ปภ.สรุปยอดดับสะสม 52 ศพ สังเวยน้ำท่วมทั่วไทย กระทบกว่า 6 หมื่นครัวเรือน ยังท่วมหนัก 19 จว.กรมชลฯระดมเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำเมืองลำพูนลงแม่น้ำปิง คาด 1 สัปดาห์กลับสู่ภาวะปกติ ด้านศปช.เผยตัวเมืองเชียงใหม่แนวโน้มดีขึ้น น้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ แต่ทิ้งความเสียหายเป็นวงกว้างยกเว้นท้ายน้ำที่ยังท่วมขัง เริ่มเน่า ส่วนลุ่มเจ้าพระยาบริหารจัดการน้ำเข้ม มุ่งลดผลกระทบจากน้ำทะเลหนุน ขณะที่นายกฯแถลงหลังเอง ครม.เคาะเยียวยาหลังละ 9,000 บาท ขอชาวลำปาง-ลำพูน สบายใจ น้ำลงจากเชียงใหม่ท่วมไม่เยอะ ย้ำ’กทม.ไม่ซ้ำรอยปี54 มท.จ่าย 1 หมื่น สมทบค่าล้างโคลน-ดินให้ผู้ประสบภัยนํ้าท่วม จ่ายได้ทันที
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานสรุปภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม-8 ตุลาคมว่า เกิดสถานการณ์น้ำท่วมใน 44 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี กาฬสินธุ์ หนองคาย นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ปทุมธานี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง สตูล และสงขลา รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 268 อำเภอ 1,162 ตำบล 6,012 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 241,482 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 52 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 28 คน
19จว.ยังจม-เดือดร้อน6.6หมื่นครัว
สำหรับปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม และสงขลา รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 65 อำเภอ 325 ตำบล 1,556 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 66,202ครัวเรือน ทั้งนี้ ในส่วนภาคเหนือรวม 8 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 5 จังหวัด ภาคกลาง รวม 5 จังหวัด ภาคใต้ รวม 1 จังหวัด
เร่งระบายน้ำท่วมเมืองลำพูนลงปิง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมชลประทานว่า กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำเมืองลำพูน ลงสู่แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิงตามลำดับ พร้อมระดมเครื่องสูบน้ำติดตั้งตามจุดต่างๆ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ หวังลดผลกระทบประชาชนให้ได้มากที่สุด ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมเมืองลำพูน หลังปริมาณน้ำจากแม่น้ำปิงเอ่อล้นไหลไปตามเส้นทางต้นยาง-เลียบรางรถไฟจาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เข้าพื้นที่จ.ลำพูน ส่งผลให้ต.อุโมงค์ ต.หนองช้างคืน ต.ประตูป่า และ ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน มีน้ำท่วมขัง บางจุดสูงมากกว่า 1 เมตร สำนักงานชลประทานที่ 1 โดยโครงการชลประทานลำพูนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เข้าไปติดตั้งตามประตูระบายน้ำ (ปตร.)ในตัวเมืองลำพูน อาทิ ปตร.ปิงห่าง ปตร.ร่องกาศ ปตร.ปลายเหมือง ฝายชลขันธ์พินิจ (แม่ปิงเก่า) และ ปตร.ล้องพระปวน พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ ปตร.สบทาเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงแม่น้ำปิงให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยทั้งในจ.เชียงใหม่และ จ.ลำพูน
คาด1สัปดาห์กลับสู่ภาวะปกติ
ส่วนปริมาณน้ำที่เข้ามาในจ.ลำพูน เป็นปริมาณน้ำระดับสูงสุดแล้ว จากนี้ระดับน้ำจะเริ่มทรงตัว คาดว่าอีก 1-2 วัน ระดับน้ำจะค่อยๆลดลง โดยระดับน้ำในแม่น้ำปิงแนวโน้มลดระดับลงต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักและไม่มีน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลลงมาเพิ่ม คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ สถานการณ์ภาพรวมจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ สำหรับแม่น้ำกวงในเขตจังหวัดลำพูน แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่รับน้ำ แต่เป็นพื้นที่ให้น้ำไหลผ่านลงแม่น้ำปิง จะรักษาระดับน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งขณะนี้จ.ลำพูนมีเครื่องสูบน้ำจากทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมเร่งระบายน้ำให้ไหลลงแม่น้ำปิงเร็วที่สุด
ครม.เคาะเยียวยาหลังละ9พัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติ หลักเกณฑ์การเยียวยาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ โดยเปลี่ยนเป็นการช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายอัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินเดิมตามมติครม.วันที่ 17 กันยายน 2567 วงเงิน 3,045 ล้านบาท และวันเดียวกันนี้ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทยรายงานเรื่องของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนหน้าว่า จ.เชียงราย เชียงใหม่ ตอนนี้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่วางกรอบไทม์ไลน์การปฏิบัติงานตามหน้าที่รับผิดชอบ ทุกหน่วยงานได้รายงานผลว่า ทุกอย่างที่ลงไปในพื้นที่จะเสร็จตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงในพื้นที่อ.แม่สาย
ลำปาง-ลำพูนสบายใจไม่ท่วมมาก
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องน้ำจากจ.เชียงใหม่ ที่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มลดลงแล้ว รวมทั้งจากจ.เชียงราย ภายใน 4-5 วันนี้คิดว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ โดยที่จ.ลำปางและลำพูน น้ำจากจ.เชียงใหม่จะลงไป แต่ก็ไม่ได้ท่วมมาก เพราะน้ำเคลื่อนตัวไปลงที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และแม่น้ำโขงด้วย ฉะนั้น เราได้ส่งกำลังไปดูแล เตรียมพร้อมไว้แล้วขอให้ชาวลำปางและลำพูนสบายใจ มีทีมงานไปคอยช่วยเหลือแล้ว
ยันกทม.ไม่ซ้ำรอยปี54แน่
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร นายกฯกล่าวว่า อย่างที่ตนเคยแจ้งไปครั้งที่แล้ว น้ำจะไม่ท่วมรุนแรง เหมือนปี 2554 แน่นอน ตอนนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังรับน้ำได้อีกมาก ซึ่งเมื่อปี 2554 เหลือพื้นที่แค่ 1,000 กว่าลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้เหลือ 6,000 กว่า ฉะนั้นยังไม่ต้องกังวล เรามีการวางแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบแล้ว ได้คุยกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)รวมถึงในพื้นที่ท้ายเขื่อนด้วย การปล่อยน้ำจะพยายามไม่ให้กระทบกับประชาชน ซึ่งเรามอนิเตอร์เรื่องนี้ตลอด และต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมืออุปกรณ์ อาหาร ยานพาหนะต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในภาคเหนือ ซึ่งพร้อมหมด หลังจากนี้ตนจะนัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) เพื่อติดตามความคืบหน้า แล้ววางแผนป้องกันเหตุการณ์ลักษณะนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระบบ ซึ่งจะมีระยะเร่งด่วนและระยะยาวด้วย โดยวันที่ 15 ตุลาคม หลังกลับจากลาว จะวางเรื่องของคณะกรรมการและคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาเรื่องการวางระบบน้ำทั้งระบบของทั้งประเทศ
เมื่อถามว่า กรณีบ้านเรือนที่เสียหายจากโคลน นอกจากการเยียวยาเหมาจ่ายแล้ว จะมีเยียวยากรณีพิเศษเพิ่มเติมหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า กรณีที่หนักจริงๆแล้วเราช่วยอะไรเพิ่มเติมได้จริงๆมีกรอบที่เคยขยายไปแล้ว ซึ่งมหาดไทยเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดจะช่วยดูในพื้นที่ เรื่องการช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายครัวเรือนละ 9,000 บาท ตอนนี้หลายครัวเรือนจ่ายไปแล้ว 5,000 บาท จะทยอยจ่ายต่อเนื่อง โดยจะพิสูจน์ว่าเป็นผู้ประสบภัยหรือไม่
มท.จ่าย1หมื่นสมทบล้างดินโคลน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วันนี้กระทรวงเสนอค่าล้างโคลนและดิน สำหรับผู้ที่ประสบอุทกภัย หลังคาเรือนละ 1 หมื่นบาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)รับทราบ ซึ่ง ครม.ไม่ต้องอนุมัติ เพราะเป็นเรื่องที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ขอความเห็นชอบจากกรมบัญชีกลางแล้ว ซึ่งอธิบดีกรมบัญชีกลางเห็นชอบ โดยจะจ่ายให้กับบ้านที่ภาครัฐไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ หลังจากนี้ ปภ.จะไปสำรวจการล้างโคลนและดินในจ.เชียงราย ซึ่งในส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเงินเยียวยา ครัวเรือนละ 9 พันบาท ที่ครม.อนุมัติ ทั้งนี้ ต้องไปสำรวจบ้านที่เข้าไปทําความสะอาดเอง หรือจ้างทำ เพื่อคำนวณค่าใช้จ่าย สามารถเริ่มได้เลย เพราะเราจะใช้เงินทดรองผู้ประสบภัย ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด และจะไม่มีใครตกหล่น เพราะเราทำเป็นรายอำเภอ จะประกาศให้รับทราบ แต่หากตกหล่น เจ้าตัวสามารถมาทวงสิทธิได้
มท.4ยันเยียวยา9,000จ่ายได้ทันที
น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงมติครม.กรณีอนุมัติเงินเยียวยา 9,000 บาทโดยไม่มีหลักเกณฑ์สำหรับผู้ประสบอุทกภัยว่า จ่ายได้เลยทันที เพราะอนุมัติแล้ว เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดของประชาชนทั้งส่วนที่ได้รับไปแล้ว 5,000 บาท จะได้รับเพิ่มให้ครบเป็น 9,000 บาท คาดว่าจำนวนครอบครัวเพิ่มเติมอีกพอสมควร อยู่ระหว่างสำรวจ จึงไม่สามารถบอกตัวเลขที่ชัดเจนได้ ยืนยันว่า อยู่ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ถ้าไม่พออาจมีการขอเพิ่มเติม ประชาชนไม่ต้องกลัวว่าจะได้ช้า จะพยายามทำให้ครอบคลุมทุกบ้าน
เมืองเชียงใหม่น้ำลดเกือบทุกพื้นที่
ขณะที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม หรือศปช.และศปช.ส่วนหน้า จังหวัดเชียงรายเผยว่า กรมชลประทานรายงานสถานการณ์แม่น้ำปิงในอ.เมืองเชียงใหม่ ที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.22 ม.ต่ำกว่าตลิ่ง 48 เซนติเมตรและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สำหรับน้ำที่เข้าท่วมเขตตัวเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ปัจจุบันน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่แล้ว มีพื้นที่ลุ่มต่ำที่น้ำท่วมขังเพียงบางแห่ง
สารภี-ลำพูนเข้าภาวะปกติใน7วัน
สำหรับมวลน้ำที่ล้นตลิ่งแม่น้ำปิงที่ไหลต่อเนื่องเข้าสู่อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ระดับน้ำเฉลี่ย 10-30 ซม.บริเวณลึกสุดประมาณ 1 เมตร มีพื้นที่ท่วม 74 หมู่บ้าน 12 ตำบล ขณะนี้เตรียมเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือ 74 เครื่อง โดยเริ่มเดินเครื่องแล้วบางส่วน ขณะที่อ.เมือง จ.ลำพูน ระดับน้ำเริ่มคงที่ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 15-30 ซม. โดยจุดที่ลึกที่สุด 60 ซม. ปัจจุบันใช้เครื่องสูบน้ำ 15 เครื่อง เร่งระบายสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง โดยทั้งสองจุดคาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วัน
“ขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำปิงที่ไหลผ่าน จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน เริ่มคงที่และค่อยลดระดับลง สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การสูบน้ำท่วมขังลงสู่ลำน้ำปิง เพื่อเร่งระบายน้ำลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งขณะนี้ยังมีศักยภาพรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก” นายจิรายุ กล่าว
เมืองเชียงใหม่น้ำลด-เริ่มเน่า
ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในอ.เมืองเชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำลดเกือบทุกพื้นที่แล้ว แต่ทิ้งความเสียหายเป็นวงกว้าง บ้านเรือนอาคารห้างร้านค้ามีคราบน้ำ ดินโคลนเต็มพื้นที่ ชาวบ้านเร่งทำความสะอาด นำสิ่งของที่ถูกน้ำท่วมออกมาทิ้ง รวมทั้งถนนช้างคลานที่เป็นย่านเศรษฐกิจและเป็นที่ตั้งของโรงแรมหลายแห่ง ถนนตลอดสายเต็มไปด้วยฝุ่นจากดินโคลนหลังน้ำลด รถทุกชนิดสัญจรได้อย่างปกติแล้ว ชาวบ้านเริ่มเก็บกระสอบทราย เพื่อฟื้นฟูให้บ้านเมืองกลับสู่สภาพเดิมเร็วที่สุด
สารภียังจมน้ำสูงเกือบเมตร
สำหรับพื้นที่ท้ายน้ำอย่างอ.สารภี น้ำยังท่วมเต็มพื้นที่ หลายชุมชนในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำยังท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ชาวบ้านต้องอยู่กับน้ำเน่าและน้ำท่วมมาครึ่งเดือนแล้ว อย่างชุมชนหนองแฝก หมู่ 5 ซอย 10 ต.หนองแฝก อ.สารภี ชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำ ท้ายน้ำของจ.เชียงใหม่ น้ำยังท่วมสูงเกือบ 70 เซนติเมตร ชาวบ้านต้องเปิดเครื่องสูบน้ำสูบน้ำออกตลอด 24 ชั่วโมง หลังน้ำท่วมจากตัวเมืองเชียงใหม่ไหลมาสมทบ
พิจิตรน้ำยมล้นท่วม4,393หลัง
นายสุภโชค ศิลปะคุณ นายอำเภอสามง่าม นำคณะ ลงพื้นที่แจกสิ่งของและช่วยเหลือผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่บ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำยมของ ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ก่อนจะเปิดเผยว่า ในพื้นที่ 3 ตำบล ของ อ.สามง่าม ประกอบด้วย ต.กำแพงดิน ต.สามง่าม ต.รังนก น้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรที่มีวิถีชีวิตอยู่ริมแม่น้ำยมแล้ว 4,393 หลังคาเรือน นอกจากนี้ ถนนเส้นทางสามง่าม-กำแพงดิน ฝั่งตะวันตกน้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งท่วมข้ามถนน แต่รถยังสัญจรไปมาได้ อาจต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ว่าวันนี้ปริมาณน้ำจะมีเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าปริมาณน้ำสูงและไหลแรงอาจต้องประกาศงดใช้เส้นทางจุดที่น้ำท่วมสูง คือ ที่หมู่ 9 บ้านกระทุ่มน้ำเดือด ต.สามง่าม
น้ำยมผ่านพิจิตรเข้าจุดวิกฤติ
นายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร ให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำในแม่น้ำยม-แม่น้ำน่าน ที่ไหลผ่าน จ.พิจิตร ว่า สถานการณ์ของแม่น้ำยมเรียกได้ว่าอยู่ในจุดวิกฤต การวัดระดับที่จุดวัดน้ำ Y17 พบว่าระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง 50 ซม. ซึ่งจุดดังกล่าวอยู่ที่สะพานข้ามแม่น้ำยมหน้าที่ว่าการอำเภอสามง่าม ซึ่งเป็นที่สูง ส่วนที่ลุ่มต่ำจึงเกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ส่วนปริมาณน้ำจาก จ.สุโขทัย ที่ไหลเข้าบางระกำโมเดลก็รับน้ำไว้กว่า 500 ล้าน ล.บม. ทำให้ต้องผันน้ำลงสู่แม่น้ำยมสายหลักที่ไหลมา อ.สามง่าม อยู่ในขณะนี้ ส่วนแม่น้ำน่านระดับน้ำยังบริหารจัดการได้ จึงยังไม่เกิดน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจและย่านชุมชนของเทศบาลเมืองพิจิตร เทศบาลเมืองตะพานหิน เทศบาลบางมูลนาก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี