‘ปภ.’ติวเข้มแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย57จังหวัดทั่วไทย กางเกณฑ์-งบฯเตรียมความพร้อมให้ประชาชนรับเงินช่วยเหลือเร็วที่สุด
เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ที่กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี2567 เพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขั้นตอนการดำเนินการ รวมถึงตอบข้อซักถามในประเด็นสำคัญ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือและสามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่วางไว้ได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับเงินช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด โดยมีผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงผู้แทนธนาคารออมสิน เข้าร่วมการประชุมฯ
อธิบดีปภ. กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 พร้อมอนุมัติกรอบวงเงิน 3,045 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเบื้องต้นจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรเงินช่วยเหลือฯ จะเป็นจังหวัดที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นตั้งแต่วันที่ 20พ.ค.67 และมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 57 จังหวัดได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรังตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรีพระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลาระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานีหนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี จำนวน 338,391 ครัวเรือน
“การให้ความช่วยเหลือฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ (1) บ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท (2) บ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท และ (3) กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30) และจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ที่ประสบสาธารณภัย รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.)” นายไชยวัฒน์
นายไชยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปภ. ได้เน้นย้ำให้จังหวัดดำเนินการสำรวจ จัดทำบัญชี และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งจังหวัดสามารถดำเนินการได้ทันทีตามแนวทางที่กำหนดโดยไม่ต้องรอระยะเวลา และให้ทยอยส่งข้อมูลเข้ามายัง ปภ. ให้ได้โดยเร็วตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อตรวจสอบและนำส่งธนาคารออมสินโอนเงินให้ประชาชนต่อไป สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานนั้น ให้อำเภอแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลประจำแต่ละหมู่บ้านที่ประสบภัยทำหน้าที่สำรวจรายชื่อผู้ประสบภัยและการลงทะเบียนพร้อมเพย์ เพื่อส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบและรับรองข้อมูลเพื่อเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.อ.) ให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งมาให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวบรวมและนำส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินโอนเงินให้ผู้ประสบภัยต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้กำหนดช่องทางการยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ ไว้ 2 ช่องทาง ทั้งแบบ Onsite และ Online โดยแบบ Onsite ประชาชนสามารถยื่นคำร้องฯ ด้วยตนเอง ณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย ส่วนแบบ Online จะดำเนินการยื่นคำร้องและติดตามสถานะผ่านเว็บไซต์ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน สำหรับเอกสารที่ใช้ยื่นเป็นหลักฐานในการขอรับเงินช่วยเหลือ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน) สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีเป็นบ้านเช่า) และหากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จะต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน3
“ผู้ประสบอุทกภัยสามารถยื่นคำร้อง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนการยื่นคำร้องผ่านระบบออนไลน์ คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.flood67.disaster.go.th ได้ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน2567 เป็นต้นไป สำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับธนาคาร สามารถไปลงทะเบียนพร้อมเพย์ได้ทุกธนาคารเพื่อให้สามารถรับเงินช่วยเหลือได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ได้ทาง facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X @DDPMNews ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะทำอัปเดตข้อมูลความคืบหน้าเป็นระยะ” อธิบดี ปภ. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี