ข่าวร้อนแรงในสัปดาห์นี้กระแสยังไม่พ้นกรณี เครือบริษัทดังถูกยึดทรัพย์และออกหมายจับผู้บริหารในข้อหาฉ้อโกงประชาชน กฎหมายเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ รวมถึงข้อหาอื่น
นอกเหนือจากคดีที่มีโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นแล้ว มาตรการที่ออกมาอย่างรวดเร็ว คือการค้น ยึดอายัดทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การกระทำความผิดทางอาญาที่เป็นอาชญากรรมตามความผิดมูลฐาน ซึ่งปัจจุบันมี 21 กลุ่มข้อหาหลัก โดยมีกลุ่มข้อหาสำคัญ อาทิ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนความผิดเกี่ยวกับการพนัน ความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นต้น
ซึ่งมาตรการยึดทรัพย์ดังกล่าว ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์มีช่องทางที่จะพิสูจน์และคัดค้านเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ได้ โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า ตนเองเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือรับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาสุจริตตามสมควร หากพิสูจน์ไม่ได้ทรัพย์สินจะตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมาย
ประเด็นที่หลายคนสงสัยต่อมา หากกรณีความผิดกลุ่มข้อหาฉ้อโกง ประชาชน เมื่อผู้ต้องหาถูกยึดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงินแล้ว การที่ผู้เสียหายไปดำเนินคดีแพ่งคู่ขนาน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินแยกราย หรือเป็นลักษณะดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ก็ตาม จะเป็นการดำเนินการควบคู่กับการดำเนินคดีอาญาที่มีประสิทธิภาพ จริงหรือไม่
ประเด็นดังกล่าวหากมองเพียงแค่ผลคดีแล้ว อาจจะดูเหมือนประสิทธิมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากกว่าการรอผลคดีอาญา ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลานาน
แต่หากมองถึงโครงสร้างภาพรวมเรื่องการเยียวยาความเสียหาย หรือการบังคับคดีแล้ว จะเห็นได้ว่าการยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อกลุ่มผู้ต้องหาจะไม่มีประโยชน์ใดๆ เลยเนื่องจาก เมื่อทรัพย์สินถูกยึดและอายัดตามกฎหมายฟอกเงินไว้แล้ว ตัวเจ้าหนี้ในคดีแพ่งก็ไม่สามารถที่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลย ไปขายทอดตลาดได้อยู่ดี ทั้งนี้เคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาตัดสินในประเด็นเรื่องนี้เอาไว้แล้วคือ
คำพิพากษาฎีกาที่ 4468/2564 ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดิน แล้ว ดังนั้นนับตั้งแต่ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน สิทธิเรียกร้องของจำเลยดังกล่าวจึงไม่อาจยึดเพื่อบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายังสามารถบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยภายในระยะเวลาบังคับคดี หรือหากโจทก์เห็นว่าตนเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวหรือตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โจทก์ต้องไปดำเนินการในคดีฟอกเงินตามขั้นตอนของกฎหมาย
ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวประกอบกับหลักโครงสร้างกฎหมายจะเห็นได้ว่าในคดีที่มีความเสียหายจำนวนมากและมีดำเนินการยึด อายัดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงินไว้แล้วนั้น ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องไปยื่นฟ้องคดีแพ่งอีกแต่อย่างใด เพราะถึงแม้ผู้เสียหายจะยื่นฟ้องคดีแพ่งและมี
คำพิพากษาออกมา ก็ไม่สามารถที่จะใช้ผลแห่งคำพิพากษามายึด อายัดทรัพย์สิน ที่ถูกยึดไว้ตามกฎหมายฟอกเงินได้อยู่ดี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี