ฝนถล่มดอยสุเทพน้ำป่าทะลักท่วม
เชียงใหม่อ่วมซ้ำ
‘สุโขทัย’พนังกั้นแตกอีก3จุด
เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำเพิม
เตือนพื้นที่ท้ายเขื่อนสั่งรับมือ
อุตุฯชี้ฝนตกหนักทั่วไทย40จว.
เชียงใหม่อ่วมซ้ำ ฝนถล่มทำน้ำป่าบน“ดอยสุเทพ” ไหลทะลักท่วมพื้นที่ต่ำม.เชียงใหม่ หลายจุดยังมีน้ำท่วมขังเป็นวันที่ 3 ส่วน จ.ลำปาง น้ำวังเพิ่มสูง2 เขื่อนใหญ่ พร่องน้ำต่อเนื่อง สุโขทัย พนังกั้นน้ำแตกหน 2 บ้านเรือน 30 หลังขนของหนีน้ำวุ่น กรมชลฯเพิ่มระบายน้ำ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ เตือนพื้นที่ท้ายเขื่อนฯเตรียมรับมือน้ำสูงขึ้น นนทบุรีแจ้งปชช.-ทุกหน่วย งานรับน้ำเพิ่ม กรมอุตุฯเผยทั่วไทยยังมีฝนหนัก40 จังหวัด พื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลท่วมฉบับพลัง
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำปิงเอ่อล้น ท่วมเมืองเชียงใหม่ เข้าสู่วันที่ 3 ว่าแม้ระดับน้ำปิงจะเริ่มลดลงต่อเนื่อง แต่ยังเกินจุดวิกฤติ และหลายพื้นที่ยังคงประสบกับภาวะน้ำท่วมขังขยายวงกว้าง ทั้งถนนช้างคลาน เชียงใหม่แลนด์ บ้านป่าพร้าวนอก ถนนประชาสัมพันธ์ น้ำยังคงหลากเข้าท่วม เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้รถสัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก บางจุดยังผ่านไม่ได้ ส่วนมวลน้ำได้เคลื่อนไปทางตอนใต้ ทำให้ชุมชนใน อ.สารภี เริ่มมีน้ำท่วมสูงในหลายจุด
เชียงใหม่หลายจุดยังท่วมหนัก
นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้มวลน้ำจากเชียงดาวลดลง ส่วนน้ำที่ล้นจากอาคารระบายน้ำล้นเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มาสมทบ ผ่านจุด P75 เข้ามาที่ อ.แม่แตง อยู่ที่ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/ วินาที อยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ ระดับน้ำภาพรวมค่อนข้างทรงตัวและลดลงอย่างช้าๆ ขณะที่จุด P1 สะพานนวรัฐ หลังจากน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งอยู่ที่ 4.19 เมตร ในช่วงเช้า แต่น้ำกลับขยับขึ้นมาที่ 4.23 เมตร ภายหลังมีฝนตกหนัก ทำให้หลายจุดยังมีน้ำท่วม แต่หากระดับน้ำในแม่น้ำปิง ต่ำกว่าตลิ่ง ทางชลประทานจะระดมสูบน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมทันที ทั้งนี้ คาดการณ์ว่ามีปริมาณน้ำที่ท่วมขังอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่ ทั้งหมดประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม.ใช้เวลาสูบน้ำออกทั้งหมดภายใน 2 วัน โดยจะเริ่มจากพื้นที่โซน 2 และโซน 1 บางส่วนก่อน เนื่องจากอยู่ใกล้ตลิ่งริมน้ำปิง
ชลประทานแจ้งแม่น้ำปิงวิกฤต
ด้านนายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 1 ออกประกาศ ฉบับที่ 12 / 2567 เรื่อง แจ้งสถานการณ์ระดับน้ำวิกฤติแม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แจ้งว่าสถานการณ์น้ำตอนเหนือมีแนวโน้มทรงตัว ทำให้สถานี P.1 เช้านี้วัดระดับน้ำได้ 4.22 เมตร (สูงกว่าว่าระดับตลิ่ง 0.52 เมตร) ปริมาณน้ำ 496.00 ลบ.ม./วินาที ยังอยู่ในระดับวิกฤติ แต่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
พื้นที่ดอยอินทนนท์ท่วมหนที่3
ขณะเดียวกัน ที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ หลังจากมีฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผบให้เกิดน้ำป่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำแม่หอยและลำน้ำแม่กลาง เอ่อท่วมเส้นทางขึ้นดอยอินทนนท์ ก่อนถึงแยกน้ำตกแม่กลาง เส้นทางหลวงหมายเลข 1009 ถนนสายจอมทอง-ดอยอินทนนท์ รวมทั้งชุมชนแม่กลาง บ้านลุ่ม หมู่ 4 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง นับเป็นรอบที่ 3 ของปี และสถานการณ์ระดับน้ำแม่กลาง ยังเพิ่มสูงขึ้น ชาวบ้านต่างพากันยกข้าวของขึ้นที่สูง และเฝ้าติดตามระดับน้ำอย่างใกล้ชิด
น้ำดอยสุเทพท่วมถนนหลายจุด
สำหรับที่ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ภายหลังฝนตกติดต่อกันนานกว่า 2 ชั่วโมง น้ำป่าได้ทะลักจนเกิดดินสไลด์ ต้นไม้หักโค่นขวางเส้นทางหลายจุด และมวลน้ำก้อนใหญ่ ได้ไหลบ่าลงสู่พื้นที่ด้านล่าง คือบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโซนช่างเคี่ยน ทำให้ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประกาศปิดเส้นทาง เนื่องจากรถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ทั้งที่บริเวณวงเวียนไปรษณีย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่วนเส้นทางสันอ่างแก้ว มุ่งหน้ากาดฝายหิน และวงเวียนหอนาฬิกา ยังสามารถสัญจรได้ และขอให้นักศึกษา รวมถึงบุคลากรของมหาวิทยาลัย ขนย้ายยานพาหนะขึ้นที่สูง และหลีกเลี่ยงใช้เส้นทางดังกล่าวเพื่อความปลอดภัย
เสี่ยงเกิดดินสไลด์ปิดทับเส้นทาง
นอกจากนี้มวลน้ำที่ไหลหลากจากดอยสุเทพ ยังเข้าท่วมพื้นที่วัดผาลาด และถนนสุเทพ ไปจนถึงแยกตลาดต้นพยอม ก่อนจะไหลลงสู่คลองชลประทาน ไปทางสันป่าตอง ทำให้การสัญจรเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่วนเส้นทางขึ้นดอยสุเทพ มีความเสี่ยงเกิดดินสไลด์ จึงมีการแจ้งเตือนให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง
2เขื่อนใหญ่ลำปางระบายน้ำเพิ่ม
ที่ จ.ลำปาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา จ.ลำปาง รายงานสถานการณ์น้ำว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง และขนาดกลาง 1 แห่ง ได้แก่ 1.เขื่อนกิ่วลม ความจุ 106.22 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำเก็บกัก 97.796 ล้าน ลบ.ม.( 92.07 %) ใช้การได้ 93.796 ล้าน ลบ.ม.น้ำไหลเข้า 32.971 ล้าน ลบ.ม.ระบายน้ำ 34.218 ล้าน ลบ.ม. 2.เขื่อนกิ่วคอหมา ความจุ 170.29 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำเก็บกัก 182.079 ล้าน ลบ.ม.( 106.92 %) ใช้การได้ 176.079 ล้าน ลบ.ม.น้ำไหลเข้า 10.599 ล้าน ลบ.ม.ระบายน้ำ 15.899 ล้าน ลบ.ม.
3.อ่างเก็บน้ำแม่ฟ้า ความจุ 19.920 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำเก็บกัก 18.011 ล้าน ลบ.ม.( 90.41 %) ใช้การได้ 17.311 ล้าน ลบ.ม.น้ำไหลเข้า 0.296 ล้าน ลบ.ม.ระบายน้ำ 0.003 ล้าน ลบ.ม.
ชาวบ้านแห่ทำแนวกั้นป้องกันน้ำ
สถานการณ์ปัจจุบันปริมาณน้ำท่ายังไหลงลงเขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนกิ่วลม ทำให้ระดับน้ำในเขื่อนสูงขึ้นจึงต้องพร่องน้ำออกจากเขื่อน ทำให้สถานการณ์บริเวณลุ่มน้ำวังท้ายเขื่อนทั้งสองแห่ง ลงสู่น้ำวังเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำวัง ทำให้เขตเทศบาลนครลำปาง ริมสองฝั่งแม่น้ำวังมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น จุดฝายพับได้หรือเขื่อนยางเดิม ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในระดับสีแดง บริเวณสะพานแขวนเกือบท่วมตัวสะพาน ประชาชนต้องนำกระสอบทรายมากั้นเป็นแนวยาวเพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้าบ้านเรือน
สุโขทัยพนังแตกทะลักท่วมอ่วม
ส่วนที่ จ.สุโขทัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนังกั้นน้ำในพื้นที่หมู่ 6 ต.ท่าทอง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เกิดแตกเสียหายเป็นครั้งที่ 2 ส่งผลให้น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านประชาชนกว่า 30 หลังคาเรือน หนึ่งในนั้นคือบ้านของ น.ส.ปลาย ปทุม อายุ 54 ปี ซึ่งมีผู้ป่วยสูงอายุ ป่วยติดเตียง ทางกำนัน ต.ท่าทอง ต้องเจรจาให้รีบอพยพออกจากบ้าน แต่ผู้ป่วยไม่ยอมออกมาเพราะเป็นห่วงบ้าน จนที่สุดต้องเจรจาพักใหญ่ จึงยินยอมให้ช่วยออกจากบ้าน และพาไปอาศัยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราววัดท่าทอง
พบพนังพัง3จุด-อ่างฯเก็บน้ำปริ่ม
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.สุโขทัย รายงานสถานการณ์อุทกภัย อ.สวรรคโลก ว่าแม่น้ำยมใน ต.ท่าทอง น้ำเพิ่มสูงขึ้นล้นพนังตลอดแนวริมน้ำ และมีพนังพังเสียหายหลายจุดได้แก่ หมู่ 6 รวม 2 จุด หมู่ 7 อีก 1 จุด ได้อพยพประชาชนบริเวณจุดวิกฤตไปยังศูนย์พักพิงวัดท่าทอง ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างฯ ส่วนใหญ่มีน้ำกักเก็บ 80-90% เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยแม่สูง ความจุอ่าง 12.45 ล้าน ลบ.ม.เก็บกักน้ำ 95.22% อ่างเก็บน้ำห้วยท่าแพ ความจุอ่าง 58 ล้านลบ.เก็บกักแล้ว 85% และบางแห่งเต็ม 100% แล้ว เช่น โครงการแก้มลิงวังทองแดง ความจุอ่าง 10 ล้าน ลบ.ม.
เขื่อนเจ้าพระยาปรับระบายน้ำ
ด้านกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ว่าสถานี C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,930 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 3.07 เมตร ส่วนสถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,699 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำท้ายเขื่อน ต่ำกว่าตลิ่ง 2.82 เมตร ปัจจุบันมีฝนตกพื้นที่ตอนบนต่อเนื่อง จึงทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ริมน้ำทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ทั้งคลองโผงเผง จ.อ่างทอง , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา , ต.หัวเวียง อ.เสนา , ต.ลาดชิด , ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น
ระบายน้ำอยู่ที่1,800ลบ.ม./วินาที
นายวัชระ ไกรสัย ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า เขื่อนเจ้าพระยาจะทยอยเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนแบบขั้นบันได จากอัตรา1,699 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อน ตั้งแต่ จ.ชัยนาท จนถึง จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำสูงขึ้นจากเดิม 30 เซนติเมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ เฝ้าระวังระดับน้ำที่สูงขึ้น
ชี้น้ำทะเลหนุน28ก.ย.-2ต.ค.นี้
ขณะที่กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ คาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 28 กันยายน–2 ตุลาคม 2567 จะเกิดสถานการณ์น้ำทะเลหนุนอีกครั้ง อาจส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ใน จ.สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และ กทม.มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังระดับน้ำ
กรุงเก่าระดมกั้นกระสอบทราย
ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษาวิชาทหาร กว่า 100 นาย ได้ช่วยกันนำดินบรรจุกระสอบทราย ขนใส่รถบรรทุก เพื่อลำเลียงไปใช้เป็นแนวป้องกันน้ำท่วมจุดที่เป็นแนวฟันหลอ หน้าวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ระยะทางกว่า 800 เมตร โดยจุดนี้เป็นจุดเสี่ยงที่มักเกิดน้ำท่วม จึงมีการสร้างแนวป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าท่วมบริเวณเกาะเมือง อ.พระนครศรีอยุธยา
ผู้ว่าฯสิงห์บุรีสั่งรับมือน้ำเพิ่มสูง
ส่วนที่ จ.สิงห์บุรี นายทรงวิทย์ เหลืองอ่อน ผอ.โครงการชลประทานสิงห์บุรี แจ้งเตือนประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยนอกคันกั้นน้ำ ให้ยกทรัพย์สินมีค่าขึ้นที่สูง และให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หลังจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพิ่มอัตราการระบายน้ำท้ายเขื่อน อยู่ที่ 1,699 ลบ.ม./วินาที และเตรียมปรับอัตราการระบายน้ำเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได แต่ไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที รองรับน้ำจากภาคเหนือ นอกจากนี้ยังมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ไหลเข้ามาที่เขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ
พ่อเมืองนนทบุรีสั่งขนของหนีน้ำ
ด้านนายอภิชัย อร่ามศรี รอง ผวจ.นนทบุรี ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง โดยมีชุมชน 30 แห่ง เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและอยู่นอกคันกั้นน้ำ อาจมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ จึงขอให้ประชาชนเร่งขนของขึ้นที่สูง เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ
อุตุฯชี้ทั่วไทยยังคงมีฝนตกหนัก
วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศว่า ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
อันดามัน-อ่าวไทยคลื่นสูง2เมตร
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย มีกำลังอ่อน ทำให้ทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ภาคกลาง-กทม.มีฝนร้อยละ60
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ส่วน กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ทั้ง2ฝั่งฝนชุกตกร้อยละ60
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส และภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.กระบี่ ตรัง และสตูล
มท.จ่ายเยียวยาน้ำท่วมเชียงราย
อีกด้านหนึ่ง น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบมหายให้ดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม วงเงิน 3,042.52 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้กำชับให้ใช้กลไกทุกส่วนของกระทรวงมหาดไทย ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเร็วที่สุด โดยนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้โอนเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ชุดแรก ในพื้นที่ จ.เชียงราย ผ่านบัญชีธนาคารออมสิน รวม 3,623 ครัวเรือน แยกเป็นครัวเรือนใน อ.เมือง จ.เชียงราย 3,305 ครัวเรือน อ.แม่สาย 222 ครัวเรือน และ อ.ขุนตาล 96 ครัวเรือน ส่วนการโอนเงินช่วยเหลือผ่านบัญชีธนาคารต่างๆ จะทยอยโอนเงินให้ต่อไป
ทยอยจ่ายให้ครบใน57จังหวัด
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือตามมติ ครม.จะจ่ายให้ครัวเรือนซึ่งประสบอุทกภัยตั้งแต่ 20 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา ในพื้นที่ 57 จังหวัด ซึ่งนอกจากพื้นที่ซึ่งเสียหายมากอย่าง จ.เชียงราย แล้ว นายอนุทิน ได้ให้นโยบายผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ที่ประชาชนอยู่ในเกณฑ์ต้องได้รับเงินช่วยเหลือ ต้องกำกับในการสำรวจความเสียหายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี