สำหรับคดีสิ่งแวดล้อมในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น นอกจากได้มีบทบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในมาตรา 96 ใจความว่า “แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็น
แหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใดๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจาย ของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามลพิษเช่นว่านั้นเกิดจาก
(1) เหตุสุดวิสัยหรือการสงคราม
(2) การกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลหรือเจ้าพนักงานของรัฐ
(3) การกระทำหรือละเว้นการกระทำของผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายเองหรือของบุคคลอื่น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ โดยตรงหรือโดยอ้อม ในการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้น
ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นนั้นด้วย
ซึ่งในบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นจากมลพิษแล้ว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นต้องรับผิดชอบเว้นแต่เข้าข้อยกเว้นในมาตราดังกล่าวคือ
1.เหตุสุดวิสัยหรือการสงคราม
2.การกระทำตามคำสั่งของรัฐบาลหรือเจ้าพนักงานของรัฐ
3.การกระทำหรือละเว้นการกระทำของผู้ที่ได้รับอันตรายหรือความเสียหายเองหรือของบุคคลอื่น ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ โดยตรงหรือโดยอ้อม ในการรั่วไหลหรือการแพร่กระจายของมลพิษนั้น
ซึ่งในทางปฏิบัติของทนายความฝ่ายผู้เสียหายจะทำให้การนำสืบพยานหลักฐานนั้นง่ายขึ้นเนื่องจากแตกต่างจากการนำสืบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องละเมิดซึ่งจะต้องนำสืบให้เห็นว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างไร เพียงแต่นำสืบให้เห็นถึงจำเลยหรือผู้ก่อมลพิษว่าได้มีการครอบครองสารเคมีซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นก็พอ ดังนั้นผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษจะจงใจหรือไม่จงใจก็ตาม ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเรียกว่าการรับผิดโดยเคร่งครัด
นอกจากนี้ในวรรคท้ายของกฎหมายเรื่องดังกล่าวยังกำหนดให้ผู้ก่อมลพิษหรือผู้ครอบครองมลพิษอาจจะต้องรับผิด 2 ทางคือ 1 รับผิดกับเอกชนซึ่งเป็นฝ่ายผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจจะเป็นโจทก์ในคดี รวมถึง 2 รับผิดชอบค่าเสียหายต่อหน่วยงานรัฐที่ได้ดำเนินการไปอันเกี่ยวข้องกับการจัดการมลพิษหรือผลกระทบที่เกิดจากแหล่งกำเนิดมลพิษที่ผู้ประก่อมลพิษได้ครอบครอง
ส่วนในประเด็นค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายตามปกตินั้นจะสังเกตได้ว่า ในมาตรา 96 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ได้ระบุรายละเอียดเอาไว้ ดังนั้นในการตีความเรื่องค่าเสียหายจะต้องตีความตามกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องละเมิด โดยในทางปฏิบัติ นอกจากจะเป็นค่าเสียหายที่มีหลักฐานใบเสร็จเป็นหลักฐาน เช่น ค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สิน ค่าเสียหายเกี่ยวกับร่างกายแล้ว ส่วนประเภทค่าเสียหายที่ไม่มีใบเสร็จ มาเป็นหลักฐานแสดงนั้นศาลสามารถใช้ดุลพินิจเพื่อกำหนดให้ตามสมควร ซึ่งส่วนนี้ยังเป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่สำคัญว่าควรกำหนดอย่างไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี