น้ำปิงไหลทะลักท่วมขยายวงกว้าง
เชียงใหม่จมบาดาล
สถานีรถไฟ-ย่านศก.ไม่รอด
ระดับสูง1เมตร/รออพยพอื้อ
เตือน11จว.ท้าย‘เจ้าพระยา’
ระวังท่วม-เขื่อนระบายเพิ่ม
ปภ.สรุปสถานการณ์น้ำท่วม 20 จังหวัดยังอ่วม เดือดร้อน 3.4 หมื่นครัวเรือน ตายแล้ว 49 ศพ ศปช.เตือน 11 จังหวัดเตรียมรับมือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำเป็น 2.2 พันลบ.ม./วินาทีหลังน้ำเหนือไหลบ่าลงมาทำให้น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล้นตลิ่งท่วมบ้านปชช.ต.ธรรมามูล อ.เมืองชัยนาทนับร้อยครัวเรือนจม ส่วนอ่างทองท่วมแล้ว 3 อภ. 300 ครัวเรือนเดือดร้อน ขณะที่เชียงใหม่ยังวิกฤติสถานีรถไฟมวลน้ำสูงถึงเอว แม่น้ำปิงยังทรงตัว ย่านศก.กลางเมืองท่วมขังสูงกว่า 60 ซม.
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงแผนการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ จะคงการระบายน้ำที่ 2,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นท้ายเขื่อนฯ 11 จังหวัด
ศปช.เตือน11จว.รับมือน้ำท่วม
ดังนั้น ขอประกาศเตือนประชาชนในจ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัดได้แก่ คลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย และพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำบริเวณ จ.ชัยนาท อ.สรรพยา และวัดสิงห์ (ตำบลโพนางดำตก) , อ.เมืองสิงห์บุรี พรหมบุรี และอินทร์บุรี (วัดสิงห์ วัดเสือข้าม) จ.สิงห์บุรี , อ.ป่าโมกและไชโย (วัดไชโย) จ.อ่างทอง , อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล ผักไห่ (ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง) และเสนา (ตำบลหัวเวียง) จ.พระนครศรีอยุธยา , อ.เมืองปทุมธานีและสามโคก จ.ปทุมธานี , อ.ปากเกร็ด (ตำบลท่าอิฐ) อ.เมืองนนทบุรี (ต.ไทรม้าและบางไผ่) จ.นนทบุรี ซึ่งได้ประสานทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าแล้ว ขอให้ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือแจ้งได้ที่สายด่วน 1567 ตลอด 24 ชม.
8.4หมื่นครัวยื่นขอรับเงินเยียวยา
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ประสบอุทกภัยที่ลงทะเบียนผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ข้อมูลล่าสุด (4 ตุลาคม) มีผู้ยื่นคำร้องขอรับเงิน รวม 84,224 ครัวเรือน และได้นำส่งข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบและยืนยันจากจังหวัดให้ธนาคารออมสินแล้ว 5 ครั้ง รวม 10,978 ครัวเรือน เป็นเงิน 54,944,000 บาท และ ธนาคารออมสิน ได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ประสบภัยสำเร็จแล้ว 4 ครั้ง รวม 8,787 ครัวเรือนเป็นเงิน 43,987,000 บาท โดยจะโอนเงินช่วยผู้ประสบภัยครั้งที่ 5 ภายในวันที่ 8 ตุลาคม
20จว.ยังท่วม-3.4หมื่นครัวเดือดร้อน
ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปสถานการณ์น้ำท่วมระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม-6 ตุลาคมว่า เกิดสถานการณ์น้ำท่วมใน 42 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี กาฬสินธุ์ หนองคาย นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 260 อำเภอ 1,109 ตำบล 5,847 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 207,851 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 49 ราย และบาดเจ็บรวม 28 คน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม อุบลราชธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 76 อำเภอ 337 ตำบล 1,561 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 34,373 ครัวเรือน ดังนี้
เหนือ9จว.ระดับน้ำเริ่มลด
ภาคเหนือ 9 จังหวัด 34 อำเภอ 119 ตำบล 544 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,625 ครัวเรือน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย นครสวรรค์ ระดับน้ำลดลง ส่วนจ.พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมใน 7 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.เมืองฯ อ.บางกระทุ่ม อ.วังทอง อ.นครไทย และอ.วัดโบสถ์ รวม 27 ตำบล 104 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,749 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
อีสาน7จว.น้ำลด-อุบลฯน้ำเพิ่มขึ้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด 23 อำเภอ 83 ตำบล 351 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,077 ครัวเรือน ได้แก่ อุดรธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ และ อ.สร้างคอม ระดับน้ำลดลง กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม ระดับน้ำทรงตัว ขณะที่จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ ระดับน้ำลด ลง จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
อ่างทอง-กรุงเก่าระดับน้ำเพิ่ม
ภาคกลาง 4 จังหวัด 19 อำเภอ 135 ตำบล 666 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,671 ครัวเรือน สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ระดับน้ำทรงตัว อ่างทอง เกิดน้ำท่วมใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.วิเศษชัยชาญ อ.ไชโย และ อ.เมืองฯ รวม 10 ตำบล 32 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 463 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ จ.
พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมใน 7 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน อ.บางไทร และ อ.บางปะหัน รวม 96 ตำบล 543 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,548 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาสูงต่อเนื่อง
เพจกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำสะแกกรัง ที่ไหลไปรวมกันที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง วันเดียวกันนี้ (6 ตุลาคม) น้ำมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,575 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 194 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูงขึ้นจาก 51 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 17.31 เมตร (ระดับทะเลปานกลาง) ทำให้น้ำล้นตลิ่งหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตรนอกคันกั้นน้ำ บริเวณหมู่ 4, หมู่ 7 ต.ธรรมามูล อ.เมืองชัยนาท บ้านเรือนอย่างน้อย 30 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม สวนกล้วยน้ำว้า ไร่ข้าวโพด ถูกน้ำท่วมสูง 20-50 เซนติเมตร และน้ำท่วมยังขยายวงกว้างต่อเนื่อง
เพิ่มระบายน้ำเป็น2.2พันลบ.ม./วินาที
ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง เมื่อเวลา 06.00 น.วันเดียวกันนี้ ระบายน้ำท้ายเขื่อนอยู่ในอัตรา 2,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 151 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา สูงขึ้นจากเมื่อวาน 47 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 14.97 เมตร (ระดับทะเลปานกลาง) และเมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน เพจกรมชลประทานประกาศแจ้งเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
พื้นที่นอกคันกั้นน้ำ6จว.เตรียมรับน้ำเหนือ
เพจสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา วันที่ 6 ตุลาคม 2567 ข้อมูลจนถึงเวลา 12.00 น.ปริมาณน้ำไหลผ่าน C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 2,383 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท 2,199 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้น +152 ลบ.ม./วินาที จาก 5 ต.ค.67 เวลา 18.00 น. (2,047 ลบ.ม./วินาที) จะส่งผลกระทบในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองโผงเผง คลองบางบาล แม่น้ำน้อย และพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณ จ.ชัยนาท อ.สรรพยา และ วัดสิงห์ (ต.โพนางดำตก) จ.สิงห์บุรี อ.เมือง พรหมบุรี และ อินทร์บุรี (วัดสิงห์ วัดเสือข้าม) จ.อ่างทอง อ.ป่าโมก และ อ.ไชโย (วัดไชโย) จ. พระนครศรีอยุธยา อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล ผักไห่ (ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง) และ เสนา (ต.หัวเวียง ) จ.ปทุมธานี อ.เมือง (ต.บางปรก บ้านฉาง บางหลวง บางเดื่อ บางคูวัด บ้านใหม่ บ้านกลาง บ้านกระแชง บางกะดี และบางขะแยง) และ สามโคก (ต.เชียงรากใหญ่ บ้านงิ้ว บ้านปทุม และเชียงรากน้อย) จ.นนทบุรี อ.ปากเกร็ด (ต.ท่าอิฐ ) เมืองฯ (ต.ไทรม้า) และ เมืองฯ (ต.บางไผ่)
คันกั้นน้ำพังชุมชนเมืองชัยนาทร้อยครัวจม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยายังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับกรมชลประทาน ทางสถานีวัดน้ำ C2 ค่ายจิรประวัติ เมืองนครสวรรค์ เพิ่มสูง 2,383 ลบ.ม./วินาที ไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา จึงต้องปรับเพิ่มอัตราระบายน้ำผ่านด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 2,199 ลบ.ม./วินาที และจะปรับการระบายในเย็นวันเดียวกันนี้เป็น 2,250 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝนน้ำท่า และลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ล่าสุดที่ ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท พื้นที่ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มวลน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ ม.4 ต.ธรรมามูล เนื่องจากคันดินกั้นน้ำพังทลาย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำเครื่องจักร เครื่องมือ กระสอบทรายเข้าไปอุดได้ ส่งผลให้ชุมชนที่อยู่อาศัย และพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วม ชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบ
น.ส.พรธนวรรณ ทองคำ นายกเทศมนตรีตำบลธรรมามูล เผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ น้ำเริ่มไหลเข้าท่วมในพื้นที่ ม.4 ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 5 ตุลาคม และระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยก่อนหน้าเทศบาลประกาศแจ้งเตือนให้ชาวบ้านขนของไว้ที่สูง เบื้องต้นมีบ้านเรือนของชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม ต้องอพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่บนถนน เทศบาลได้กางเต็นท์ เดินกระแสไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน นอกจากนี้ ทางเทศบาลนำรถแบ็คโฮ ลงพื้นที่เสริมสร้างคันดินตามจุดเสี่ยงในตำบล เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ขยายวงกว้าง
น้ำเจ้าพระยาผ่านอ่างทองเฉียดจุดวิกฤติ
ส่วนที่ จ.อ่างทอง ระดับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงต่อเนื่องใกล้แตะจุดวิกฤติ ที่วัดสนามชัย ต.ตลาดหลวง อ.เมือง จ.อ่างทอง เหลือเพียง 10 เซนติเมตรเท่านั้น ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านพื้นที่เศรษฐกิจอ่างทองก็จะแตะจุดวิกฤติที่ 8 เมตร ซึ่งจุดนี้เป็นจุดต่ำสุดของพื้นที่และเป็นจุดเสี่ยงสำคัญของพื้นที่ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาดอ่างทอง โดยเทศบาลเมืองอ่างทองได้นำแท่งแบริเออร์มาปิดจุดเสี่ยง และเตรียมกระสอบทรายตั้งคันกั้นน้ำเสริมด้านหลังแล้ว เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดอ่างทองแจ้งเตือนประชาชนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ จะทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 0.60-0.80 เมตร ตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์เป็นต้นไป ทั้งนี้ จ.อ่างทองมีน้ำท่วมแล้ว 3 อำเภอคือ ต.จำปาหล่อ อ.เมือง ต.โผงเผง อ.ป่าโมก และต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ บ้านเรือนได้รับผลกระทบแล้วกว่า 300 หลังคาเรือน
เชียงใหม่ยังอ่วม-สถานีรถไฟท่วมถึงเอว
ด้านสถานการณ์อุทกภัยในจ.เชียงใหม่ยังวิกฤติ ปริมาณน้ำท่วมขยายวงกว้าง ประชาชนที่เดือดร้อนรอความช่วยเหลืออีกจำนวนมาก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ระดับน้ำยังท่วมสูงเกือบระดับเอว ทรงตัวที่ 5.28 เมตร และด้วยความเร็วและน้ำไหลเชี่ยว ทำให้พนังกั้นน้ำ และกระสอบทรายที่เทศบาลนครเชียงใหม่ตั้งเป็นคันกั้นน้ำไว้ตลอดแนวแม่น้ำปิงตั้งแต่พนังที่ตำรวจภูธรภาค 5 ย่านเชียงใหม่แลนด์ และบริเวณตลาดวโรรส หรือกาดหลวง ทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมผิวถนน ร้านค้า บ้านเรือนประชาชนแบบวงกว้างในจุดที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วมมาก่อน
ตลาดวโรรสน้ำสูง60ซม.คาด3วันลด
ที่ตลาดวโรรส หรือกาดหลวง อ.เมืองเชียงใหม่ หลังท่วมนาน 24 ชั่วโมง ระดับน้ำสูงเกือบ 60เซนติเมตร ร้านค้าขายของไม่ได้ แม้จะกั้นกระสอบทรายไว้หน้าร้านแล้ว แต่น้ำทะลักผ่านท่อระบายน้ำหลังบ้านเข้าท่วมสินค้าข้าวของเสียหายนับแสนบาท แม้ระดับน้ำในลำน้ำปิงที่ไหลผ่านเมืองเชียงใหม่ จะเริ่มลดระดับลงมาบ้างแล้ว แต่ยังคงสูงเกือบ 5 เมตร ทำให้หลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมสูง เจ้าหน้าที่ต้องเร่งอพยพผู้คนที่ติดค้างในพื้นที่น้ำท่วมทั่วเมือง คาดระดับน้ำในลำน้ำปิงจะค่อยๆ ลดลงช้าๆ เฉลี่ยชั่วโมงละ 4 เซนติเมตร คาดว่าจะใช้เวลา 3 วัน น้ำที่ท่วมจึงจะกลับลงลำน้ำได้หมด
น้ำปิงยังสูงเร่งอพยพปชช.600หลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานระดับน้ำปิงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ เริ่มลดลง หลังขึ้นสูงสุดถึง 5.30 เมตร แต่หลายชุมชนและย่านการค้ายังมีน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะพื้นที่ตอนใต้ของเมือง น้ำยังเพิ่มสูง เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องเร่งอพยพประชาชนหลายร้อยครอบครัวเป็นการด่วน เช่น ชาวบ้านในหมู่บ้านแสงเพชรและล้านนาวิลเลจ ในหมู่บ้านร้องเรือคำ ในตำบลป่าแดดมากกว่า 6 ร้อยหลังต้องเร่งขนข้าวของรวมทั้งสัตว์เลี้ยงเดินฝ่าน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตรออกมาจากบ้าน หลังน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก เพราะส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียวไม่สามารถอยู่อาศัยได้แล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากปลวกแดงระยอง เข้ามาช่วยอพยพคุณยาย น้องซันและน้องแซน หลานชายฝาแฝด โดยเฉพาะน้องซันที่เป็นเด็กพิเศษและป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ออกจากบ้าน เพราะน้ำท่วมสูงถึงหน้าอกแล้ว
ย่านศก.เชียงใหม่จม-คนติดค้างอื้อ
เช่นเดียวกับหลายชุมชนและย่านการค้าในตัวเมืองเชียงใหม่ น้ำยังท่วมเป็นวงกว้างง บางจุดน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร รวมทั้งตลาดวโรรส หรือกาดหลวง เชื่อมไปถึงถนนช้างม่อย ตลาดดอกไม้และตลาดต้นลำไย ยังถูกน้ำท่วมขังเต็มพื้นที่ แม้น้ำเริ่มลดลงจากเดิม แต่ร้านค้าส่วนมากยังมีน้ำท่วมขังสูง 40-50 เซนติเมตร
มีรายงานข่าวว่า ระดับแม่น้ำปิงยังล้นตลิ่งท่วมในรัศมี 3 กิโลเมตรทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของเมือง ถนนเจริญประเทศ ถนนช้างคลานมีน้ำท่วมสูงสภาพไม่ต่างจากคลอง แม้ระดับน้ำในลำน้ำปิงที่ไหลผ่านเมืองเชียงใหม่จะเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่ยังสูงเกือบ 5 เมตร หลายพื้นที่น้ำท่วมสูง เจ้าหน้าที่ต้องเร่งอพยพผู้คนที่ติดค้างในพื้นที่น้ำท่วมทั่วเมือง
น้ำเหนือสมทบน้ำน่านเอ่อท่วมพิจิตร
นายสุรพล เตียวตระกูล นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพิจิตรเผยว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำน่าน บริเวณจุดระบายน้ำหน้าศาลเก่า เขตเทศบาลเมืองพิจิตร ขณะนี้น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากมวลน้ำจากภาคเหนือตอนบนไหลบ่าลงมาตามแม่น้ำน่านอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมวลน้ำป่าจากลำคลองสาขาด้านเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลสมทบลงแม่น้ำน่านต่อเนื่อง โดยวันนี้สถานีวัดระดับน้ำสะพานร่วมใจเทศบาลเมืองพิจิตรวัดได้ 09.70 เมตร ระดับตลิ่ง 09.87 เมตร อัตราการไหลอยู่ที่ 944.30 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์วิกฤต เหลืออีกไม่กี่เซนติเมตรจะล้นแนวตลิ่งพนังกั้นน้ำของเทศบาลเมืองพิจิตร อีกทั้ง มวลน้ำน่านสูงกว่าท่อระบายน้ำของเทศบาล และไหลย้อนท่อเข้ามาในเขตชุมชนและย่านเศรษฐกิจเมืองพิจิตร เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองพิจิตรนำกระสอบทรายอุดท่อระบายน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 8 เครื่อง คอยสูบน้ำจากท่อระบายน้ำย่านชุมชนออกตลอดเวลา ป้องกันน้ำท่วมเขตทศบาลเมืองพิจิตรชั้นใน เพื่อความไม่ประมาท
ผบ.ทบ.สั่งยกระดับติดตามเหตุน้ำท่วม
ที่กองบัญชาการกองทัพบก รายงานข่าวเปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงเริ่มมีรายงานสถานการณ์อุกทกภัยในภาคกลาง พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งการให้ยกระดับการติดตามสถานการณ์อุทกภัยผ่านกลไกของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบกและศูนย์ประสานงานโครงการจิตอาสากองทัพบก เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่เริ่มขยายวงกว้าง โดยมอบให้พล.ท.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ เจ้ากรมยุทธการทหารบก (จก.ยก.) เป็นประธานประชุมศูนย์ติดตามสถานการณ์บรรเทาภัยพิบัติกองทัพบก ร่วมกับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกผ่านระบบออนไลน์ และสั่งการให้หน่วยทหารทั่วประเทศเตรียมจัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าสนับสนุนหน่วยทหารในพื้นที่ประสบอุทกภัย เมื่อได้รับการร้องขอ รวมถึงบูรณาการช่วยเหลือของกำลังพลจิตอาสา ผ่านกลไกศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาสาพระราชทานในทุกระดับ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด
อีสานเริ่มเย็น-ตอนบนฝนน้อย
เวลา 17.00น.กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นในตอนเช้า ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี