ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวถึงภาพรวมของการประเมินสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งทำการประเมินในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 2567 เสร็จสิ้นแล้ว โดยสามารถประเมินคุณภาพภายนอกและรับรองผลให้แก่สถานศึกษาในระดับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) จำนวน 2,055 แห่ง และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3,020 แห่ง สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ ประเภทโรงเรียนนานาชาติ 20 แห่ง และด้านการอาชีวศึกษา จำนวน 44 แห่งรวมทั้งสิ้น 5,139 แห่ง ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 20% โดยผลการประเมินในภาพรวมน่าพอใจ มีสถานศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานกว่า 90%
“สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สมศ. ยังคงยึดหลักการประเมินคุณภาพภายนอกตามนโยบาย “ลดภาระ เรียนดี มีความสุข” และมุ่งเน้น 3 ประเด็นหลักเช่นเดิม คือ 1.การประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) ไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสินว่าผ่าน หรือ ไม่ผ่าน แต่เน้นสะท้อนภาพความเป็นจริง พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่สอดคล้องตามบริบทของสถานศึกษา 2.มุ่งลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดการใช้เอกสาร และงดพิธีการต้อนรับต่างๆ และ 3.นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อน รวมถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมิน” ดร.นันทา กล่าวและว่า สำหรับในปี 2568 สมศ.ตั้งเป้าจะประเมินสถานศึกษาจำนวน 15,000 แห่ง เพิ่มมากกว่าเดิม 3 เท่า เยอะที่สุดเท่าที่มีสมศ.มา เพราะปัจจุบัน สมศ.ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประเมินสถานศึกษา และผู้ประเมินจะต้องผ่านการฝึกทักษะด้าน Digital literacy โดยไปเรียนครอสออนไลน์กับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ แล้วมาทดสอบกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จากนั้น สมศ.จึงจะขอผลผู้ที่ผ่านการประเมินจาก 2 หน่วยงานมาเป็นผู้ประเมินสถานศึกษา ซึ่งในปี 2568 มีผู้ที่ผ่านการทดสอบจาก 2 สถาบันและพร้อมที่จะลงพื้นที่ประเมินโรงเรียนแล้วประมาณ 4,000 กว่าคน ซึ่งเพียงพอในการประเมินโรงเรียน 15,139 แห่งแน่นอน และยังได้มีการสำรองผู้ประเมินเผื่อไว้อีก 15% ด้วย
“สำหลักเกณฑ์การประเมินสถานศึกษาใหม่นี้ค่อนข้างทันสมัยทั้งเรื่องการเรียนรู้ของผู้เรียน การนำแนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ SLC - School as Learning Community มาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้ห้องเรียนไม่ใช่มีครูเป็นพระเอก นางเอก แต่ห้องเรียนของเราถือว่า
ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน ครูและเด็กต้องเคารพซึ่งกันและกัน มองว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดได้ทั้งเด็กและคุณครู”
นอกจากนี้ ในการประเมิน สมศ. เน้นเรื่องความเสี่ยงและความปลอดภัยในสถานศึกษา เพราะเราเจอปัญหาเรื่องความปลอดภัยทั้งของเด็กและคุณครู เด็กเสียชีวิตค่อนข้างเยอะในสถานศึกษา และการบูลลี่เด็กในโรงเรียน สมศ.จึงให้โรงเรียนมีมาตรการเกี่ยวกับความเสี่ยง ความปลอดภัย มีการประเมินความเสี่ยง ดูว่าโรงเรียนมีการบริหารจัดการความเสี่ยงตามโปรเจกท์ของความเสี่ยง และเน้นว่าคุณครู และผู้บริหารโรงเรียนจะต้องมีความรู้เรื่องความเสี่ยงและความปลอดภัย ดังนั้น การพัฒนาครูรอบนี้เราไม่สนใจว่าครูจะได้รับการพัฒนากี่ชั่วโมง แต่เราสนใจเปอร์เซ็นต์ของคุณครูและผู้บริหารที่จะผ่านครอสในเรื่องของการบริหารจัดการศึกษาเรื่องของความเสี่ยง และความปลอดภัย เราเน้น 3ครอสนี้มาก
“เช่น หากเกิดเหตุกราดยิงตามห้างสรรพสินค้า หรือในห้องเรียน จะดูว่าโรงเรียนจะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแล้วเด็กจะต้องทำอย่างไร ครูจะต้องทำยังไง ผู้ปกครองจะทำอย่างไร ซึ่งในเรื่องความปลอดภัย เราก็เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ปกครอง ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการต่างๆ รวมไปถึงมาตรการในการดูแลเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ หรือโรคระบาดต่างๆ ด้วย ว่าโรงเรียนจะมีวิธีการควบคุมดูแลอย่างไร ซึ่ง สมศ.มองว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างครอบคลุม ซึ่งสถานศึกษาอาจทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่เข้มข้น ดังนั้น สมศ.จึงเข้าไปดูตรงจุดนี้เพื่อทำให้สถานศึกษาดูแลเข้มข้นขึ้น และดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาคารสถานที่สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นของเด็ก ดูว่ามีความปลอดภัยเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงเมนูอาหารกลางวันของเด็ก และคุณภาพของน้ำมีการตรวจคุณภาพหรือไม่ และดูว่ามีการประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้องต่อการบริหารจัดการของสถานศึกษา และความพึ่งพอใจในเรื่องของหลักสูตร จะต้องมีการพัฒนาทุกๆ ปี จึงมีการประเมินการใช้หลักสูตรด้วย” ดร.นันทา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี