลอกมากยิ่งขึ้น
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ผลของการดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมาคดีต่างๆของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มาในรูปแบบต่างๆ ประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หลักๆ มีประมาณ 6 เรื่อง คือ
1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการคิดเป็น ร้อยละ 29.73 คือการซื้อสินค้าไม่ตรงปก ซึ่งขณะนี้ ดีอีเอส. ทำงานร่วมกับ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และได้ออกมาตรการ COD ขึ้นมา นับตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 67 เรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้ขายจะได้รับเงินต่อเมื่อผู้ซื้อได้ดูสินค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วและมีการชะลอการจ่ายเงินเป็นระยะเวลา 5 วัน เพราะฉะนั้นมาตรการนี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการหลอกลวงได้ในระดับที่มีนัยยะ เนื่องจากคดีนี้สูงสุด แต่มีความเสียหายไม่มากนัก
2.การหลอกลวงหารายได้พิเศษคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.44
3. การหลอกลวงการลงทุนทางระบบคอมพิวเตอร์ คิดเป็น ร้อยละ 16 แต่มูลค่าความเสียหายจำนวนมาก รวมถึงการหลอกลวงที่เรียกว่าโรแมนซ์สแกม คือหลอกให้หลงรักก่อน แล้วชวนให้ลงทุนต่อ
4. การหลอกลวงโอนเงินเพื่อให้รับรางวัล ร้อยละ 7
5.หลอกให้กู้เงิน ร้อยละ 7
6.คดีอื่นๆ ร้อยละ 14
“ยอมรับว่าคดีมีอยู่ 5 แสนกว่าเรื่อง ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) รับดำเนินคดีได้ประมาณ 6 หมื่นเรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยผมจะรับข้อเสนอนี้ไปทำการปรับปรุงการดำเนินการเพื่อที่จะทำอย่างไรให้คดีมีความคืบหน้าและประชาชนสามารถติดตามสถานะของบัญชีได้ว่าขณะนี้เรื่องที่ร้องไป สตช. สถานะคดีเป็นอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงฯ ได้จัดตั้งศูนย์เอโอซี 1441 เป็นศูนย์ที่บริการพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันพี่น้องประชาชนที่รับความเดือดร้อนเรื่องการถูกหลอกลวงสามารถติดตามสถานะของท่านได้ที่ 1141 เราก็จะติดตามให้” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการต่อสายสัญญาณไปประเทศเพื่อนบ้านนั้น จริงๆเราได้ทำการปราบปรามอย่างหนักพอสมควรขณะนี้ตนได้ออกตรวจตามพื้นที่ในเขตชายแดนหลายแห่งและกำจัด แต่มิจฉาชีพก็มีความพยายาม ต่อสัญญาณเข้าไปเรื่อยๆ เรื่องนี้ได้ประสานงานกับกระทรวงกลาโหม กสทช. สตช. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มิจฉาชีพเริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะการใช้สัญญาณดาวเทียมที่เกิดจากดาวเทียมโคจรในระยะต่ำ ที่มีจานรับสัญญาณโดยตรงซึ่งผิดกฎหมายในประเทศไทยในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กสทช.จะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการปรับปรุงกฎหมายขณะนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่มีอายุครบ 5 ปีและมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาตรฐานความปลอดภัยด้านไซเบอร์และโทษต่างๆ ตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับปรุง ซึ่งได้มีการพูดคุย กับ ปปง.ในเรื่องการเพิ่มมูลฐานความผิด การกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน เกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต่อไปจะเป็นมูลฐานความผิดหนึ่ง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งหมายถึงการนำไปสู่การที่เราสามารถที่จะยึดทรัพย์กลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ ได้
“ส่วนกรณีลิงก์ที่มากับเอสเอ็มเอสนั้น เมื่อวันที่ 20 ก.ย. มาหลังจากที่นายกฯ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่มีข้อความตอนหนึ่ง ว่า ในส่วนที่ประชาชนเกิดความเสียหาย ให้บริษัทโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์ในอนาคตต้องมีความร่วมมือในการรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ตนได้สั่งการให้ที่ประชุมศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้ร่างข้อกำหนด และระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและเชิญธนาคารโอเปอเรเตอร์มาซึ่งสิ่งที่แนบมากับเอสเอ็มเอสนั้น ต่อไปจะต้องมีการควบคุมเพราะแอปดูดเงินหรือลิงก์ต่างๆ ที่มากับเอสเอ็มเอสนั้นมีเป็นจำนวนมากและเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงดีอีเอสจะต้องทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในการปราบปรามต่อไป” รมว.ดีอีเอส กล่าว
////
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี