nn ยังพูดกันหนักทีเดียวกรณีการโยกย้ายบุคลากรทางการแพทย์ แม้ว่าการโยกย้ายจะอุบัติขึ้นได้ตลอดเวลาและเป็นเรื่องปกติก็ตาม แต่การโยกย้ายดังกล่าวหากถ้าสำนักแพทย์เห็นว่า “วางคนถูกงานเอางานให้ถูกคน” ถือว่ายุติ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอย่างน้อยบุคลากร 2 คน ทางสำนักแพทย์สุดกระอักกระอ่วนยิ่ง เพราะรู้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมแค่ไหนอย่างไร กล่าวคือ ตัว ผอ.สำนักแพทย์ที่ท่านเป็นแพทย์นั้นรู้ดีชั่วทุกอย่างในการโยกใครย้ายใคร แต่ติดขัดที่การเมือง ยอมรับว่าการให้นโยบายกำหนดแนวทางของฝ่ายการเมือง(ฝ่ายบริหาร)ทำได้ไม่ผิด แต่การประกาศิตสั่งการที่เกินขอบเขตอาจนำมาซึ่งปัญหาในที่สุด เฉกเช่น การโยกย้ายบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ครึกโครม...
nn แน่นอนคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 366/2567 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2567 เฉพาะเกี่ยวกับสำนักแพทย์ที่ผู้บริหารอ้างว่าเป็นการโยกย้ายตามวาระ เพื่อให้มีหรือเพิ่มประสบการณ์บุคลากร วันนี้ถูกมองว่ามีปัญหา...
nn จับประเด็น ลำดับที่ 9,10, 11, 13 มีระยะการครองตำแหน่งใน รพ.เดิม ประมาณ 2 ปี เศษถึง 3 ปี แต่ลำดับที่ 12 นั้นแค่ 1 ปี 7 เดือนเท่านั้น แล้วจะอ้างว่าย้ายตามวาระได้อย่างไร ที่สำคัญ “วาระหนึ่ง” จำกัดมีกี่ปีจึงกลายเป็นคำถามข้อข้องใจสงสัยทั่วหน้า หรือคำว่า “วาระ” ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร พอใจใครหรือไม่พอใจใครบางคนแล้วโยกย้าย ดังนั้นเรื่องนี้จริงๆ แล้วสำนักแพทย์ควรมีคำตอบให้ชัดเจน...
nn อย่างไรก็ตามแม้ว่าการโยกย้ายลำดับที่ 12 คือ นายแพทย์สุรินทร์ นัมคณิตสรณ์ จากโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนไปนั่งเก้าอี้ ผอ.สำนักงานพัฒนาบริการทางการแพทย์ ที่มีกรอบอัตรากำลัง 39 อัตรา โดยเดิมทีขณะอยู่โรงพยาบาลฯอัตรากำลัง 135 อัตรา ถึงจะอ้างว่าอำนวยการสูงเท่ากัน แต่ดูแล้วเหมือนถูกลดขั้น ไม่ให้ความสำคัญอะไรเลยทั้งๆ ที่ท่านนั่งเก้าอี้ ผอ.โรงพยาบาลได้แสดงฝีไม้ลายมือบริหารจัดการปลุกเสกงานสำคัญไว้ดีเยี่ยม ท่ามกลางที่ประชาชนต่างประจักษ์แลเห็นแนวทางตั้งใจจริงจังจริงใจไร้ข้อติติง ส่งผลให้หน่วยงานภายนอกราชการ ตลอดทั้งวัดวาอาราม ประชาชน คหบดีพร้อมใจมอบเงินช่วยเหลือโครงการตามคำเชื่อเชิญของท่านอย่างเต็มใจ แต่ท่านกลับถูกย้าย และลือกันหึ่งในหมู่ข้าราชการสำนักการแพทย์ รวมถึงข้าราชการอื่นๆ ว่า ถูกย้ายเพราะไม่อาจตอบสนองความต้องการทางการเมืองของฝ่ายการเมืองได้และงานนี้ข้าราชการทางการแพทย์ในสำนักแพทย์ล้วนรู้ข้อเท็จจริง แม้แต่ตัวสำนักฯซึ่งเป็นคนดีทำงานเก่งก็ไม่กล้าขัดฝ่ายการเมือง สำนักฯรู้แม้กระทั่งไม่มีงบประมาณลงไปให้ แต่ท่านสามารถขับเคลื่อนงานได้ตลอด ทั้งนี้เนื่องจาก ความศรัทธาขององค์กรภายนอก เช่น ประชาชน, มูลนิธิ รวมถึงวัดเชื่อมั่นต่อการทำงานของ นายแพทย์สุรินทร์ นั้นเอง ซึ่งตรงนี้ฝ่ายการเมือง “ตาบอดสี” มองไม่เห็น เมื่อเป้าหมายที่ฝ่ายการเมืองไม่สมหวังการโยกย้ายจึงเกิดขึ้น นี่เป็นเสียงการวิพากษ์วิจารณ์ของข้าราชการ กทม....
nn ส่วนประเด็นของนายแพทย์ยุทธนา ที่จงใจให้ย้ายออกจากศูนย์เอราวัณนั้น ครั้งแรกท่านร้องขออยู่ที่เดิมจุดประสงค์เพื่อจะได้สะสางแก้ปัญหาการงานให้เสร็จสิ้นตามโครงการที่วางไว้ หรือถ้าจำเป็นให้ท่านไปก็ขอไปอยู่โรงพยาบาลสิรินธร ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เนื่องจากท่านมีปัญหาสุขภาพไม่ต้องเดินทางไกล แต่ปรากฏว่าฝ่ายการเมืองไม่ยอม จึงเป็นที่มาของการลาออก...
nn พลันทันทีที่ข่าวการลาออกของ นายแพทย์ยุทธนา กระจายไป โรงพยาบาลเอกชนอย่างน้อยหนึ่งแห่งพูดกันภายในทันทีเช่นกัน ทำนองขอจองตัวนายแพทย์ยุทธนา เพราะเป็นคนดีมีฝีมือ...
nn และนี่คือผลงานของฝ่ายการเมืองที่พูดกันหนาหูว่ามีรองผู้ว่าฯกทม.ท่านหนึ่งแสดงบทบาทรู้หลักการบริหารจัดการทางการแพทย์ดีกว่าแพทย์ จึงทำให้สมองไหลสู่เอกชน...nn
ไผ่ฎำ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี