เปิดภาพมุมสูง"บางระกำโมเดล"เริ่มรับน้ำเต็มๆ มีน้ำอยู่ในทุ่งแล้ว 440 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มกระทบกับประชาชนในพื้นที่ท่วมบ้าน และเส้นทางสัญจรในพื้นที่ต่ำ ขณะที่ชาวบ้านใช้วิกฤตเป็นโอกาส ทำอาชีพเสริมออกหาปลา มีรายได้ประมาณวันละ 90-100 บาท
วันที่ 30 กันยายน 2567 สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก อยู่ในโซนทุ่งบางระกำโมเดล กำลังได้รับผลกระทบจากน้ำที่ท่วมในลุ่มน้ำยม ไหลหลากลงมาในแม่น้ำยมสายเก่าและแม่น้ำยมสายหลัก พื้นที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม บ้านแม่ระหัน ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก และอำเภอบางระกำจังหวัดพิษณุโลก และขณะนี้น้ำเต็มทุ่งบางระกำโมเดล 100% แล้ว ปริมาตรกักเก็บน้ำในทุ่งวันนี้อยู่ที่ 440 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของความจุเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ( เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีความจุ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร ) ขณะที่ระดับน้ำยังคงเพิ่มต่อเนื่อง เพราะยังมีน้ำจากต้นทางที่จังหวัดแพร่ และสุโขทัยกำลังเดินทางมาเพิ่มเติมอีก
นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก กล่าวว่า แม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลผ่าน อ.บางระกำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น และต้องเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำ แม่น้ำยม ที่จะส่งผลให้ระดับน้ำและปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และต้องเฝ้าระวังฝนที่ตกเพิ่มโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 30 ก.ย.-3 ต.ค.67 ในส่วนแม่น้ำยมสายเก่าที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม อ.เมือง ลงมา อ.บางระกำ ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการระบายน้ำพื้นที่ตอนบนเพิ่มขึ้น สำหรับพื้นทุ่งหน่วงน้ำตามโครงการบางระกำ เพื่อรองรับน้ำหลาก หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว มีปริมาณน้ำที่รับเข้าทุ่งหน่วงน้ำเกินศักยภาพแล้ว 440 ล้าน ลบ.ม(110%) แม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลผ่าน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น (ที่สถานีวัดน้ำ Y.64 ปริมาณน้ำไหลผ่าน 621 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำสูง 8.23 ม. (สูงกว่าตลิ่ง + 1.83 เมตร/ และสูงกว่าระดับวิกฤติ เขตชุมชน +0.93 เมตร) ระดับน้ำเพิ่มจากเมื่อวาน 8 ซม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม่น้ำยมสายเก่า ที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม และ อ.บางระกำ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 240 ลบ.ม/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ -0.20 เมตร/ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
“ โครงการบางระกำโมเดล ” พื้นที่รองรับน้ำหลากหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตในเขตชลประทาน(ฝั่งซ้ายแม่น้ำยม)เก็บเกี่ยวแล้ว 100 % และปัจจุบันรับน้ำเข้าทุ่งหน่วงน้ำ ปริมาณน้ำที่รับเข้าพื้นที่ 201,599 ไร่ (76%) ปริมาณน้ำ 440 ล้าน ลบ.ม (110%)”
ขณะที่วันนี้ ผู้สื่อข่าว ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในเขตอำเภอบางระกำ ระดับน้ำที่เคยท่วมทุ่งอยู่แล้วเมื่อเดือนก่อน ได้เพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ คลองบางแก้ว ตำบลท่านางงาม และคลองวังแร่ ตำบลชุมแสงสงครามอำเภอบางระกำ ระดับน้ำล้นตลิ่งไหลท่วมทุ่งนาและที่บ้านเรือนราษฎรในที่ต่ำประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่างเก็บทรัพย์สินของมีค่าและสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูง โดยเฉพาะถนนสายหลักในหมู่บ้าน ขณะที่การสัญจรไปมาจำนวนมากได้ใช้เรือ และได้ออกหาปลาเป็นอาชีพเสริม มีรายได้วันละหลักร้อยบาทขึ้นไป
ส่วนที่ถนนสาย บ้านกรุงกรัก-บางบ้า เส้นทางสัญจรเชื่อมระหว่างตำบลท่านางงาม และตำบลชุมแสงสงครามอำเภอบางระกำ ขณะนี้น้ำที่ท่วมทุ่งได้เริ่มไหลท่วมผิวการจราจรแล้ว ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สูงอยู่ที่ 30 -40 เซนติเมตร รถเล็กเริ่มสัญจรผ่านไม่ได้ ขณะที่รถกระบะในวันนี้ยังสัญจรผ่านได้แต่คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่กำลังเดินทางมา ในอีก 3-4 วันข้างหน้ารถยนต์กระบะ จะไม่สามารถสัญจรผ่านได้
ขณะที่ บริเวณ ประตูระบายน้ำบางแก้ว ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ ที่รับน้ำมาจากแม่น้ำยมสายเก่านั้นระดับน้ำได้ไหลล้นทางระบายน้ำล้น ระดับน้ำวันนี้อยู่ที่ 41 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดเมื่อปี 54 ร่วม 2 เมตร และจะเป็นระดับที่ชลประทานจะควบคุมไม่ให้สูงไว้มากไปกว่านี้ เนื่องจากถ้าสูงเกิน 42 เมตร จะกระทบกับเส้นทางสัญจรภายในหมู่บ้าน เช่นเดียวกับประตูระบายน้ำท่านางงาม ตำบลท่านางงาม ที่รับน้ำจากแม่น้ำยมสายหลัก วันนี้ได้ยกบานประตูลอย เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทิศใต้ต่อไป
นายทิว เขาแก้ว อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 184/1 ม.3 ตำบลชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ได้บอกว่าระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำน่าจะพอๆกับปี 2566 แต่ไม่น่าจะเท่ากับปี 2554 พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำของโครงการบางระกำโมเดล เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก็ได้เริ่มหน่วงน้ำเข้าพื้นที่ตอนนี้น้ำเข้าพื้นที่ทุ่งบางระกำเต็มทุ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้ล้นจนเกิดวิกฤติ แต่มีพื้นที่ต่ำที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นขึ้นมา คนในพื้นที่เองก็รู้อยู่แล้ว เขาเตรียมตัวไว้อยู่แล้วว่าต้องใช้พื้นที่ตรงนี้รับน้ำโครงการบางระกำโมเดล รู้ว่าต้องหน่วงน้ำเก็บน้ำไว้ก่อนช่วยๆ กันไป
"ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่มองว่าการที่เราได้เสียสละเป็นพื้นที่หน่วงน้ำไว้มันก็ดีอย่าง เราก็ได้ช่วยคนอื่นด้วย และเราก็ได้เก็บน้ำไว้ด้วย สามารถหาปูหาปลา เป็นรายได้เสริมได้ เวลาน้ำไปหมด เราก็ยังมีน้ำเหลือไว้ทำนาในครั้งต่อไป เพราะพื้นที่ตรงนี้จะทำนาได้แค่ ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น เอาง่ายๆ คือหลังเดือนสิงหาคมไปแล้วเราก็จะไม่ทำนากันแล้วเหมือนหันมาเตรียมตัวหาปูหาปลากัน จนไปถึงช่วงเดือนธันวาคม ฝนแรกมา เราถึงจะลงมือทำนากันอีกครั้ง"นายมทิว กล่าว
ด้าน นายประดิษฐ์ สุดสันต์ อาย 44 ปี 187 ม.3 บ้านวังแร่ ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ เปิดเผยว่า ช่วงน้ำท่วมทุ่ง พวกตนได้ประกอบอาชีพเสริมออกหาปลา โดยใช้เรือไปออกวางข่ายในช่วงค่ำและเก็บกู้ปลามาในช่วงเช้า จากนั้นก็นำปลามาขอดเกล็ดควักไส้ในออก และคลุกเคล้ามากับเกลือ นำไปขายส่งได้กิโลกรัมละ 20 บาทเพื่อแปรรูปเป็นปลาร้าช่วงนี้น้ำเหนือกำลังมาใหม่ๆ น้ำจะขุ่นแดง และปลาที่ติดขายนั้นจะตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากน้ำขุ่นปลาที่หามาได้จริงค่อนข้างจะสภาพไม่สด จึงต้องขายเป็นปลาร้าได้อย่างเดียว มีรายได้ประมาณวันละ 90-100 กว่าบาท
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี