‘สารภี’ยังท่วม-เร่งฟื้นฟูแม่สาย
‘พิจิตร’อ่วม!
‘สามง่าม-โพธิ์ประทับช้าง’หนัก
เขื่อนเจ้าพระยาลดระบายน้ำ
7จว.รับมือทะเลหนุน13ต.ค.
ปภ.เชียงใหม่สรุปท่วมรอบสองดับ 5 ศพ กว่า 2 หมื่นหมู่บ้านเดือดร้อนจังหวัดเร่งสำรวจจ่ายช่วยเหลือ “สารภี” ท่วมขังบางพื้นที่ น้ำปิงระดับปกติ ฟื้นฟูแม่สายคืบหน้า 50% ระดมอส.ทั่วประเทศ 1.5 พันนาย ช่วยขนดินโคลน ด้านอ.เมืองลำพูน รับน้ำต่อจากสารภียังท่วมขังวันที่ 4 ต.เหมืองง่า–อุโมงค์นับพันหลัง เดือดร้อนน้ำสูง 1.5 เมตร ด้านพิจิตร 12 อำเภอจม หนักสุด 2 อำเภอคือ “สามง่าม-โพธิ์ประทับช้าง” “เขื่อนเจ้าพระยา”ลดระบายน้ำเหลือ 2,150 ลบ.ม. รับน้ำทะเลหนุน 13 ต.ค. ส่งผลให้ระดับน้ำพื้นที่ท้ายเขื่อนลดลง 10-15 ซม.
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายดุสิต พงศาพิพัฒน์ รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่ สรุปสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก น้ำปิงเอ่อล้นตลิ่ง ในจ.เชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคมถึงปัจจุบันว่า จ.เชียงใหม่ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ 50 ตำบล 20,808 หมู่บ้าน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 12 อำเภอ อยู่ระหว่างสำรวจ และเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่วนอำเภอสารภี ยังมีน้ำท่วมขังบางพื้นที่คือ ยางเนิ้ง หนองผึ้ง สันทราย ท่าวังตาล หนองแฝก และไชยสถาน เร่งสูบน้ำผันออกจากพื้นที่ เพื่อให้กลับสู่สภาพปกติเร็วที่สุด ระดับน้ำปิงจุด P1 สะพานนวรัฐ อยู่ในระดับปกติ (ธงเขียว) ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตรวม 5ราย บาดเจ็บ 1 รายดังนี้ ที่อำเภอสะเมิง อ.สารภีเสียชีวิต 4 ราย
ด้านสถานการณ์น้ำท่วม จ.ลำพูน ที่รับน้ำต่อจาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ วันนี้เข้าสู่วันที่ 4 แล้ว ที่มวลน้ำก้อนใหญ่ ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำในจ.ลำพูน นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนสรุปสถานการณ์ล่าสุดว่า คลี่คลายแล้ว เหลือแต่พื้นที่อ.เมืองลำพูน ที่ยังเกิดสถานการณ์ขึ้นใน 7 ตำบล 43 หมู่บ้าน มากกว่า 1,000 หลังคาเรือน ที่ได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วม ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 40–60 เซนติเมตร โดยบริเวณสวนกาญจนาภิเษก ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงส่งผลกระทบกับบ้านเรือนประชาชนบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สำรวจพื้นที่ และวางแผนระบายน้ำจากลำเหมืองกลางลงสู่ลำน้ำปิงห่าง และแม่น้ำกวง โดยใช้เครื่องสูบน้ำของชลประทานเป็นหลัก รวมถึงได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำจากหลายพื้นที่มาช่วยเหลือรวม 50 เครื่อง เร่งสูบน้ำที่ท่วมขังออกให้ระดับน้ำลดลงโดยเร็ว ขณะที่เทศบาลตำบลเหมืองง่าประกาศย้ำเตือนให้บ้านเรือนในพื้นที่อื่นที่ยังไม่ท่วม อย่าชะล่าใจ เพราะน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น อาจขยายวงกว้างอีกได้ โดยพื้นที่บ้านหลุก ถือว่าประสบภัยหนักสุด มีบ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบแล้วเกือบร้อยหลัง
ด้านพื้นที่รับน้ำจุดแรกคือ ต.อุโมงค์ ถึงแม้ระดับน้ำจะลดลงไปกว่า 1 เมตรแล้ว แต่สร้างผลกระทบหนักต่อพื้นที่ 11 หมู่บ้าน ที่บ้านสันกับตอง บ้านไร่ บ้านป่าเห็ว และบ้านอุโมงค์ บ้านเรือนยังจมน้ำอยู่กว่า 400 หลัง เนื่องจากบ้านเรือนอยู่ในจุดลุ่มต่ำมาก เกิดน้ำท่วมขังสูง 1-1.30 เมตร มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่องในพื้นที่ เพื่อเร่งผลักดันน้ำออก ส่วนที่ต.หนองช้างคืน 4 หมู่บ้าน ยังได้รับความเดือดร้อนบ้านเรือนกว่า 500หลัง ถูกน้ำท่วมหนักพอกับพื้นที่ต.อุโมงค์ น้ำท่วมระดับสูง ที่บ้านหัวฝาย บ้านหนองช้างคืน ต้องเร่งระบายน้ำออกสู่ระบบส่งน้ำฝายแม่ปิงเก่าให้ได้มากที่สุด เพื่อลดการสะสมของน้ำในพื้นที่ ซึ่งในจุดนี้มีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ของ ปภ.และมีกำลังเครื่องผลักดันน้ำแรงดันสูงของ อบต.สมุทรปราการเข้ามาช่วย5เครื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการฟื้นฟูน้ำท่วมอ.แม่สาย จังหวัดเชียงรายว่า ทุกภาคส่วนยังเร่งดำเนินการต่อเนื่อง โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบางโฉลง ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ นำรถดูดโคลนเลน ตามท่อระบายในพื้นที่ชุมชนเกาะทราย เขตเทศบาลตำบลแม่สาย ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ชุมชน ที่ได้รับผลกระทบหนัก เพราะพื้นที่ติดลำน้ำสายและยังเป็นพื้นที่ที่ยังเหลือการฟื้นฟูมากที่สุด
ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนเกาะทรายหลายครอบครัว แม้น้ำท่วมจะผ่านไป 1 เดือนแล้ว ยังกลับเข้าไปทำความสะอาดหรือเข้าไปอาศัยอยู่ภายในบ้านตัวเองไม่ได้ เนื่องจากดินโคลนทับถมทางเข้าและถนนสูงกว่า 1 เมตร เครื่องจักรเข้าไปตักดินโคลนไม่ได้ ต้องใช้กำลังคนเท่านั้น จึงต้องอาศัยที่ศูนย์พักพิงของรัฐไปก่อน
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.ส่วนหน้า) พร้อมพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมและที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า ระดมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรทั้งสองกระทรวงเข้าช่วยตักดินโคลน และทำความสะอาดบ้านเรือนให้ชาวบ้านในชุมชนเกาะทราย ไม้ลุงขน เหมืองแดง และถ้ำผาจมต่อเนื่อง ให้คืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งสามารถพื้นฟูพื้นที่ได้แล้วกว่าร้อยละ 50 หลือที่หนักๆคือ ชุมชนเกาะทรายและชุมชนไม้ลุงขน ที่ยังมีดินโคลนทับถมอยู่มาก กระทรวงมหาดไทยระดมกำลัง อส.ทั่วประเทศกว่า 1,500 นาย กระทรวงกลาโหมระดมกำลังทหารจากทุกสังกัด พร้อมเครื่องจักรลงพื้นที่เต็มกำลังเช่นกัน
ที่จ.พิจิตร นายสายันห์ กวีวงค์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิจิตรเปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมในจ.พิจิตรได้รับผลกระทบ 12 อำเภอ แยกเป็นน้ำป่า 7 อำเภอประกอบด้วย อ.สากเหล็ก วังทรายพูน ทับคล้อ ดงเจริญ ตะพานหินและบางมูลนาก เมืองพิจิตร ส่วนลุ่มน้ำยมมี 5 อำเภอคือ สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง โพทะเล และวชิรบารมีบางส่วน โดยอำเภอที่หนักที่สุดเนื่องจากลุ่มน้ำยมยังมีปริมาณน้ำสูงขึ้นต่อเนื่องคือ อ.สามง่าม 3 ตำบล ได้แก่ ต.รังนก กำแพงดิน และต.รังนก 33 หมู่บ้านชาวบ้านเดือดร้อน 1491 หลังคาเรือน อ.โพธิ์ประทับช้าง 5 ตำบล 25 หมู่บ้าน 1600 หลังคาเรือน ขณะที่ สำนักงานชลประทานพิจิตรเตรียมความพร้อมลดผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่ โดยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ที่ฝายบ้านพญาวัง ตำบลท้ายน้ำ อำเภอโพทะเล 4 เครื่อง เครื่องสูบน้ำ 14 เครื่อง ให้การระบายน้ำแม่น้ำยมมีประสิทธิภาพ เเตรียมรับน้ำหลาก ลดผลกระความเดือดร้อนที่เกิดจากอุทกภัยให้ได้มากที่สุด
ด้านนายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณทรงตัว ประกอบกับแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี และปริมาณน้ำที่ควบคุมไม่ได้ที่ไหลไปรวมด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณลดลงต่อเนื่อง กรมชลฯจึงเริ่มปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงจากอัตรา 2,199 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) เหลือ 2,150 ลบ.ม. และลดส่งน้ำเข้าแม่น้ำท่าจีนจาก 80 เหลือ 60 ลบ.ม./วินาที ลดส่งน้ำเข้าแม่น้ำน้อยจาก 140 เหลือ 120 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในระดับเก็บกัก 16.00 เมตร(รทก) ช่วยลดผลกระทบกับพื้นที่น้ำท่วมด้านท้ายเขื่อน เพื่อลดผลกระทบกับน้ำทะเลที่จะหนุนสูงช่วงวันที่ 13 ตุลาคม และคาดว่าระยะนี้จะลดระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 2,000-2,100 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยบริเวณ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา , วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี , อ.เมือง จ.สิงห์บุรี , อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี , วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ระดับน้ำลดลงประมาณ 10-15 ซม.
โดยสถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 2,338 ลบ.ม./วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.12 เมตร/รทก. ลดลง 40 ซม. เพื่อสร้างพื้นที่รองรับน้ำเหนือ มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 14.97 เมตร/รทก. ลดลงจากเมื่อวาน 13 ซม. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 1.37 เมตร มีอัตราระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 2,150 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้ ฝากเตือนพื้นที่เสี่ยงบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราว และบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในจ.สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ เฝ้าระวังระดับน้ำจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนระยะนี้ และช่วงวันที่ 13 - 24 ตุลาคม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี