ผู้ว่าฯ “ชัชชาติ” แถลงจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยใหม่! ย้ำไม่เพิ่ม ต้องลดลง ทบทวนจุดตามเกณฑ์ใหม่ ใช้มาตรการภาษีคัดผู้ค้า ต้องคนลำบากจริง แจงไทม์ไลน์ประกาศจุดใหม่ มิ.ย.2568
วันที่ 3 ต.ค.2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงเรื่องการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย หลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) โดยกล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ออกระเบียบเรื่องหาบเร่-แผงลอยใหม่ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือสถานสาธารณะ โดยหลักการจะไม่เพิ่มพื้นที่ทำการค้า แต่จะทบทวนจุดผ่อนผันที่มีอยู่เดิมว่าตรงตามระเบียบ และมีความเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่ตรงไม่เหมาะสมก็ยกเลิก ถ้าจุดไหนเหมาะสมก็จะมาเข้าเกณฑ์พิจารณา นโยบายเราไม่ต้องการให้จำนวนเพิ่ม พยายามหาที่ให้ไปอยู่และออกจากทางเท้าไป โดยขั้นตอนจะมีคณะกรรมการฯพิจารณาในการจัดระเบียบ มีมาตรการควบคุม มีกำหนดระยะเวลาในการอนุญาตจุดทำการค้า 1-2 ปี รวมถึงมีข้อปฏิบัติหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่กำหนดทั้งด้านความสะอาดและสิ่งแวดล้อมภาพรวมเชื่อว่าจะเป็นมาตรการที่จะทำให้คุณภาพร้านค้าดีขึ้นคุณภาพชีวิตคนทำหาบเร่-แผงลอยดีขึ้น และอนาคตบ้านเมืองจะเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น
“เรื่องหาบเร่-แผงลอยคือการเอาที่สาธารณะมาทำมาหากิน มีสืบเนื่องมานานเป็นวิถีชีวิตส่วนหนึ่ง ภาพหลักเราเชื่อว่าอนาคตหาบเร่-แผงลอยต้องน้อยลง สุดท้ายต้องเข้าไปอยู่ในที่ๆ ไม่ใช่ที่สาธารณะ ที่เราจัดเตรียมไว้ให้กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้อยู่ได้อย่างมั่นคง ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องมาโดนไล่ หนีเทศกิจ และไม่มากีดขวางทางเท้า ต้องจัดระเบียบเรียบร้อยให้อยู่เป็นที่เป็นทาง เหมือนโมเดลที่สิงคโปร์ ที่มี Hawker Centerอยู่ทั่วเมือง ซึ่งต้องใช้เวลาจากนี้ไปอาจจะ 5 ปี ส่วนกระบวนการ จากนี้ถึง 31 ธ.ค.2567 จะประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจ และพิจารณาจุดผ่อนผันเดิมที่มีอยู่ และกลั่นกรองว่าจุดไหนจะยกเลิก ม.ค.-มี.ค.2568 และจะเริ่มแผงลอยใหม่ มิ.ย.2568 กระบวนการก็เดินหน้าไป แต่ก็ต้องจัดระเบียบต่อเนื่อง ไม่มีทางจะเลอะเทอะ ต้องดีขึ้นไปเรื่อยๆ” นายชัชชาติ กล่าว
ส่วนประเด็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำการค้าและผู้ช่วยจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือสถานสาธารณะ ต้องเป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี โดยอ้างอิงจากเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายการประกอบธุรกิจตามหลักฐานการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น
นายชัชชาติกล่าวว่า “เป็นส่วนประกอบการพิจารณา เราอยากได้คนที่มาเป็นผู้มีรายได้ไม่เยอะจริงๆ เพราะเคยมีเคสจุดที่ยกเลิกไป ผู้ค้าขายก๋วยเตี๋ยว เราให้ออกไปเอาเงินสดไปเซ้งร้าน 1.5 ล้าน เป็นคนที่ไม่ได้ลำบากจริงอยู่นอกพื้นที่สาธารณะได้ คนที่จะมาเราอยากให้เป็นคนที่ลำบากจริงๆ และอยู่ชั่วคราว ก็ต้องมีมาตรการมีหลักฐานที่ต้องเอาเรื่องภาษีเพราะมีคนมาช่วยตรวจรายได้ และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องยื่นภาษีอยู่แล้ว รายได้น้อยก็ไม่ต้องจ่ายภาษีแต่ก็ต้องยื่น ผมเชื่อว่าหากทุกคนเข้าสู่ระบบภาษีได้ชีวิตจะดีขึ้นด้วย อนาคตรัฐบาลอาจมีนโยบายจ่ายภาษีคืนผู้มีรายได้น้อย มาตรการนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับรัฐบาลด้วยและคิดว่ายุติธรรมกับทุกคน จากฟีดแบ๊กคนก็ชอบประเด็นนี้และจะมีแค่คนไทยจะไม่ให้คนต่างด้าวมาขายตรงนี้”
ทั้งนี้ ขั้นตอนการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ตามหลักเกณฑ์ฯใหม่ จากนี้-31 ธ.ค.2567 ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจ หลักเกณฑ์ผู้ค้าในพื้นที่ จุดผ่อนผันเดิม 68 จุด นอกพื้นที่ผ่อนผัน 381 จุด จากนั้น 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2568 คณะกรรมการพิจารณาคัดกรองจุดผ่อนผันและผู้ค้า 3 ระดับ ระดับเขต, ระดับสำนักเทศกิจ, ระดับผู้ตรวจราชการ กทม. และในเดือน มิ.ย. 2568 เป็นต้นไป ประกาศผลการพิจารณารายจุด และยกเลิกจุดผ่อนผัน หรือประกาศจุดผ่อนผันใหม่ โดยจุดที่ผ่านการประเมิน
จะให้ดำเนินการตามขั้นตอนการกำหนดเป็นพื้นที่ทำการค้า และจุดที่ไม่ผ่านการประเมิน จะต้องบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยอาจให้เวลาเตรียมการ 3 เดือน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี