ผู้เสียหายเดินหน้าร้อง ปคบ.เอาผิดดารา-บริษัทดัง หลอกขายฝัน จนหมดเนื้อหมดตัวกันระนาว
วันที่ 10 ตุลาคม 2567 มูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรม ได้พาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าไปร่วมธุรกิจกับบริษัทขายตรงชื่อดัง เข้าให้ข้อมูลกับตำรวจสอบสวนกลาง ภายหลัง พลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตั้งคณะทำงานเข้ามาจัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะจึงพาผู้เสียหายให้ข้อมูลกับตำรวจในประเด็นที่เกิดขึ้นว่าเพราะเหตุใดธุรกิจของบริษัทนี้ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก บางคนขายของก็ไม่ได้ แถมยังชักชวนให้เข้าไปเรียน เข้าร่วมงานอีเวนท์ แล้วยังขายฝันให้จนมีคนเชื่อ แล้วยอมลงทุน บางคนใช้เงินเกษียณที่เป็นเงินก้อนสุดท้ายมาใช้ในการลงทุน บางคนเงินเก็บหายที่เก็บมาทั้งชีวิตลงทุนจนหมด สุดท้ายกลายเป็นหนี้จนคิดจะฆ่าตัวตาย
ทางตัวแทนของผู้เสียหายได้ออกมาเปิดเผยถึงบริษัทกล่าวว่า ผู้เสียหายทุกคนจะเห็นธุรกิจของบริษัทนี้ในลักษณะเดียวกัน คือเริ่มจากการเห็นโฆษณาผ่านทางทีวี และโซเชียล โดยธุรกิจนี้จะมีการยิงแอดโฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊ค ประกอบกับช่วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังโควิด ตัวเองต้องการหาอาชีพเสริมเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว เลยสนใจที่จะลงเรียน ซึ่งจะเป็นการเรียนแบบออนไลน์โดยมีค่าใช้จ่ายจำนวน 98 บาทหรือ 99 บาท โดยสองวันแรกจะเป็นการเรียนการสอนเรื่องธุรกิจของบริษัท จากนั้นวันที่สามจะมีแม่ทีมลงมาสอน หากใครสนใจทำธุรกิจก็จะขายฝันว่าเป็นการสร้างรายได้เพิ่ม โดยที่ไม่ต้องสต๊อกของ ไม่ต้องมีสินค้าในมือ มีระบบช่วยเหลือหลังบ้านทั้งหมด
จากนั้นจะมีเสนอให้เรียนคอร์สที่สูงขึ้นในราคา 2,500 บาท ซึ่งคอร์สนี้จะสามารถเรียนรู้ระบบของบริษัทได้มากขึ้นกว่าเดิม จากนั้นจะมีโค้ชนัดมาเรียนที่โรงเรียน เป็นการเรียนในห้อง นอกจากนี้จะมีครูพี่เลี้ยง หรือแม่ทีมมาช่วยประกบ หากเริ่มสนใจจะลงทุนแล้วจะมีคอร์สเรียนที่สูงขึ้นไปอีกในราคา 25,000 บาท โดยในคอร์สนี้ก็จะถูกเกลี้ยกล่อมว่าถ้าหากมาทำธุรกิจจะทำให้มีรายได้เพิ่ม และทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป หากใครสนใจจะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนจำนวน 250,000บาท ตอนแรกยอมรับว่ายังไม่มั่นใจที่จะลงทุน 250,000 บาท แต่พอผ่านไปสักพักได้มีโอกาสร่วมงานประจำเดือนของบริษัท ทั้งอบรม และประชุม พอเริ่มเข้าไปอบรมก็จะมีดารานักแสดงชื่อดังมาพูดจนสร้างความเชื่อมั่นทำให้รู้สึกว่าบริษัทนี้มีระบบรองรับทุกอย่าง ระบบหลังบ้านก็ดี การตลาดก็ดี และสินค้าก็ดี โดยดารานักแสดงชื่อดังจะพบเจอได้ในเฉพาะงานอีเวนท์ ซึ่งจะมีค่าบัตรเข้าร่วมงานจำนวน 1500 บาท เท่าที่เห็นจะมีจำนวน 3 คนด้วยกัน ซึ่ง 3 คนนี้ เท่าที่ได้ยินมาไม่ใช่แค่เป็นพรีเซนเตอร์ แต่เป็นถึงระดับผู้บริหารที่คนจะเรียกกันว่า “บอส”
พอเริ่มสนใจในการจะลงทุนธุรกิจแต่ตอนแรกเงินมีไม่พอ บัตรเครดิตก็มีไม่พอ จนมีแม่ทีมเป็นคนแนะนำให้ขยายวงเงินในบัตรเครดิต พร้อมแนะนำให้โทรไปหาธนาคารเพื่อขยายวงเงิน ประกอบในตอนนั้นแม่ทีมมีหารขายฝันว่าส่วนแบ่งและผลกำไรจะได้ยังไงบ้างตามที่แม่ทีมบอก จึงทำให้ตัดสินใจเข้าไปลงทุน โดยใช้เงินเก็บทุกบาทในชีวิตพร้อมกับเงินในบัตรเครดิตจนตอนนั้นไม่เหลือแม้แต่เงินจะกินข้าว พอหลังจากลงทุนไปแล้วกลับกลายเป็นว่า ไม่ใช่การขายของเหมือนกับการที่ถูกขายฝันเอาไว้ แต่เป็นให้เราไปโฆษณาในโซเชียลเหมือนกับที่เคยเจอตอนแรก ด้วยการยิงแอดโฆษณาลงในเฟซบุ๊ค เพื่อเป็นการขายสินค้าเหมือนกับที่ตัวเองนั้นได้ซื้อมา ซึ่งการโฆษณาทางบริษัทก็จะมีสคริปให้พูดทุกอย่าง หากสามารถหาดีลเลอร์ หรือลูกค้ามาได้ ก็จะได้เปอร์เซ็นต์จากการหาคนมาสมัครต่อหัว ซึ่งเปอร์เซ็นต์แล้วแต่สินค้าตัวนั้นๆ
นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายอีกหนึ่งคนที่นำเงินเก็บจำนวน 206,000 บาทไปลงทุนจนเกือบคิดสั้นฆ่าตัวตาย เนื่องจากว่าตนเองตกงานอยู่แล้วจึงอยากสร้างธุรกิจด้วยการนำเงินไปลงทุน เพราะคิดว่าทำไปอาจจะได้เงินมาใช้จ่ายในครอบครัว เพราะตอนแรกเข้าใจว่าใช้เงินลงทุนแค่ 2,500 บาท พอจ่ายไปแล้วก็จะต้องไปเรียนเหมือนกับผู้เสียหายรายอื่น โดยมีการขายฝันว่าถ้าหากลงทุนแล้วจะได้นู้นได้นี่มา และมีการพูดสโลแกนว่า “ขยันผิดที่อีก 10 ปีก็ไม่รวย” ซึ่งเงินเก็บตนเองที่ลงทุนไป 206,000 บาท จนถึงทุกวันนี้ก็ยังใช้หนี้อยู่เลย แล้วมามีปัญหาชีวิตเพราะคนในครอบครัวไม่มีใครเข้าใจ คนในครอบครัวต้องแตกแยกเพราะตนเอง จนช่วงระยะเวลาหนึ่งตนเองมีภาวะซึมเศร้า และเคยคิดสั้นที่จะฆ่าตัวตายมาแล้ว
ขณะที่ผู้เสียหายอีกคนบอกว่าครอบครัวของเธอเสียเงินกว่า 2 ล้าน เนื่องจากมีผู้ใหญ่ในครอบครัวไปลงทุนแล้วใช้ชื่อลูกอีก 3 คน และเพื่อนลูกอีก 1 คน ไปสมัครเป็นดีลเลอร์ โดยทางบริษัทอ้างว่าหากใช้ชื่อของคนที่บ้านเปิดบิล เป็นดีลเลอร์ประโยชน์ก็จะอยู่กับลูก แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถขายของที่เปิดบิลมาได้
ขณะที่ทนายความประจำมูลนิธิรณรงค์ทวงความยุติธรรมในสังคม บอกว่าพาผู้เสียหายมาให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวน เพื่อให้ตรวจสอบว่าบริษัทนี้เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนและผิดฐานแชร์ลูกโซ่ตามพระราชกำหนดกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 2527 มีความผิดในเรื่องการโฆษณาเกินความเป็นจริงและเป็นเท็จ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 หรือไม่ และต่อมาคือผิด พรบ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง 2445 หรือไม่ นอกจากนั้นก็อาจมีมีความผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 เรื่องนำเข้าข้อมูลบิดเบือนและอันเป็นเท็จหรือไม่
โดยนายรภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้โชว์เอกสารข้อตกลงที่ทางบริษัททำไว้กับผู้เสียหาย โดยอ้างว่าเป็นเงินค่าบำรุงขวัญ ให้ผู้เสียหายบางส่วนไปเซ็นเอกสารปิดปาก จ่ายเงินให้ครึ่งหนึ่งจากเงินลงทุนที่เสียไป ทำให้จะเห็นว่าผู้เสียหายบางส่วนไม่กล้ามาแจ้งความ เพราะหวั่นจะถูกดำเนินคดีคดี โดยย้ำว่าเรื่องนี้เป็นอาญาแผ่นดินไม่สามารถยอมความได้พร้อมฝากประชาสัมพันธ์ให้ ผู้เสียหายไม่ต้องกลัวให้เข้ามาแจ้งความและให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวน
ขณะเดียวกัน ทนายเดชา เดชา กิตติวิทยานันท์ พร้อมด้วย ต้นอ้อ มูลนิธิเป็นหนึ่ง และ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ พาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบบางส่วนจากการลงทุนกับ บริษัทขายตรงดัง กว่า 10 ราย มาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) โดยให้ความสำคัญกับกรณีแชร์ลูกโซ่มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่คดีการฟอกเงิน และหากพยานหลักฐานเพียงพอก็จะขอให้ดำเนินการยึดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
ด้านนายแทนคุณ ระบุว่า พฤติการณ์ของบริษัทนี้ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและโฆษณาเกินจริง เกี่ยวกับการขายสินค้าออนไลน์ เมื่อมีผู้หลงเชื่อจะชักชวนให้ร่วมลงทุน เปิดคอร์สราคา 97 บาท ก่อนขยับเป็นขั้นบันดัน ไปจนถึง 250,000 บาท เพื่อเป็นดีลเลอร์ และสามารถสร้างทีม และรับผลประโยชน์เพิ่ม และหลังจากน้้นจะมีการโน้มน้าว เชิญชวนให้ยิงแอดโฆษณาหารายได้ เฉลี่ยแล้ว 1 คน จะเสียหายอย่างน้อย 5 แสนกว่าบาท
ข้อมูลล่าสุด มีผู้เสียหายที่มาร้องทนายเดชาแล้วมากกว่า 500 คน และวันนี้เป็นตัวแทนมา 10 คน ส่วนผู้เสียหายรายอื่น สามารถเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่บ้านตนเองได้เลย สอบถามผู้เสียหานพบว่าดาราที่เข้ามาเกี่ยวข้องมี3กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ได้รับมอบอำนาจในการบริหารโดยตรง มี 5-6คน กลุ่มสอง กลุ่มของพรีเซนเตอร์ที่บริษัทจ้างมา เพิ่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีจำนวนหลายคน และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่มีความสัมพันธ์ และถูกเชิญเข้าไปร่วมอีเวนท์ของบริษัท ผู้เสียหายยืนยันว่าดารากลุ่มแรกเข้ามาบริหารจริง
ด้าน ต้นอ้อ มูลนิธิเป็นหนึ่ง เผยว่า 1ในผู้เสียหายที่มาเล่าให้ตนฟัง บอกว่าเคยฆ่าตัวตายจากการลงดัวกล่าวไป แต่โชคดีรอดมาได้ โดยเริ่มแรก ผู้เสียหายรายนี้ตกงาน จึงสนใจร่วมลงทุน รูดบัตรเครดิคไปกว่า 400,000 บาท แต่สินค้าที่ได้รับมากลับขายไม่ได้ จนเกิดความเครียด ประกอบกับมีอาการป่วยโรคประจำตัว ขณะนั้นก็ยัวท้องอยู่ 4 เดือน จึงตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แต่พลเมืองดีช่วยไว้ได้ทัน ขณะนี้ผ่านมาแล้วกว่า 10 เดือน ผู้เสียหายรายนี้ยังคงต้องใช้หนี้บัตรเครดิตที่รูดมาร่วมลงทุนบริษัทนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี