กาง‘3 ภัยสังคม’ปชช.จี้เร่งแก้ไข ‘ทุจริต-เหลื่อมล้ำ-กฎหมาย’ไม่เข้มงวด อุปสรรคสำคัญ
20 ตุลาคม 2567 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ภัยสังคมที่ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไข” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,357 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2567 สรุปผลได้ ดังนี้
1.ประชาชนเคยมีประสบการณ์พบปัญหาภัยสังคมหรือไม่
อันดับ 1 ญาติ พี่น้อง คนรู้จักเคยพบ 51.73%
อันดับ 2 เคยพบด้วยตนเอง 41.40%
อันดับ 3 ไม่เคยพบ 6.87%
2.ประชาชนคิดว่า ณ วันนี้ ภัยสังคมเรื่องใดที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด
อันดับ 1 การหลอกลวงออนไลน์/ธุรกิจออนไลน์ 77.84%
อันดับ 2 แก๊งคอลเซ็นเตอร์ 74.89%
อันดับ 3 ปัญหายาเสพติด 61.82%
3.ประชาชนคิดว่าปัญหา อุปสรรคในการแก้ปัญหาภัยสังคมคืออะไร
อันดับ 1 การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด 80.75%
อันดับ 2 การทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการ 72.42%
อันดับ 3 ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน 54.35%
4.ประชาชนคิดว่าควรมีวิธีป้องกันแก้ไขปัญหาภัยสังคมอย่างไรบ้าง
อันดับ 1 เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย 86.10%
อันดับ 2 แก้ปัญหาอย่างจริงจัง จับ ปรับ ลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง 77.61%
อันดับ 3 พัฒนาระบบการศึกษาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง 54.03%
5.ประชาชนคิดว่าหน่วยงานใดควรเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหามากที่สุด
อันดับ 1 ทุกคนต้องช่วยกัน 72.18%
อันดับ 2 รัฐบาล 67.60%
อันดับ 3 ตำรวจ 64.98%
6.สิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึงรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องภัยสังคม
อันดับ 1 เร่งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม 62.75%
อันดับ 2 เร่งปราบปรามอาชญากรรม สร้างสังคมที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับทุกคน 60.39%
อันดับ 3 ขจัดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด ทำงานอย่างโปร่งใส 57.84%
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ภัยสังคมที่ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไข” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,357 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยมีประสบการณ์พบกับปัญหาภัยสังคมต่าง ๆ ร้อยละ 93.13 (คนใกล้ตัวพบ ร้อยละ 51.73 และพบด้วยตนเอง ร้อยละ 41.40) โดยมองว่าภัยเรื่องการหลอกลวงออนไลน์ ธุรกิจออนไลน์ น่าเป็นห่วงที่สุด ร้อยละ 77.84 ด้านอุปสรรคในการแก้ปัญหาภัยสังคม คือ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ร้อยละ 80.75 และคิดว่าควรเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ร้อยละ 86.10 ทั้งนี้ทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ร้อยละ 72.18 รองลงมาคือ รัฐบาล ร้อยละ 67.60 และตำรวจ ร้อยละ 64.98 สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาลเกี่ยวกับภัยสังคม คือ ควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 62.75
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยพบปัญหาภัยสังคมสูงถึงร้อยละ 93.13 ภัยสังคมที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือภัยสังคมในรูปแบบออนไลน์ โดยมองว่าอุปสรรคสำคัญคือ “กฎหมายไม่เข้มงวด” ทั้งนี้อาจเพราะรู้สึกว่าผู้กระทำผิดหลายคนสามารถหลบหลีกการถูกลงโทษได้ หรือบทลงโทษไม่รุนแรงพอที่จะยับยั้งการกระทำผิดต่อไปได้ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม แก้ปัญหาทั้งระบบ เพื่อสร้างสังคมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน
ด้าน ดร.มุทิตา มากวิจิตร์ อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของประชาชนที่มีต่อภัยสังคมในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของการหลอกลวงให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจออนไลน์ แชร์ลูกโซ่ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน จุดสำคัญที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นไม่ให้เกิดภัยสังคมดังกล่าวได้ดีที่สุด ก็คือ ภาครัฐจะต้องเพิ่มมาตรการและเข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามกลุ่มคดีหลอกลวงให้ร่วมลงทุนธุรกิจออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ถือว่าเป็นภัยร้ายแรงที่มีมูลค่าความเสียหายและมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
นอกจากนี้ ภาครัฐควรจะต้องสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในเรื่องการป้องกันตนเองจากภัยอาชญากรรมต่าง ๆ รอบตัว เช่น จุดสังเกตกลลวงที่มิจฉาชีพใช้หลอกล่อประชาชนให้หลงเชื่อ ตลอดจนควรยกระดับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างสังคมไทยให้มีความปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับทุกคนมากยิ่งขึ้นต่อไป
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี