สภาผู้บริโภค’ชี้ต้องให้ธนาคารร่วมชดใช้เหยื่อโจรออนไลน์ เป็นแรงกดดันลงทุนมาตรการป้องกันเพิ่มขึ้น
9 ต.ค. 2567 นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวในงานเวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 28 “Next levels to counter fraud & deepfake: What’s else should we act? ยกระดับรับมือมิจจี้ภัยการเงิน จากพลเมืองเท่าทันสู่นโยบายสาธารณะในยุคดีพเฟค” ที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ย่านพระราม 8 กรุงเทพฯ ในตอนหนึ่งว่า หนึ่งในปัญหาที่ยังคงอยู่ในมุมของสภาองค์กรของผู้บริโภค คือการเยียวยาความเสียหายของผู้บริโภคจากมิจฉาชีพออนไลน์ยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภค คิดบนปรัชญาที่ว่า หากผู้ให้บริการไม่ตื่นตัวในความรับผิดชอบมากกว่าที่เป็นอยู่ ในขณะที่ความเสียหายยังคงอยู่ในฝั่งของผู้บริโภค ผู้ให้บริการก็จะมองต้นทุนการลงทุนเพื่อป้องกันในรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักกฎหมายแพ่ง เมื่อเราฝากเงินที่ธนาคาร เงินนั้นย่อมเป็นทรัพย์สินของธนาคาร แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถูกเขียนทับด้วย พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่ระบุว่า เมื่อเจอเหตุอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประชาชนถือเป็นผู้เสียหาย ต้องไปแจ้งธนาคาร ไปแจ้งความกับตำรวจ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นภาระของประชาชน แม้กระทั่งเมื่อตำรวจจับกุมคนร้ายและยึดทรัพย์ได้ ก็ต้องนำทรัพย์นั้นมาเฉลี่ยเพื่อคืนผู้เสียหายที่มีอยู่จำนวนมากอีก ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเรียกร้องในทุกเวที ฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้กำหนดว่า ธนาคารต้องรับผิดชอบชดใช้เงินกับผู้เสียหาย ก็จะทำให้ธนาคารต้องลงทุนเพื่อยกระดับมาตรการป้องกันให้มากขึ้น
“มูลค่าความเสียหายที่ปัจจุบันประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านบาท ณ ปัจจุบันมันอยู่ทางฝั่งประชาชน ทีนี้ถ้าตัวเลขนี้ย้อนกลับไปที่ผู้ประกอบการธนาคารต่างๆ สิ่งที่ผมเป็นนายธนาคารต้องคิด ผมจะลงทุนเงินเท่าไรที่จะสร้างมาตรการ มันจะเกินการลงทุนอย่างขมีขมัน อย่างเข้มงวดและเต็มที่ แล้วก็จะเกิดความร่วมมือกับภาครัฐที่จะร้องขอให้เขาทำอะไรต่างๆ เพิ่มมากขึ้น” นายอิฐบูรณ์ กล่าว
รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวต่อไปว่า ในแผนงานปี 2568 สภาองค์กรของผู้บริโภค จะพยายามสร้างความร่วมมือกับแพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งจริงๆ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ก็มีแนวปฏิบัติ เช่น การที่ร้านค้าจะแสดงรูปภาพสินค้าต้องแสดงสัญลักษณ์การได้รับการรับรองทางกฎหมาย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.)
ซึ่งนี่จะเป็นแนวทางที่สภาองค์กรของผู้บริโภค จะไปขอความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม เช่น ช็อปปี้ ลาซาด้า ติ๊กต๊อก แต่ในส่วนของเฟซบุ๊ก ยังคงต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก ยังคงต้องให้ข่าวเตือนภัยประชาชนอยู่ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการแสวงหาสินค้าและบริการ เพราะสถิติจากหน่วยงานต่างๆ พบการปลอม เลียนแบบ หรือใช้เทคนิคต่างๆ ให้เกิดการหลอกลวง โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค กำลังเรียกร้องต่อเฟซบุ๊กขอให้มีความรับผิดชอบต่อกฎหมายไทยและคนไทยให้มากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี