'กรมคุมประพฤติ'นำระบบรายงานตัวผ่านจอภาพมาใช้ ลดภาระการเดินทางไกลของผู้ถูกคุมประพฤติ 'ทวี สอดส่อง'เผยเตรียมเก็บสถิติคดีหย่าร้าง-ผลกระทบ-ความประสงค์ของกลุ่ม LGBTQ+ เพิ่มเติม เพื่อประเมินผลกฎหมายให้นำไปสู่การใช้อย่างสมบูรณ์
เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2567 ที่อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสมาคมช่างผมเสริมสวยแห่งประเทศไทย สมาคมเดอะเชฟประเทศไทย และกรมคุมประพฤติ ร่วมกันสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติ โดยมีนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ นางยศวันต์ บริบูรณ์ธนา รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมคุมประพฤตินายอดิศร เชื้อคำเพ็ง นายกสมาคมช่างผมเสริมสวยแห่งประเทศไทย และนายทองเลี่ยม พุกทอง นายกสมาคมเดอะเชฟประเทศไทย ร่วมงาน และยังมีการนำเสนอก้าวสำคัญของกรมคุมประพฤติ ด้านงานอำนวยการผู้ถูกคุมประพฤติ โดยให้มีการรายงานตัวผ่านจอภาพแทนการเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในตัวเมือง ด้วยระบบ Webex Meeting (Conference) จากสถานที่ที่ได้รับการเลือกให้เป็นที่รายงานตัว ไม่ว่าจะเป็นศาลจังหวัด หรือศูนย์ประสานงาน
พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์ผ่านหลังการเปิดงานว่า ปกติแล้วการรายงานตัวของผู้ถูกคุมความประพฤติจะเป็นไปตามคำสั่งของศาล แต่ประเทศไทยเรามีความเหลื่อมล้ำเรื่องการเดินทาง โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ได้รองรับประชาชนในการเดินทาง อีกทั้งจำนวนผู้ถูกคุมประพฤติในประเทศไทยในปัจจุบันมีกว่า 400,000 ราย และมีการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับ ขาดแคลนอาชีพและรายได้ ทำให้ทุกการเดินทางไปที่ใดย่อมเสียค่าใช้จ่าย หรือถ้าจะให้ข้าราชการกรมคุมประพฤติเดินทางไปหา ก็ยังมีความลำบากเช่นกัน ดังนั้น การรายงานตัวผ่านจอภาพจะเป็นประโยชน์ โดยที่เจ้าของสำนวนการคุมประพฤติ จะได้เห็นผู้ถูกคุมประพฤติด้วยว่ามีสภาพร่างกาย สภาพจิตใจอย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออย่างไรเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การรายงานตัวผ่านจอภาพ ศาลจะต้องมีการอนุมัติเห็นชอบให้บุคคลนั้นสามารถรายงานตัวผ่านจอภาพได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วศาลมีความเห็นด้วย ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดปัญหาข้อจำกัดในกระบวนการยุติธรรม แต่มั่นใจว่าจะต้องพัฒนาระบบยิ่งขึ้นกว่านี้
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า การรายงานตัวผ่านจอภาพ ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ถูกคุมประพฤติที่อยู่ในพื้นที่อุทกภัย เหตุการณ์เสี่ยงภัยต่าง ๆ ถนนขาดสาย ไม่มีรถสาธารณะรับ-ส่ง ที่ไม่สามารถเดินทางไปรายงานตัวได้ ก็สามารถทำการรายงานตัวผ่านจอภาพนี้ได้ โดยมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครคุมประพฤติ หรือผู้นำชุมชน คอยอำนวยความสะดวกให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ คุณสมบัติของผู้ถูกคุมประพฤติที่จะได้รับประโยชน์จากการรายงานตัวผ่านจอภาพนั้น สามารถเข้าเกณฑ์ได้ทุกฐานความผิด แต่อาจไม่ได้รายงานตัวผ่านจอภาพทุกครั้ง เพราะศาลอาจกำหนดห้วงวันที่ จำนวนครั้งว่าช่วงใดให้เป็นการรายงานตัวผ่านจอภาพ หรือช่วงใดให้เป็นการรายงานตัวกับเจ้าหน้าคุมประพฤติที่อาจมีความถี่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษ จะได้รับสิทธิประโยชน์รายงานตัวผ่านจอภาพด้วยหรือไม่นั้น ตนมองว่าต้องไปดูที่ระเบียบพักการลงโทษก่อนว่ามีเงื่อนไขรายละเอียดเดิมกำหนดอย่างไร แต่ถ้าสามารถใช้วิธีการรายงานตัวผ่านจอภาพได้ด้วยก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางได้
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า สำหรับจำนวนสถานที่รับรายงานตัวผ่านจอภาพ หรือศูนย์ประสานงานอำเภอต่าง ๆ ในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 900 แห่ง จึงมองว่ามีความเพียงพอเหมาะสมสำหรับรองรับการรายงานตัวด้วยจอภาพของผู้ถูกคุมความประพฤติ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ ทั้งนี้ ในอนาคตหากจะขยับไปถึงขั้นตอนให้สามารถรายงานตัวผ่านจอภาพจากที่บ้านหรือที่พำนักอาศัยนั้น ตนขอเรียนว่าตอนนี้ยังอยู่ในกรอบของสถานที่ที่ได้รับการอนุญาตเท่านั้น เพราะต้องมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครของกรมคุมประพฤติ / ผู้นำชุมชน อยู่เคียงข้างระหว่างการรายงานตัว
นอกจากนี้ พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวถึงกรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ว่า หลังจากนี้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จะมีแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องหลายประการ เพราะกรมคุ้มครองสิทธิฯ ถือเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สำนักงานฝ่ายทะเบียนของกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ทราบว่าทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ จะมีการจัดการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับสิทธิตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมสามารถเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิหรือใช้สิทธิก็ย่อมได้ และยังเสนอผลกระทบหรือความประสงค์ประเด็นอื่นให้หน่วยงานรับฟังได้เช่นเดียวกัน เพราะกฎหมายแต่ละฉบับกว่าจะบังคับใช้มีผลสมบูรณ์รอบด้านก็ต้องใช้เวลาเป็นปีถึงสองปี เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
เมื่อถามว่าหากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีการบังคับใช้ในวันที่ 23 ม.ค.2568 หลังจากนั้นจะต้องมองเรื่องสถิติคดีหย่าร้างที่จะตามมา เพื่อประเมินผลอย่างไรหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ทุกครั้งที่กฎหมายมีการบังคับใช้ เราก็ต้องมีการศึกษาผลของการบังคับใช้ด้วย ซึ่งหน่วยงานก็จะต้องมีการจัดทำ รวบรวมสถิติต่าง ๆ ไว้ประกอบการติดตามประเมินผลต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการรายงานตัวผ่านจอภาพด้วยระบบ Webex Meeting พบว่านอกจากผู้ถูกคุมความประพฤติ เจ้าหน้าที่คุมประพฤติ อยู่ในจอภาพด้วยแล้ว ก็ยังมีผู้พิพากษาศาล ร่วมสังเกตการณ์การรายงานตัวของผู้ถูกคุมความประพฤติด้วย ยกตัวอย่างเช่น รายนายกิตติชัย (ขอสงวนนามสกุล) ฐานความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการรายงานตัวผ่านจอภาพ ว่า ปกติถ้าต้องเดินทางไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ยังสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ ตนจะต้องใช้เวลานานถึง 2 ชม. แต่โครงการรายงานตัวผ่านจอภาพ ทำให้ตนสามารถใช้พื้นที่ของศาลจังหวัดฮอด (เชียงใหม่) ในการรายงานตัว โดยใช้เวลาเดินทางจากบ้านมายังศาลจังหวัดฮอด เพียง 30 นาที ถือว่าเป็นการลดอุปสรรคเรื่องการเดินทางลงไปได้พอสมควร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี