เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที “สานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน (ครั้งที่ 1 มิติเศรษฐกิจ)” ณ รร.แกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า นิยามโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) สังคมสูงวัยหรือสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อยู่ที่จุดตัดประชากร อายุ 60 ปี หรือ 65 ปี มีจำนวนเท่าใด สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด
แต่ถึงจะกำหนดนิยามสังคมสูงวัยที่จุดตัดเรื่องสัดส่วนประชากร เรื่องสังคมสูงวัยก็ไมได้มองแต่ผู้สูงอายุ ซึ่งจุดนี้คือกับดักที่เมื่อพูดถึงสังคมสูงวัยก็จะมักมุ่งไปดำเนินการแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ แม้กระทั่งเรื่องเศรษฐกิจที่มีคำว่าเศรษฐกิจสีดอกเลา (Silver Economy) เรื่องการออมและสวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ใจความหลักคือเมื่อสัดส่วนประชากรเปลี่ยนไป เด็กเกิดน้อยลง บางครอบครัวก็ไม่มีลูก แล้วจะไปกันอย่างไรต่อ ขณะเดียวกันวัยแรงงานทักษะก็ไม่เพียงพอต่อโลกที่เปลี่ยนไป
“ถ้าเรามองสังคมสูงวัยแบบแคบ เราจะมองที่ผู้สูงอายุ ผมขอย้ำว่าไม่ผิด แต่เราจะพลาดเป้าใหญ่ที่เราจะต้องยุ่งกับคนทุกช่วงวัย และทุกระบบเกี่ยวหมดเลยที่เผชิญปัญหาสัดส่วนประชากรที่เปลี่ยนไป มันเหมือนสมัยหนึ่งที่เรามีลูกมากจะยากจน ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องคนมีลูกมาก แต่ทั้งสังคมมันป้อแป้ไปหมด แต่วันนี้คนมันน้อย คนใหม่ๆ มาน้อย สังคมจะไปอย่างไร? ถ้าเรายังอยู่บนความรู้เดิม ทักษะเดิม การทำงานแบบเดิม” นพ.อำพล กล่าว
นพ.อำพล กล่าวต่อไปว่า อย่างเรื่องการปรับเปลี่ยนแผนการผลิต ก็เกี่ยวข้องกับทั้งเรื่องคน เรื่องปัจจัยทางสังคม แม้กระทั่งนโยบายทางการเมืองที่มากกว่าเรื่องสวัสดิการ 2-3 พันบาท ดังนั้นหากละเลยมิติอื่นๆ ก็จะมีลักษณะเหมือนบ้านหรือรถยนต์ที่มีสภาพเก่า ไม่สามารถไปแข่งขันกับใครได้ จึงต้องปรับปรุงให้บ้านหรือรถยนต์มีความทันสมัย ควบคู่กับการดูแลผู้สูงอายุไปด้วย
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงอายุในโครงสร้างประชากรไทยนั้นเป็นอัตราเร่งที่สูงมาก ปัจจุบันอยู่ที่เกือบร้อยละ 20 และในปี 2573 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า จะเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ซึ่งคนเหล่านี้ถูกบังคับให้รายได้ลดลงเพราะต้องเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี โดยหากดูกำลังแรงงาน หรือคนไทยที่ทำงานประมาณ 38.5 ล้านคน มีระบบที่ดูแลหลังเกษียณ แบ่งเป็นข้าราชการ 2-3 ล้านคน ประกันสังคม 10 ล้านคน ภาคเอกชนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกเพียงเล็กน้อย แต่ที่เหลือนอกจากนั้นคือไม่มีอะไรดูแล
แม้กระทั่งแรงงานในระบบประกันสังคม ณ ปัจจุบัน ก็ยังถูกจำกัดการคำนวณเงินสมทบไว้ที่เพดานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีเงินเดือนจริงเท่าใดก็ตาม ทำให้รายได้หลังเกษียณจะเหลือเพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังพอมีกิน ยกเว้นคนระดับบนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพค่อนข้างดี ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น ผู้สูงอายุจะไปพึ่งลูกหลาน ลำพังเด็กก็เกิดน้อยลง อีกทั้งไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าลูกหลานจะเลี้ยง
ครั้นจะหันมาพึ่งรัฐ เมื่อการบริโภคลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บได้ก็ลดลง เช่นเดียวกับเมื่อรายได้คนลดลง ภาษีเงินได้ (ภงด.) ก็จะเก็บได้น้อยลง ในขณะที่ภาระทางการคลังมีแต่จะเพิ่มขึ้น ทั้งรายจ่ายด้านสวัสดิการด้านการแพทย์ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนั้นหนี้สาธารณะอย่างไรก็ต้องเพิ่มขึ้น อีกด้านหนึ่ง ในขณะที่รายได้ของผู้สูงอายุลดลง แต่รายจ่ายไม่ลดลงโดยเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพ ก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 90 สถานการณ์จะยิ่งหนักขึ้นและการลดหนี้จะทำได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ ตนชอบหัวข้อที่มีคำว่าสานพลัง ซึ่งขอแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ 1.ด้านเศรษฐกิจ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขยายอายุการทำงาน แม้ที่ผ่านมาจะเห็นประเทศในทวีปยุโรปที่ประชาชนออกมาประท้วงเพราะรัฐบาลมีนโยบายขยายอายุเกษียณ แต่นั่นเป็นเพราะยุโรปเป็นสังคมแบบรัฐสวัสดิการ ในขณะที่ประเทศไทยไมได้มีสวัสดิการแบบนั้น แต่คนไทยอยากทำงาน ในแง่นี้การขายอายุเกษียณในไทยอาจทำได้ง่ายกว่า ใครที่มีความพร้อมก็สมควรให้เขาได้ทำงาน
อีกด้านหนึ่ง ต้องมีนโยบายจูงใจภาคเอกชนในการจ้างผู้สูงอายุด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาทักษะใหม่ให้กับผู้สูงอายุด้วย ซึ่งตนขอเรียกว่าทักษะตัวพ่อ (DAD) หมายถึงดิจิทัล (Digital) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูล (Data) เป็นทักษะแห่งโลกอนาคตและสามารถทำงานอยู่กับบ้านได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการเล่นสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) แต่เป็นการใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับบริการทางออนไลน์ในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุด้วย
นอกจากนั้นสังคมไทยก็ต้องเปิดใจ คนเก่งๆ จากต่างชาติ โดยเฉพาะทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (STEM) ต้องเปิดรับเข้ามา เหมือนกับสิงคโปร์ที่มีปัญหาสังคมสูงวัยเช่นกัน แต่เปิดรับแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศ อยากเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ จะหมอแขกหมอไทยก็รับไปทำงานหมด หรือจะสร้างตึกก็รับสถาปนิกไทยไปทำงาน ในขณะที่ประเทศไทย จำนวนแพทย์ไม่เพียงพอ ตามเกณฑ์ของ UN หมอ 1 คน ควรอยู่ที่ประชากร 1 พันคน แต่ของไทยอยู่ที่สัดส่วนหมอ 1 คน ต่อประชากร 2 พันคน
“เรื่องลงทุนก็สำคัญมาก โครงสร้างพื้นฐานถนนเราดีมาก แต่เรื่องอย่างอื่นไม่ลงทุนมานาน ผมว่าเราต้องลงทุนสำหรับรองรับสังคมผู้สูงอายุ อยู่สรรพสามิตผมทำเรื่องรถยนต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ที่จะมาติดสไลด์ให้คนยกขึ้น-ลง เราลดภาษีให้ เตรียมเสนอเป็น 0% เลย เพื่อที่จะให้อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นรอบรับสังคมผู้สูงอายุ แล้วลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นมาก ที่สำคัญไม่ใช่แค่ถนนหนทางหรือรถยนต์อย่างเดียว แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ด้านข้อมูล ซึ่งจะสำคัญกับการทำเรื่องดูแลสุขภาพทางไกล” นายเอกนิติ กล่าว
นายเอกนิติ กล่าวต่อไปว่า ในอดีตคนจาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เจ็บป่วยต้องเดินทางเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพทางไกล (Telehealth) ที่แพทย์สามารถทำได้ จึงจำเป็นอย่างมากในการลงทุนเรื่องนี้ 2.ด้านสังคม ระบบประกันสังคมต้องขยายเพดานให้ผู้ประกันตนสามารถส่งเงินสมทบได้มากขึ้น ไม่ใช่จำกัดฐานคำนวณไว้เพียงเงินเดือน 15,000 บาท ส่วนประชากรกลุ่มที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ ดูแลเลย ก็จำเป็นต้องมีการออมภาคบังคับ
3.ด้านท้องถิ่น มีตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น ที่นั่นท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลผู้สูงอายุ ในไทยก็ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไปดำเนินการ ต้องจับมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างประเทศไทยมีโรงเรียนอยู่จำนวนมาก แต่ปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลง อาจต้องเปลี่ยนจากโรงเรียนของเด็กมาเป็นโรงเรียนหรือสถานพยาบาลของผู้ใหญ่ และ 4.ด้านธุรกิจ อย่างภาคเกษตรก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรแม่นยำและอาหารสุขภาพ แต่ต้องให้ภาคเอกชนนำเพราะภาครัฐไม่มีทางรู้ได้ว่าตลาดต้องการอะไร
ส่วนภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็หนีไม่พ้นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ควบตู่ไปกับการดึงแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศเข้ามา ในขณะที่ภาคบริการ ที่ผ่านมายังเน้นการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ซึ่งจริงๆ แล้วการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness) ประเทศไทยมีชื่อเสียงมาก แต่การท่องเที่ยวรูปแบบนี้เป็นการเข้ามาของนักท่องเที่ยวฐานะร่ำรวย จะทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกับท้องถิ่น
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า แม้สังคมสูงวัยจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์นี้ทั้งที่ฐานะยังไม่ร่ำรวย ที่น่าห่วงคือหากไล่เรียงสถานการณ์ของประเทศไทยประกอบกับวิกฤติต่างๆ ที่เข้ามา เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 วิกฤติซับไพรม์-แฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 และวิกฤติไวรัสโควิด-19 ปี 2563 จะพบว่า เมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีแต่ชะลอตัวลง นี่คือสัญญาณของปัญหากับดักรายได้ปานกลาง
เมื่อหันไปดูต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ประกาศว่าจะกลายเป็นประเทศร่ำรวยในปี 2593 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไทยคือเสือตัวที่ 5 แต่วันนี้คนอื่นแซงเราไปหมดแล้ว ต่อไปก็ต้องไปแข่งกับเวียดนาม ในขณะที่ด้านแรงงาน แม้ประเทศไทยจะมีอัตราการว่างงานต่ำมากติดอันดับโลก สะท้อนการดึงกำลังแรงงานในเชิงปริมาณได้ดี แต่เมื่อดูเป็นรายภาค พบว่า ในภาคเกษตรที่มีคนอยู่ถึงร้อยละ 30 รายได้ต่อหัวกลับต่ำมาก คืออยู่ที่ 52,819 บาทต่อปี
น้อยกว่าภาคบริการที่มีคนอยู่ร้อยละ 54 รายได้ต่อหัว 363,341 บาทต่อปี และภาคอุตสาหกรรมมีคนอยู่ร้อยละ 16 รายได้ต่อหัว 561, 636 บาทต่อปี เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเกณฑ์ของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วประชากรต้องมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยประมาณ 360,000 บาทต่อปีขึ้นไป ดังนั้นรายได้ที่ต่ำของคนในภาคเกษตรซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของแรงงานไทยทั้งหมด ทำให้ค่าเฉลี่ยในภาพรวมไม่ขึ้นไป
นอกจากนั้น คนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานอกระบบที่รายได้ไม่แน่นอนและไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง หรือแม้แต่แรงงานในระบบที่เมื่ออายุเข้าเลข 5 ก็ทยอยลาออกกันแล้ว อย่างประกันสังคมที่ให้ผู้ประกันตนเริ่มเบิกเงินได้เมื่ออายุครบ 55 ปี ซึ่งจากที่เคยสอบถามว่าเหตุใดอยากลาออกและเบิกเงิน ก็ได้คำตอบว่าต้องการนำเงินไปโปะหนี้เก่าที่มีอยู่แล้วหลังจากนั้นค่อยไปตายเอาดาบหน้า
อีกทั้งเมื่อดูวิธีคิดของแรงงานในประเทศไทย ยังมองว่าชีวิตในอดีต ปัจจุบันและอนาคต วนเวียนไป-มาไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นพอมีปัญหาก็แก้กันทีหนึ่ง แต่โลกอนาคตนั้นน่ากลัวมาก ไล่ตั้งแต่เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ผ่านพ้นยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ไปแล้ว และเข้าสู่ยุคที่การต่อสู้แข่งขันเข้มข้นขึ้น เช่น สินค้าจีนเมื่อเข้าตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปไม่ได้ ก็มาเทลงที่ตลาดไทย ผู้ประกอบการไทยก็เดือดร้อนกันหมด
เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า โลกยุคใหม่ไม่ต้องการคนมาก เทคโนโลยีบวกกับการกีดกันทางการค้าทำให้คนต้องเก่งขึ้น ต้องปรับปรุงทักษะใหม่ๆ เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทำให้ชีวิตแบบเดิมไม่สามารถคิดได้ว่าพรุ่งนี้จะคล้ายกับเมื่อวานแบบเดิมได้ เพราะทุกวันคือการเปลี่ยนแปลง แต่เราไม่ได้คิดว่าแล้วตัวเราจะต้องเปลี่ยนอย่างไร
“อีกส่วนที่ต้องพูดคือเรื่องของการเตรียมความพร้อมกับการเกษียณอายุ เป็นเรื่องอันตรายพอกัน ในขณะที่เราเห็นแรงงานมีอายุขัยเฉลี่ยที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้น แต่พฤติกรรมกลับก่อหนี้ตั้งแต่อายุน้อย กลายเป็นไม่ได้มีการเตรียมความพร้อม ผลการสำรวจพบว่า 60-80% ของแรงงานไม่ได้มีการวางแผนเกษียณ หรือมีการวางแผนแต่ทำไมได้ตามเป้า นั่นก็แปลว่าการเงินจะมีปัญหาอย่างมาก” นายนณริฏ ระบุ
นายนณริฏ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันรายจ่ายผู้สูงอายุ 13.5 ล้านคน รวมกันอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท แต่ในปี 2576 จะขึ้นไปอยู่ที่ 2.8 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ต่อปี แต่ก็หมายความว่าผู้สูงอายุจะต้องมีกำลังจ่ายให้ได้ด้วย ซึ่งในความเป็นจริงไม่ง่าย ดังนั้นความท้าทายในเรื่องเศรษฐกิจผู้สูงอายุจะอยู่ที่ 2 ฝั่ง คือจะทำอย่างไรให้ฝั่งธุรกิจผลิตสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ มีคุณภาพและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก แต่อีกฝั่งจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอ อย่างภาคเกษตรที่พูดถึงเกษตรแม่นยำก็ยังเป็นเพียงมิติเดียว ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกหรือไม่
หรือแนวโน้มการทำงานในอนาคต แม้จะทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่แต่ก็ไม่ได้มีสถานะของพนักงานที่ได้รับสิทธิต่างๆ คุ้มครอง และไม่มีสหภาพแรงงาน ซึ่งรูปแบบการทำงานประเภทนี้เรียกว่า Gig Worker ทำอย่างไรจะให้แรงงานมีอำนาจต่อรอง ผู้สูงอายุอีกส่วนหนึ่งอาจออกไปเป็นแรงงานอิสระ สำหรับนโยบายที่ตนเสนอแนะ เช่น ค่าจ้างแรงงานสูงอายุ ค่าจ้างรายชั่วโมง การขยายอายุเกษียณ และอาจต้องควบคุมราคาสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญกับการดึงพลังผู้สูงอายุเท่าที่ควร
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี