แก้ปัญหา‘เด็ก-เยาวชน’การศึกษาต้องเน้นบ่มเพาะทัศนคตินำวิชาการ ‘ครูแนะแนว’สำคัญมากแต่มีน้อย
11 ต.ค. 2567 รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ อาจารย์สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงโครงการวิจัยที่ทำร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ว่า โครงการนี้เป็นการทำความเข้าใจปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ทั้งช่วงรอยต่อ ม.ต้น กับ ม.ปลาย และช่วง ม.ปลาย กับมหาวิทยาลัย รวมถึงไปถึงมหาวิทยาลัยแล้วแต่ก็ไม่จบปริญญา
หรือก็คือการพยายามทำความเข้าใจเส้นทางชีวิต อะไรเป็นจุดที่ทำให้เด็กและเยาวชนไปถึงหรือไม่ถึงเป้าหมาย และ กสศ. จะเข้าไปสนับสนุนอย่างไรเพื่อให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เป็นกำลังแรงงานที่สำคัญของประเทศได้ผ่านโอกาสการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยมีทั้ง 1.การจัดวงสนทนากลุ่มกับเครือข่ายที่ทำงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เช่น เขตพื้นที่การศึกษา ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ฯลฯ จากหลากหลายภูมิภาค
2.การสัมภาษณ์เชิงลึกเด็กและเยาวชน 60 คน อ้างอิงกลุ่มตัวอย่างจากเด็กและเยาวชนในครัวเรือนที่ได้รับทุนเสมอภาคของ กสศ. แบ่งตามภูมิภาค คือ ภาคกลาง (รวมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล) ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ และ 3.การสร้างแบบสอบถาม กระจายไปยังทั่วประเทศ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การที่เด็กและเยาวชนจะไปถึงปลายทาง ในที่นี้หมายถึงการเรียนต่อมหาวิทยาลัยจนจบปริญญา มีปัจจัย 5 ประการ ได้แก่ 1.พื้นฐานครอบครัว 2.คุณลักษณะและทัศนคติของเด็กหรือเยาวชนนั้นเอง 3.บทบาทของครูและสถานศึกษา
4.ความมุ่งมั่นในการศึกษาต่อของเด็กหรือเยาวชนนั้น และ 5.เครือข่ายและการช่วยเหลือสนับสนุน จากนั้นเมื่อค่อยๆ ไล่ย้อนกลับแบบละเอียด พบว่า ความมุ่งมั่นในการศึกษาต่อของเด็กหรือเยาวชนนั้นเอง เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือเจ้าตัวต้องมีความแน่วแน่ก่อนว่าอยากเรียนต่อ แต่ปัจจัยส่งผลต่อความมุ่งมั่นในการศึกษาต่อของเด็กหรือเยาวชนมากที่สุด คุณลักษณะและทัศนคติของเด็กหรือเยาวชน รองลงมาคือเครือข่ายและการช่วยเหลือสนับสนุน ขณะที่ปัจจัยด้านพื้นฐานครอบครัว และด้านบทบาทของครูและสถานศึกษา มีผลในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
“ในกรณีเด็กที่มีคนในครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจ โรงเรียนอาจมีอิทธิพลน้อยเพราะครอบครัวใกล้ชิดกับเรามากที่สุด แต่เด็กบางคนที่ยากจนมากและครอบครัวก็อาจไม่ได้เป็นที่พึ่งให้เขาได้ นั่นหมายความว่าข้อค้นพบตรงนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของบทบาทของครูและสถานศึกษาในการบ่มเพาะคุณลักษณะและทัศนคติ นอกจากนี้เรายังพบว่าเครือข่ายและการสนับสนุนมีผลต่อความมุ่งมั่นในการศึกษาต่อของเด็ก โดยครูและสถานศึกษาเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเครือข่ายและการสนับสนุนสูงมากเช่นกัน” รศ.ดร.พร้อมพิไล กล่าว
รศ.ดร.พร้อมพิไล กล่าวต่อไปว่า จากข้อค้นพบคือครูและสถานศึกษา มีความสำคัญใน 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือบ่มเพาะคุณลักษณะและทัศนคติของเด็กหรือเยาวชน กับอีกด้านคือเชื่อมโยงเด็กหรือเยาวชนกับเครือข่ายต่างๆ ที่ช่วยเหลือสนับสนุน เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนเกิดความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถเรียนต่อสูงขึ้นไปได้เต็มที่ และมุ่งมั่นที่จะเดินไปในทางนั้น แต่ถึงจะเห็นว่าครูและสถานศึกษามีบทบาทสำคัญแบบนี้ ก็ยังมีข้อจำกัด
โดยประการแรกคือบทบาทของครูแนะแนว เนื่องจากปัญหาของเด็กและเยาวชนมักเกิดในช่วงรอยต่อระหว่างชั้น ม.ต้น กับ ม.ปลาย เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จริงอยู่ที่ช่วงวัยนี้ที่เป็นวัยรุ่น เพื่อนและรุ่นพี่มีความสำคัญมากที่สุดเพราะต้องการได้รับการยอมรับจึงไม่ค่อยเข้าหาครูมากนัก แต่ครูแนะแนวก็ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการแนะนำทางเลือกในการเรียนต่อหรือการทำงานในอนาคตกับเด็กและเยาวชนโดยละเอียดเป็นรายบุคคล ซึ่งในความเป็นจริงบุคลากรกลุ่มนี้มีจำนวนน้อย ทำให้ระบบแนะแนวในระบบการศึกษาไทยไม่มีประสิทธิภาพ
ซึ่งโดยส่วนตัวมีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ด้านจิตวิทยาการแนะแนว พบว่า นิสิต-นักศึกษา ที่เลือกเรียนคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ ไม่นิยมเลือกวิชาเอกด้านจิตวิทยาการแนะแนว คือมีผู้เลือกเรียนสายนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับวิชาเอกด้านการสอนเฉพาะทางตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา ฯลฯ หรือไม่ก็จะไปเลือกเรียนทางด้านบริหารการศึกษา เพราะวิชาเอกด้านจิตวิทยาการแนะแนว จบแล้วไม่มีตำแหน่งบรรจุตามโรงเรียนให้
เมื่อถามต่อไปอีกว่าเหตุใดไม่มีอัตราบรรจุ ก็พบว่า เขตพื้นที่การศึกษาไม่เปิดให้สอบบรรจุ ซึ่งบุคลากรที่ทำงานในเขตพื้นที่การศึกษาก็อธิบายว่า เขตพื้นที่การศึกษาไม่สามารถเปิดอัตราบรรจุได้เอง ต้องให้ทางสถานศึกษาขอมา แต่เมื่อไปถามผู้อำนวยการโรงเรียนก็ได้รับคำตอบว่า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับครูเฉพาะทางตามกลุ่มสาระการเรียนรู้เป็นลำดับแรก คือต้องมีครูด้านการสอนให้ครบทุกชั้นและทุกวิชาเสียก่อน หากยังมีไม่ครบแล้วไปขออัตราครูแนะแนวก็จะมีคำถามตามมาอีก
ดังนั้นโดยสรุปจึงไปจบที่เรื่องของวิธีคิด (Mindset) ของระบบการศึกษา ว่าจะให้ความสำคัญเน้นไปที่วิชาการหรือการสร้างทัศนคติ นิสัยและบุคลิกภาพของผู้เรียน ขณะที่นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้ครูที่ปรึกษาสามารถทำหน้าที่แนะแนวได้ แม้จะมีเจตนาดีเพราะครูที่ปรึกษาอยู่ใกล้ชิดกับนักเรียน แต่เมื่อสอบถามครูที่ปรึกษาก็ยอมรับว่าให้คำแนะนำได้เพียงกว้างๆ ทั้งนี้ หากเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ เท่าที่เคยพบจะมีระบบ 2 ชั้น เบื้องต้นที่พบครูที่ปรึกษาก่อนแล้วจึงมีระบบส่งต่อไปยังครูแนะแนว
โดยหากแบ่งเส้นทางของเด็กและเยาวชนยากจนตามกลุ่มตัวอย่างในโครงการวิจัยนี้ จะแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1.จิตใจมุ่งมั่น มีเส้นทางที่ชัดเจน แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ (Clear Will , Clear Way , No Wealth) คือตั้งเป้าหมายของตนเองไว้ชัดเจนว่าอยากเรียนต่อและทำงานอะไรในอนาคต รู้ด้วยว่าจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร แต่ขาดปัจจัยเรื่องทุนทรัพย์ที่จะไปให้ถึง 2.จิตใจมุ่งมั่น แต่มองไม่เห็นทางที่ชัดเจนและขาดแคลนทุนทรัพย์ (Clear Will , Cloudy Way , No Wealth) แม้จะมีจิตใจมุ่งมั่น แต่ขาดข้อมูลหรือคำแนะนำว่าจะเดินไปถึงฝั่งฝันได้อย่างไร แถมยังไม่มีทุนทรัพย์อีกต่างหาก
3.จิตใจไม่มั่นคง ข้อมูลหรือคำแนะนำก็ไม่มี แถมขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วย (Cloudy Will , Cloudy Way , No Wealth) คือมีความลังเลภายในจิตใจ ด้านหนึ่งอยากเรียนต่อสูงๆ แต่อีกด้านก็กลัวจะไปไม่รอด ซึ่งอาจเป็นเพราะมีภาวะพึ่งพิง เช่น มีสมาชิกในครอบครัวป่วยหนักหรือพิการติดบ้าน-ติดเตียงไม่สามารถดูแลเลี้ยงชีพตนเองได้ ต้องให้สมาชิกคนอื่นๆ ช่วยดูแล นอกจากนั้นยังขาดข้อมูลด้วยว่าหากอยากเรียนด้านนั้น-ทำงานสายนี้จะต้องไปต่ออย่างไร และยังขาดแคลนทุนทรัพย์อีก
และ 4.ไม่มีจิตใจมุ่งมั่น ไม่ตั้งเป้าหมายใดๆ และไม่มีทุนทรัพย์ (No Will , No Way , No Wealth) กลุ่มนี้สรุปง่ายๆ คือไม่มีและไม่เอาอะไรเลย และจริงๆ บางกรณีก็ไม่ได้ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วย เช่น เคยเจอเด็กคนหนึ่ง แม้จะเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่เสียชีวิตต้องไปอาศัยอยู่กับวัด แต่มีอาเป็นเจ้าอาวาสที่พร้อมจะส่งเสียให้จนจบมหาวิทยาลัย ซึ่งเด็กคนนี้ขอเรียนเพียงจบ ม.6 ตามคำขอของอา แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรต่อ โดยเด็กหรือเยาวชนกลุ่มนี้จะไม่มีเป้าหมาย มองการใช้ชีวิตไปวันๆ หนึ่ง ขอค้นหาตนเองไปเรื่อยๆ
ซึ่งลักษณะนี้จะต่างจากอีกกรณีหนึ่ง คือมีเด็กอีกคนที่เล่าว่าตนเองขอเรียนให้จบ กศน. โดยไม่ขอต่อมหาวิทยาลัย แล้วจะหาเงินทุนสักก้อนมาเปิดร้านขายของเล็กๆ มีการมองรายได้ที่จะได้รับว่าแค่นี้ก็พออยู่พอกินแล้ว โดยยอมรับว่าตนเองก็หัวไม่ค่อยดีเท่าไร ทำมาหากินแบบนี้ได้ก็ชีวิตเรียบง่ายมีความสุขแล้ว ซึ่งกรณีนี้เจ้าตัวมีแผนชีวิตที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นเพียงการไม่รู้แล้วขอสำรวจค้นหาตนเองไปเรื่อยๆ ก่อนดังตัวอย่างก่อนหน้า
“คิดว่า ณ ตอนนี้ สังคมตระหนักและเห็นภาพร่วมกันว่าตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราจะต้องไม่ได้เน้นที่ตัววิชาการ แต่ต้องเน้นไปที่ทักษะ เรื่องการพัฒนาคุณลักษณะของเด็กให้มีทักษะชีวิต คิดว่าตรงนี้กระแสสังคมมันมา แต่เพียงแค่ว่ามันต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ของส่วนกลางในการให้เห็นว่าตัวนโยบายกับการปฏิบัติมันไปด้วยกัน” รศ.ดร.พร้อมพิไล ระบุ
รศ.ดร.พร้อมพิไล ยังกล่าวอีกว่า ตนเคยทำงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งให้กับสภาการศึกษา ในช่วงปลายปี 2565 – ต้นปี 2566 ช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มซาลงและการเรียนการสอนกลับมาดำเนินการที่โรงเรียน ซึ่งจากการจัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม มีผู้เข้าร่วมราว 300 คน เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียกับระบบการศึกษา เห็นตรงกันว่า มีความไม่สอดคล้องกันระหว่างนโยบายกับค่านิยมหรือความเชื่อที่นำไปสู่การปฏิบัติ
กล่าวคือ ในขณะที่ประกาศว่าการศึกษาไทยมีเจตนารมณ์มุ่งเน้นการสร้างความเสมอภาคทางโอกาส มุ่งเน้นการสร้างสมรรถนะและทักษะ และการความสำคัญกับการบ่มเพาะคุณลักษณะของผู้เรียน แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นตรงข้าม คือยังคงเน้นการสอบแข่งขันทางวิชาการ ดังนั้นระบบการศึกษาไทยก็อาจต้องย้อนกลับมาสำรวจตนเองด้วย ว่าอะไรทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันขึ้น
ประการที่สอง หลักสูตรการศึกษาต้องยืดหยุ่นตอบสนองกับเส้นทางที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เด็กบางคนมีเหตุจำเป็นต้องรีบทำงาน จากแรงกดดันด้านฐานะของครอบครัวที่ไม่ค่อยดีนัก จึงไม่สามารถเรียนชั้นมัธยมสายสามัญ 6 ปี แล้วไปต่อมหาวิทยาลัยอีก 4-5 ปี รวดเดียวให้จบปริญญาได้ ทำให้เมื่อจบ ม.3 จึงเลือกเรียนสายอาชีวะให้จบ ปวช. หรือ ปวส. หรือเลือกเรียน กศน. ที่หลักสูตรพร้อมต่อการใช้ทำงานได้เร็วกว่า แต่ปัญหาคือระยะยาวหากต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างไรเสียก็จะต้องกลับมาเรียนระดับมหาวิทยาลัยอยู่ดี
ดังนั้นจะออกแบบหลักสูตรอย่างไร เช่น มีหลักสูตรต่อเนื่องเทียบวุฒิต่อจาก ปวส. ทำให้ไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี แต่อาจอยู่สัก 2-3 ปี นอกจากนั้น กรณีเด็กจบสายอาชีวะหรือ กศน. พื้นฐานวิชาการจะไม่แน่นเหมือนจบสายสามัญ ด้านหนึ่งเห็นหลายมหาวิทยาลัยพยายามปรับรูปแบบการรับนักศึกษาโดยให้ความสำคัญกับเกณฑ์ด้านสมรรถนะและคุณลักษณะมากขึ้น แต่เมื่อเข้าไปเรียนแล้วอย่างไรวิชาการก็สำคัญ ก็ต้องมีระบบติวเสริมปรับพื้นฐาน ซึ่งก็ต้องได้รับการสนับสนุนเพราะเด็กและเยาวชนในครัวเรือนยากจนจะขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่สามารถเข้าถึงการติวปรับพื้นได้
ประการสุดท้าย มีสำนวนที่บอกว่า “เลี้ยงเด็ก 1 คนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน (It's take a village to raise a child.)” ดังนั้นการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนจึงไม่อาจกล่าวโทษไปที่ระบบการศึกษาหรือกลไกของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังต้องรวมไปถึงสังคมทั้งหมด เพราะข้อค้นพบจากผลการศึกษา คือเด็กที่มีทัศนคติที่ดีมักมีต้นแบบที่ดี เช่น พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ รุ่นพี่ ฯลฯ แต่การสื่อสารต่างๆ ในสังคม ไม่รู้ว่าเป็นการสร้างต้นแบบที่ดีหรือไม่ เช่น มีการไปสร้างกระแสว่าไม่ต้องเรียนก็ประสบความสำเร็จได้
หรือการไปสอนว่า จงค้นหาและเลือกทำในสิ่งที่ชอบ (Passion) ด้านหนึ่งก็ถูก อย่างที่ทางศาสนาพุทธก็มีคำสอนว่าจะทำอะไรต้องเริ่มที่ฉันทะ หรือความพอใจในสิ่งนั้นก่อน เพราะทำในสิ่งที่ไม่ชอบก็มีแต่ความทุกข์ แต่อีกด้านหนึ่งหากยึดมั่นถือมั่นแต่คำว่าความชอบ ก็จะเกิดกรณีที่ฐานะทางบ้านยังไม่ดีแต่ก็ไม่คิดจะทำอะไร กิน-นอนไปวันๆ ไม่ทำงานและไม่เรียน เพราะยังไม่เจอสิ่งที่ชอบ ชีวิตก็จะไปเรื่อยๆ วันๆ หนึ่งๆ
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้เกิดความเข้าใจขึ้นว่า นอกจากสิ่งที่ชอบกับสิ่งที่ไม่ชอบแล้ว ยังมีสิ่งที่พอรับได้ ซึ่งเราสามารถอยู่กับสิ่งนี้ไปก่อนแล้วค่อยๆ บ่มเพาะความชอบ และใช้สิ่งนั้นสร้างโอกาสในการค้นหาเส้นทางอื่นๆ ต่อไปในอนาคต หรือหากมองคำว่าหน้าที่และความรับผิดชอบ ก็จะทำให้เราสามารถอยู่กับสิ่งที่เป็นความธรรมดาไม่หวือหวาได้อย่างมีความสุข ท่ามกลางกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่สุดโต่ง 2 ด้าน ระหว่างฝั่งที่โชว์ชีวิตกินหรูอยู่สบายแบบสุดๆ กับฝั่งที่บอกว่าคนนั้นคนนี้ไม่เรียนไม่ทำงานก็เห็นใช้ชีวิตอยู่ได้
ซึ่งถามว่าคนที่เห็นกระแสต่างๆ แล้วหลงไปผิดหรือไม่ โดยส่วนตัวก็มองว่าไม่ผิด แต่ตนเห็นว่าทุกภาคส่วนในสังคมต้องออกมาพูด โดยเฉพาะบุคคลต้นแบบที่มีประสบการณ์ชีวิต เพื่อให้เด็กมองเห็นเส้นทางตลอดทั้งชีวิตไม่ใช่เห็นแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า สังคมต้องช่วยกัน เพราะให้ระบบการศึกษาหรือรัฐบาลทำฝ่ายเดียวอย่างไรก็สู้กระแสสังคมไม่ได้ ขณะที่เมื่อพูดถึงบทบาทของสื่อก็ไม่ใช่เฉพาะแต่คนทำงานด้านสื่อมวลชน เพราะยุคนี้ทุกคนในสังคมล้วนสื่อสารได้หมดทางสื่อสังคมออนไลน์
“อยากให้คิดสักนิดว่าสิ่งที่โพสต์ลงไปมันมีอิทธิพลต่อมุมมองหรือความคิดของเด็กและเยาวชนมากแค่ไหน ขอให้มีสติสักนิดเวลาที่คุณจะโพสต์อะไร เพราะทุกครั้งที่คุณโพสต์มันมีอิทธิพลต่อคนอื่นเสมอ” รศ.ดร.พร้อมพิไล ฝากทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี