9 ตุลาคม 2567 นายธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามประเมินสภาพอากาศ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงประสบอุทกภัยและดินโคลนถล่มเพิ่มเติม และสำรวจข้อมูลความเสียหาย ทั้งต่อบ้านเรือนและระบบสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหาย พร้อมเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังและดินโคลนถล่มอย่างต่อเนื่อง โดยระดมเครื่องมือเครื่องจักรเข้าดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ในการนี้ ทาง ศปช. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน (ศปช. ส่วนหน้า) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมอบหมาย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะทำงาน ในการอำนวยการ วางแผน ติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และบูรณาการหน่วยงาน ทุกภาคส่วนในพื้นที่ประสบภัย พร้อมกันนี้ ได้สั่งการเร่งให้ความช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน โดยได้เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม ในอัตราครัวเรือนละ 9,000 บาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม นำไปซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับ ความเสียหาย และสั่งกำชับหน่วยงานให้ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้แล้วเสร็จภายใน 31 ตุลาคม 2567
นอกจากนี้ยังมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวดังนี้
1. มอบหมายกระทรวงกลาโหมเจรจาและพิจารณาขุดลอกลำน้ำสายและสร้างกำแพงป้องกันน้ำในบริเวณพื้นที่
2.มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำรวจพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม โดยเร่งปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำ
3.พิจารณาศึกษาแนวทางกรณีมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัยออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
4. มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เร่งช่วยเหลือและสำรวจพื้นที่ความเสียหาย และจะได้จัดทำแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป เช่น ขุดลอกลำน้ำปิง ปรับปรุงสะพานเดิมที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ
5. มอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว เช่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำ
6. มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ
7. มอบหมายกระทรวงคมนาคม พิจารณาจุดที่มีสะพานข้ามแม่น้ำทุกจุดที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ
8. มอบหมายคณะทำงาน ศปช. ติดตามสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกคั้นกันน้ำในจังหวัดชัยนาท อยุธยาอ่างทอง และสิงห์บุรี รวมถึงพื้นที่ภาตใต้ที่ขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน
9. มอบหมายกรมทรัพยากรธรณีประสานกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทตรวจสอบถนนที่มีความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสดินสไลด์ ให้แจ้งเตือนหรือหาวิธีปรับปรุง
นายธิติวัฐ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “รัฐบาลยังได้เล็งเห็นถึงการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยนายภูมิธรรมได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำ การสำรวจสิ่งกีดขวางทางน้ำ การเสริมแนวกำแพงป้องกันตลิ่งริมน้ำ และการขุดลอกลำน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนว่าพื้นที่ดังกล่าวจะต้องมีแผนการป้องกันในการรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี