ไม่ใช่ขออนุญาตแล้วจบ! ‘สภาผู้บริโภค’จี้รัฐตรวจ‘ตลาดออนไลน์-ขายตรง’เข้มต่อเนื่อง ‘เจ้าของสื่อ-คนดัง’พึงระวังรับโฆษณา
เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2567 นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ในประเด็นการขายสินค้าเครื่องประดับที่ไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ หรือการขายตรงในลักษณะชักชวนให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจเครือข่าย ที่เกิดขึ้น 2 คดีไล่เลี่ยกันในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีข้อสังเกตว่า มีการใช้คนดังทั้งศิลปินดารา อินฟลูเอนเซอร์ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้ใหญ่ ฯลฯ เข้าไปร่วมโฆษณาประชาสัมพันธ์จนทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อ ว่า เรื่องนี้หากไล่ดูแล้ว คงต้องปรับปรุงกันในหลายภาคส่วน อาทิ
1.บทบาทของรัฐ ซึ่งจริงๆ มีกฎหมายอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่การขายตรงหมายถึงการขายเชิงรุกที่ผู้ค้านำสินค้าไปเสนอกับผู้บริโภคแบบเจอหน้ากันหรือออนไซต์ ส่วนการตลาดแบบตรงคือการขายทางออนไลน์ที่ผู้บริโภคเห็นสินค้าแต่ยังไม่ได้จับต้องก่อนตัดสินใจซื้อ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบธุรกิจประเภทนี้ แต่ปัญหาที่พบคือเมื่อผู้ประกอบการได้รับในอนุญาตไปแล้วไม่มีการติดตามตรวจสอบว่าได้ประกอบกิจการตรงตามที่ขออนุญาตหรือไม่
โดยหากไปถามเพียงผู้บริหารก็จะได้รับแต่เพียงคำตอบว่าไม่มีปัญหาใดๆ และมีหลักฐานที่มาจากผู้บริหารนั้นเอง แต่ในทางปฏิบัติ บรรดาเครือข่ายอาจไปทำกันในลักษณะอื่นนอกเหนือจากที่กฎหมายอนุญาต ซึ่งผู้บริหารอาจจะไม่รู้จริงๆ ก็ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดของผู้บริหาร แต่ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องคอยตรวจสอบด้วย อย่างการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ได้ใบอนุญาตไปแล้วก็ยังมีสำนักงานเขตไปคอยดูว่าก่อสร้างตรงตามแบบที่ขออนุญาตหรือไม่ด้วย เรื่องนี้ก็เช่นกัน รัฐต้องคอยตรวจสอบด้วยว่าผู้ประกอบการขายตรงนั้นขายสินค้าจริงหรือไม่
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องการขอเครื่องหมายรับรองสินค้าทางออนไลน์ (E-Submission) เช่น ขอรับรองเครื่องหมายอาหารและยา (อย.) ในสินค้าประเภทอาหารเสริมและเครื่องสำอาง ตนตั้งข้อสังเกตว่าระบบทำให้ขออนุญาตได้ง่ายเกินไปหรือไม่ ได้ไปตรวจสอบกันจริงจังหรือเปล่า บางทีขอไปไม่เกิน 24 ชั่วโมงก็ได้เลขทะเบียนแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องยากกับดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในการคัดกรองก่อนรับงานโฆษณาอีก เพราะผลิตภัณฑ์มีเครื่องหมายรับรองจากรัฐแล้ว
“ระบบอนุญาตบ้านเรารัฐต้องเข้มงวด ต้องไปมอนิเตอร์ ต้องไปตรวจว่าบ้านสร้างตรงแบบไหม? สร้างได้มาตรฐานไหม? คุณให้ใบอนุญาตขายตรงหรือตลาดแบบตรง ก็ต้องไปดูว่าเขาขายสินค้าจริงไหม? งบการเงินก็เป็นตัวหนึ่งที่เช็คความพิรุธได้ ว่ารายได้ที่มันผิดปกติของเขา แล้วก็การโฆษณา ถ้าเขาขายสินค้าเขาโฆษณาอย่างไร เขารายงานเรื่องการโฆษณากับคุณอย่างไร? ไม่ใช่เอาแค่ข้อมูลฝั่งเขารายงานนะ คุณต้องไปสุ่มดูตลาดแบบที่ผู้บริโภคเจอ ว่าผู้บริโภคเขาได้รับโฆษณาจากผู้ประกอบการอย่างไร?” นายโสภณ กล่าว
นายโสภณ กล่าวต่อไปว่า รัฐอาจจะต้องทำตัวเหมือนไปล่อซื้อ กรณีมีคนมาเสนอแพ็คเกจสอนลงทุน อย่างกรณีบริษัทขายตรงขนาดใหญ่ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ มีการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจช่วงปี 2561-2562 ก็เห็นมีคนที่เป็นตัวแทนจำหน่ายไปร้องเรียน สคบ. เท่ากับมีคนพยายามให้ข้อมูลกับรัฐแล้วว่าธุรกิจนี้มีปัญหาอะไรบ้าง หน้าที่ของรัฐก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าไม่ได้มีการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพราะการให้ใบอนุญาตมีผลต่อการที่ผู้ประกอบธุรกิจจะไปชักชวนบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ มาเข้าร่วมได้ง่ายขึ้น
อีกทั้งในส่วนของเงินประกันการประกอบธุรกิจซึ่งกฎหมายกำหนดให้บริษัทขายตรงต้องมีนั้นปัจจุบันยังถือว่าน้อยเกินไป เช่น บริษัทที่เป็นข่าว มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท แต่วางเงินประกันไว้เพียง 1 แสนบาท ทำให้เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับผู้ร่วมเครือข่ายธุรกิจก็ไม่สามารถเยียวยาได้ หรือแม้จะได้แต่ต้องใช้เวลานาน เช่น ต้องขอผ่อนจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งตนมองว่าเงินประกันขั้นต่ำควรเป็นหลักล้านบาทขึ้นไป
2.ดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง จริงอยู่ที่ด้านหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับการที่เมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตและสินค้าได้รับเครื่องหมายรับรองจากรัฐ ทำให้ตัดสินใจเข้ามารับงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่อีกด้านหนึ่ง ตนเชื่อว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บรรดาคนดังก็คงจะต้องรัดกุมเรื่องสัญญาจ้างมากขึ้น สัญญาต้องชัดเจนว่าจ้างทำอะไรบ้าง อย่างกรณีบริษัทขายตรงดังกล่าว บรรดาคนดังที่ถูกเรียกเป็นผู้บริหาร มีการเผยแพร่ภาพและข้อความต่อสาธารณะ หากไม่เป็นความจริงเจ้าตัวต้องแย้งตั้งแต่แรกเพื่อให้ยุติการเผยแพร่
แต่การปล่อยให้เผยแพร่ภาพและข้อความนั้นมานานเป็นเดือนเป็นปี เท่ากับไปยอมรับว่าเป็นอย่างที่ผู้ประกอบธุรกิจได้ตั้งสถานะขึ้นมาจนทำให้ผู้บริโภคเชื่อเช่นนั้น เพราะหากไม่จริงดาราที่ถูกนำภาพไปใช้ก็ต้องแย้งแล้ว ดังนั้นดาราหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง อาจจะถูกเชิญไปร่วมงานหรืออาจมีคนมาขอถ่ายรูป ซึ่งภาพนั้นสามารถถูกนำไปใช้อ้างเพื่อการค้าบ้าง อ้างว่ารู้จักกันบ้าง บรรดาคนดังเองก็ต้องมีจริยธรรมด้วย หากใครจะนำภาพไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์เหล่านั้นต้องขออนุญาตเจ้าตัวก่อน และหากนำไปใช้โดยไม่ต้องอนุญาตก็ต้องรีบแย้งโดยเร็ว
“ผมไม่ได้บอกว่าดาราเขาผิดนะ ก็เป็นปกติตามวิชาชีพของเขา เป็นคนมีชื่อเสียงก็ย่อมเป็นธรรมดาที่คนอยากจะมาถ่ายภาพด้วย แต่ปัญหาคือมันมีคนเอาภาพเขาไปใช้โดยไมได้รับอนุญาตหรือใช้ประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับความยินยอม ผมยังคิดไม่ออกว่าแล้วดาราจะไปคิดระบบในการตรวจอย่างไร แต่มันต้องมีอะไรบางอย่างที่บอกให้สังคมรับรู้ว่าถ้ามีการเอาภาพดาราไปใช้โดยไม่ขออนุญาตโดนฟ้องนะ” นายโสภณ ระบุ
นายโสภณ ยังกล่าวอีกว่า การที่ผู้ประกอบธุรกิจอ้างว่ารู้จักดาราหรือคนดัง แม้ว่าตัวคนดังจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสินค้านั้นเลยก็ตาม แต่ในมุมผู้บริโภคก็มองว่าเป็นวิธีการสร้างความน่าเชื่อถืออย่างหนึ่ง แต่หากเป็นกรณีดาราไปรับงานโฆษณา แบบนี้จะถือว่าซีเรียสแล้ว เพราะก็มีคนที่อาจไม่ได้เชื่อสินค้าโดยตรง แต่เชื่อเพราะชื่นชอบดาราคนนั้น และไม่คิดด้วยว่าดาราจะไม่ตรวจสอบ โดยเฉพาะในสื่อโทรทัศน์ที่ส่วนใหญ่ก็อยู่ได้ด้วยเม็ดเงินโฆษณาที่ภาคธุรกิจไปจ่ายเงินซื้อเวลาในรายการ
ดังนั้น 3.ผู้ประกอบกิจการสื่อ โดยเฉพาะช่องโทรทัศน์ต่างๆ ต้องเข้มงวดในการคัดกรองด้วย จะให้นำสินค้ามาวางบนโต๊ะ ให้ดารามารีวิว ต้องตรวจสอบว่าธุรกิจนั้นจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ หรืออย่างบางรายการที่เปิดให้แขกรับเชิญมาอวดความร่ำรวยแต่ไมได้บอกรายละเอียดชัดเจนว่าความร่ำรวยนั้นมีที่มาอย่างไร ลักษณะนี้ก็สะท้อนว่าคนที่มาพูดไม่ได้ต้องการขายสินค้า เจ้าของสถานีหรือเจ้าของรายการต้องตระหนักด้วย ไม่ใช่เห็นแก่รายได้จากการโฆษณาแบบนี้ ก็เป็นจริยธรรมแบบหนึ่งว่าโฆษณาแบบไหนที่จะต้องไม่รับ
นอกจากสื่อในความหมายของรายการหรือสถานีแล้ว ยังรวมถึงแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ที่มีรายได้จากการรับโฆษณาสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งก็รวมถึงจากผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายด้วย ดังนั้นเฟซบุ๊กก็ต้องมีระบบคัดกรองก่อนจะรับโฆษณา หากพูดแบบยกระดับขึ้นก็จะมีคำถามว่าแล้วเฟซบุ๊กมีจรรยาบรรณหรือไม่ ก็ต้องช่วยกันพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบคัดกรอง
4.บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งหลายครั้งจะพบการโฆษณาประเภทอาหารเสริม เครื่องสำอาง ธุรกิจเสริมความงาม จะเห็นผู้ประกอบวิชาชีพกลุ่มนี้มาโฆษณาชักชวนให้ใช้สินค้าหรือบริการ องค์กรกำกับดูแลวิชาชีพ เช่น แพทยสภา ต้องเข้ามาดูกรณีมีการโฆษณาโดยแพทย์ เพราะก็มีคำถามว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่รักษาพยาบาลหรือดูแลสุขภาพผู้คน สมควรโฆษณาสินค้าหรือบริการประเภทนี้หรือไม่ เพราะจะสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภคอย่างมาก เช่น กินวิตามินยี่ห้อนี้จะช่วยให้กระดูกแข็งแรง ใช้เครื่องสำอางยี่ห้อนั้นจะช่วยแก้อาการฝ้า เป็นต้น
และ 5.ผู้บริโภค ต้องใช้วิจารญาณและมีความระมัดระวัง เช่น มีการโฆษณาเปิดอบรมหลักสูตรการตลาดออนไลน์โดยคิดค่าอบรมถูกมากไม่กี่สิบบาท แต่สุดท้ายเมื่อเข้าไปแล้วก็อาจถูกชักชวนให้ซื้อสินค้าในราคาหลักพันหลักหมื่นบาทได้ นั่นคือการที่เขาชักชวนเราลงทุนแล้วไม่ได้เป็นการให้ความรู้อย่างเดียว เพราะการโฆษณาในลักษณะอวดอ้างว่าดีและมีราคาถูกอย่างผิดปกติก็มักจะมีบางอย่างแอบแฝงมาด้วย ก็ต้องให้ความรู้เพื่อให้ผู้คนตื่นตัว
“ไม่ผิดนะที่คนเราอยากได้ของถูกหรือราคาเป็นธรรม เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้มีคนที่อาศัยการชักชวนซื้อของราคาถูก บริการราคาถูก เพื่อหวังผลตอบแทนราคาสูง เราต้องเข้าใจด้วยว่ามันเป็นแบบนี้อยู่ตอนนี้ เราก็ต้องใช้ความระมัดระวังในการเสพสื่อ ในการบริโภค อีกทางหนึ่งผมก็พยายามคุยกับพวกแพลตฟอร์มออนไลน์เหมือนกันที่ให้มีการรับโฆษณา ก็คือบริษัทพวกนี้เอาเงินไปให้แพลตฟอร์มออนไลน์มายิงแอด (Advertise-โฆษณา) แก่คนหมู่มาก มันก็เป็นช่องทางให้เขาสามารถมาหากินได้ส่วนหนึ่ง เราก็รู้สึกว่ามันต้องช่วยกันดู” นายโสภณ ฝากทิ้งท้าย
หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก “สภาองค์กรของผู้บริโภค”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี