มองไอเดีย"รมว.แรงงาน" จ่าย 3,000 ต่อเดือนยังไม่จูงใจให้คนอยากมีลูก โยนคำถามกระตุ้นการเกิดจำเป็นหรือไม่?
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแนวคิดเพิ่มเงินค่าสงเคราะห์บุตร สำหรับผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม มาตรา 33 ที่เป็นชาวไทย เป็น 3,000 บาทต่อเดือน ต่อลูก 1 คน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเด็กมีอายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ โดยหวังว่าจะกระตุ้นให้ประชาชนมีลูกเพิ่มขึ้น ว่า นโยบายมีประโยชน์ในแง่ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ที่มีลูกแล้ว แต่ไม่น่าจะช่วยจูงใจให้คนอยากมีลูกมากขึ้น
ซึ่ง ณ ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก 1 คน จะอยู่ที่ 7,000 บาทต่อเดือน ในจำนวนนี้เกือบครึ่งรัฐสนับสนุนแล้ว ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองควักกระเป๋าจ่ายเองประมาณ 3,500 บาท ดังนั้นเงินอีก 3,000 บาทต่อเดือนก็จะช่วยได้เกือบทั้งหมดในการเลี้ยงดูลูกที่เป็นเด็กเล็ก ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายได้มาก แต่ที่บอกว่าไม่น่าจะช่วยจูงใจให้คนอยากมีลูก เพราะชีวิตเด็กคนหนึ่งไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากอายุ 7 ปีเป็นต้นไป ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา
ส่วนหากถามว่าจะต้องมีนโยบายอะไรมาประกอบอีกบ้าง หากไปถามนักวิชาการที่ศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศ ก็น่าจะพูดตรงกันว่าแทบจะไม่มีนโยบายใดเลยที่ช่วยเพิ่มอัตราการเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศอื่นๆ ที่พยายามใช้หลากหลายนโยบาย เช่น เงินโบนัสสำหรับเด็กแรกเกิด (Baby Bonus) การจ้างงานที่ยืดหยุ่น เป็นต้น ก็ไม่ได้ส่งผลมากนัก แต่หากจะทำก็ต้องมีนโยบายที่ครอบคลุม
“ตอนนี้คิดว่าแต่ละบ้านเขาไม่ได้เน้นเรื่องปริมาณ เขาไมได้อยากมีเยอะอยู่แล้ว ส่วนใหญ่กังวลกันเรื่องคุณภาพ แล้วการจะเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพในประเทศไทยค่อนข้างที่จะต้องควักเงินตัวเองสูง คือถ้าไปพึ่งสวัสดิการของรัฐ สวัสดิการทางการศึกษา บริการด้านสาธารณสุขของรัฐที่ไม่ได้แพงมาก คิดว่าเรื่องคุณภาพอาจยังด้อยอยู่ ฉะนั้นการที่จะให้มีคุณภาพได้ คิดว่าคนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยมั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพได้” รศ.ดร.มนสิการ กล่าว
รศ.ดร.มนสิการ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นนโยบายจึงต้องเน้นว่าทำอย่างให้ให้พ่อแม่มั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ มีชีวิตที่ดีกว่าพ่อแม่ได้โดยที่ไม่ต้องร่ำรวยเป็นเศรษฐี ส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติมีค่าใช้จ่ายปีละเป็นล้านบาท แต่เรื่องนี้เป็นภาพใหญ่ที่ไม่คอยแน่ใจว่ามีนโยบายอะไรที่จับต้องได้ เพราะเป็นเรื่องคุณภาพบริการของภาครัฐเป็นหลักที่ทำให้เกิดภาพนี้
ประการต่อมา ครอบครัวหนึ่งเมื่อมีลูกก็ต้องการสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงาน (Work-Life Balance) ไม่ต้องถึงขั้นลาออกจากงานหรือเสียสละชีวิตเพื่อเลี้ยงดูคนคนหนึ่ง ในส่วนนี้พอจะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น ผู้หญิงลาคลอดได้นานขึ้น ขณะที่ผู้ชายก็สามารถลางานไปช่วยเลี้ยงลูกได้ นโยบายแบบนี้ทำให้สังคมเห็นว่าชายและหญิงมีบทบาทเท่าเทียมกันในการเลี้ยงลูก นโยบายนี้มีผลการศึกษาในต่างประเทศ ที่พบว่าการให้สามีลางานไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูก ส่งผลให้ผู้หญิงตัดสินใจมีลูกคนที่ 2 มากขึ้น
ส่วนคำถามว่า ในหลายประเทศแม้จะมีรัฐที่วางระบบสวัสดิการสังคมไว้ดีมาก แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ อะไรคือสาเหตุ ก็ต้องบอกว่า เรื่องนี้มีเรื่องปัจจัยด้านค่านิยมเข้ามาด้วย ซึ่งตนก็เคยทำการศึกษาเรื่องมุมมองว่าด้วยการมีบุตร โดยคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์หรือเจ็นเอ็กซ์ แทบไม่เคยตั้งคำถามเลยด้วยซ้ำว่าตนเองอยากมีลูกหรือไม่ เหมือนกับเป็นค่าที่ตั้งไว้ (Default) ว่าเมื่อถึงช่วงอายุหนึ่งก็ต้องมีลูก ในขณะที่คนรุ่นเจ็นวายลงมาจะรู้สึกว่าตำถามนี้สามารถตั้งได้
“การไม่มีลูกก็เป็นแนวทางที่คนยอมรับมากขึ้น การเห็นสื่อต่างๆ มากขึ้น ก็เห็นว่ามีคนที่ก็ไม่มีลูกอยู่เยอะ เขาใช้ชีวิตอย่างไร เห็นภาพมากขึ้นว่าถ้าไม่มีลูกมันก็เป็นแนวทางที่มีชีวิตแบบนี้ได้ ซึ่งเขาก็เห็นแล้วชอบด้วย แบบว่าไปท่องเที่ยวกันสองสามี-ภรรยา มีเวลาที่จะทำโน่นทำนี่ เลี้ยงสัตว์เลี้ยงแก้เหงาอะไรแบบนี้ เขานึกภาพออก ฉะนั้นก็ไม่ต้องมี” รศ.ดร.มนสิการ ระบุ
รศ.ดร.มนสิการ ยังกล่าวอีกว่า ในความเห็นส่วนตัว ตนก็ไม่รู้ว่าจะส่งเสริมการเกิดไปเพื่ออะไร ตนไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้มีคนเกิดเยอะๆ ที่บอกว่าต้องเพิ่มอัตราการเกิดเพื่อจะแก้ปัญหาสังคมสูงวัย ก็ต้องถามว่าแล้วคนที่เกิดในวันนี้จะไปแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร เพราะสังคมสูงวัยคือปัญหาที่เกิดในช่วง 1-2 ปีนี้ แต่เด็กที่จะเกิดกว่าจะเติบโตก็ต้องรอไปอีก 30 ปีข้างหน้า แต่ ณ เวลานั้น เราอาจไม่ต้องการให้คนเหล่านี้มาช่วยแล้วก็ได้
ขนาดปัจจุบันโลกยังมีเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำงานแทนคนได้เป็นสิบคน ในอนาคตเราอาจไม่ต้องการคนมากๆ เพื่อรักษาผลิตภาพให้เท่าเดิมก็ได้ ส่วนคำถามว่า หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์ที่หลายคนจะกังวลทั้งกำลังการบริโภคและกำลังแรงงานที่ลดลง ซึ่งอาจทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง ตนอยากให้ลองคิดอีกมุมหนึ่ง อย่างประเทศไทยมีการคาดการณ์กันว่า หากไม่ดำเนินการใดๆ ในปี 2643 (ค.ศ.2100) จะมีประชากรเหลือประมาณ 35 ล้านคน ตนก็ชวนคิดว่าแบบนั้นแล้วจะเป็นอย่างไร หากมี 35 ล้านคน แล้วรายได้ต่อหัวสูง ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ส่วนที่กังวลกันอีกว่าหากไม่ทำอะไรเลยอาจสูญพันธุ์ได้ ตนเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีวันปล่อยให้ตนเองสูญพันธุ์ และเชื่อว่าหากเป็นยุคสมัยที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อนั้นคนก็จะอยากมีลูกเอง ลองนึกภาพสังคมที่คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ได้อยู่กันแบบเบียดเสียดแออัด แต่ปัจจุบันนั้นไม่ใช่ วันนี้การแข่งขันเข้มข้นมาก ดังนั้นการมีลูกลำพังแค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ส่วนคำถามว่า แล้วในช่วง 20-30 ปีนี้ ซึ่งหลายประเทศในโลกรวมถึงไทยต้องเจอกับสถานการณ์ที่เรียกว่า สึนามิสูงวัย หมายถึงจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นสูงมากเหมือนกับคลื่นยักษ์ที่พัดถาโถม จะรับมือหรือประคับประคองอย่างไร
ตนเห็นว่า ณ เวลานี้เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน คือมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่หลังจากนั้นก็จะผ่านไป ดังนั้น ณ ปัจจุบัน นโยบายที่ควรจะเป็นคือการใช้ทรัพยากรเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการขยายอายุเกษียณออกไป เรื่องนี้ก็ช่วยได้มาก อย่างตนก็รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เปรียบเทียบระหว่างนโยบายส่งเสริมการเกิดกับนโยบายขยายอายุเกษียณ พบว่าอย่างหลังช่วยได้มากกว่าอย่างแรก
“ขยายอายุเกษียณ แค่คุณขยายจาก 60 เป็น 65 ปีได้ แค่นั้นก็ช่วยได้เยอะแล้ว ไปเน้นเรื่องเราจะดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ดูว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุยังสามารถ Active (กระฉับกระเฉง) ให้ได้นานที่สุด ไม่ได้โดนบังคับออกโดยระบบ” รศ.ดร.มนสิการ กล่าวในตอนท้าย
หมายเหตุ : ข้อมูลจากบทความ “ก้าวข้ามความต่าง Generation เพื่อทำงานร่วมกัน” โดยกรมการจัดหางานของประเทศไทย ได้แบ่งคนตามช่วงวัยไว้ดังนี้ 1.เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หมายถึงคนที่เกิดช่วงปี 2489-2507 2.เจ็นเอ็กซ์ (Gen X) หมายถึงคนที่เกิดช่วงปี 2508-2519 3.เจ็นวาย (Gen Y) หรือบ้างก็เรียกว่า มิลเล็นเนียล (Millennial) หมายถึงคนที่เกิดช่วงปี 2520-2537 4.เจ็นซี (Gen Z) หรือเจนแซด หมายถึงคนที่เกิดช่วงปี 2538-2552 และ 5.เจ็นอัลฟา (Gen Alpha) หมายถึงคนที่เกิดช่วงปี 2553-2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ไอเดียเด็ด!‘พิพัฒน์’ผุดมาตรการจูงใจแรงงานไทย‘มีลูกเพิ่ม’ จ่ายเดือนละ 3,000 บาท 7 ปี
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี