กสม.จี้รัฐบาล
เยียวยาเหยื่อตากใบ-จับคนทำผิด
‘ทวี’โยน‘อ้วน’แจงขยายอายุความ
กสม.ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐเยียวยาสลายชุมนุมตากใบ จี้เร่งหาคนผิดลงโทษ ทำความจริงให้กระจ่าง ดันแก้กฎหมายเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดไม่มีอายุความ ด้าน สว.อังคณา ชวนนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ มานั่งฟังความทุกข์ทรมานของแม่ๆ ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ ฆาตกรรมหมู่ที่ “ตากใบ”
วันที่ 23 ตุลาคม 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบระบุว่า ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547จะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 นี้ โดยระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุมในครั้งนั้นถูกดำเนินคดีจากการกระทำความผิดที่เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตรวม 85ราย แต่อย่างใด กสม. เห็นว่า การดำเนินคดีที่ล่าช้า และปล่อยปละละเลยจนระยะเวลาล่วงผ่านมาเกือบ 20 ปี เป็นการซ้ำเติมความสูญเสียของครอบครัวและญาติผู้เสียชีวิต ผู้สูญหาย ผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบอย่างไม่อาจยอมรับได้ การที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษ และไม่สามารถทำความจริงให้กระจ่างได้ ถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหาย และเป็นการละเมิดต่อ “สิทธิในการรู้ความจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของเหยื่อ” ตามกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้ให้การรับรอง
กสม. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่ออำนวยความยุติธรรมกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบ ดังนี้ 1. เร่งนำตัวผู้ต้องหาในคดีนี้ทุกรายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อมิให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดโดยอาศัยช่องว่างจากการดำเนินคดีล่าช้าและการขาดอายุความของคดี 2. ให้มีการเยียวยาความเสียหายที่มิใช่เฉพาะตัวเงิน การเยียวยานี้หมายรวมถึงการทำความจริงให้ประจักษ์ โดยญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายต้องได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างสมบูรณ์และครบถ้วนอันเป็นการให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของเหยื่อและผู้สูญเสีย 3. ผลักดันแก้ไขกฎหมายให้คดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิต เช่นคดีตากใบ เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ
กสม. หวังว่าในโอกาสที่รัฐบาลไทยได้รับเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญ คือ การเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council – HRC) วาระปี 2568 – 2570 รัฐบาลจะได้ให้ความสำคัญกับการอำนวยความยุติธรรมและการเยียวยาความเสียหายกรณีการสลายการชุมนุมที่ตากใบในทุกรูปแบบอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยไม่ปล่อยให้ประชาชนผู้เสียหายได้รับความไม่เป็นธรรมและหมดความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อขยายอายุความของคดีตากใบ ว่า เรื่องนี้ต้องไปถามรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง(นายภูมิธรรม เวชยชัย) เพราะการจะออกกฏหมายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องมีการศึกษาว่าทำได้หรือไม่
เมื่อถามว่า เวลาที่เหลืออีก 2 วัน ก่อนที่คดีหมดอายุความ จะสามารถออก พ.ร.ก.ได้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อายุความเป็นกฎหมาย แล้วพ.ร.ก.จะใหญ่กว่ากฎหมายได้อย่างไร ย้ำว่าต้องถามรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แต่กระทรวงยุติธรรมไม่มีประเด็นนี้
เมื่อถามว่า ที่พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาว่าหวังจะมีปาฏิหาริย์ หมายความว่าอย่างไร พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เมื่อเราตั้งใจทำงานอะไรด้วยความพยายามก็อาจจะประสบผลสำเร็จได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีสัญญาณอะไร เพียงแค่รับทราบจากฝ่ายสืบสวนว่า มีการไปพิสูจน์ทราบถึงที่อยู่แล้ว แต่ยังไม่พบตัว ตอนนี้ยังไม่ได้หมดหวัง ยังมีเวลา ต้องให้เขาทำงานอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า กังวลว่าจะกระทบกับฐานเสียงของพรรคประชาชาติ ในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อย่าพึ่งกังวลเรื่องฐานเสียง เราต้องกังวลเรื่องความยุติธรรม เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม สำหรับญาติผู้เสียหาย การเยียวยาก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่เขาต้องการคือไม่ต้องการให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่ในการรื้อฟื้นคดีก่อนขาดอายุความก็มีการมาเริ่มเอาในปีสุดท้ายคือช่วงเดือนมกราคม 2567 ความพยายามของกระบวนการยุติธรรม ก็ทำไปจนกระทั่งมีหมายจับ
เมื่อถามถึง กรณีที่อาจจะมีผู้ต้องหาหลบหนีไปประเทศลาว พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การตามจับผู้ต้องหาในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่นกรณีของแป้งนาโหนด ที่กระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปช่วยสนับสนุนข้อมูล แต่ในกรณีของคดีตากใบ ประชาชนเกิดข้อสงสัยว่าผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการ ผู้บังคับบัญชาควรนำตัวมาให้
เมื่อถามว่า ทางภาคประชาสังคมอาจจะนำเรื่องนี้ไปฟ้องต่อศาลระหว่างประเทศ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนต้องขอชื่นชมประชาชนทุกภาคส่วน เพราะเรื่องความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ รัฐบาลไม่มีความกังวลแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลไม่ได้ช่วยเหลือใคร และไม่มีอคติในการช่วยเหลือใคร อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเรายึดหลักว่าใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเป้าหมายหลักสุดท้าย
ทางด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นถึงข้อเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ต่ออายุคดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ที่จะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ โดยระบุเพียงสั้นๆว่าขอไปก่อนนะคะ
นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า #ตากใบ: ทุกฝ่ายควรยุติการสร้าง # อคติเชิงลบ ต่อครอบครัวผู้เสียหาย อยากชวนนายกไปนั่งฟังความทุกข์ทรมานของแม่ๆ ที่สูญเสียลูก ทหาร-ตำรวจไม่ต้องไป นายกควรรับฟังความเศร้าสะเทือนใจของเหยื่อด้วยตัวเอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี