‘ตากใบ’หมดอายุความ
‘ภูมิธรรม’ชี้ทุกอย่างจบ
ออกพรก.ต่ออายุไม่ได้
‘อิ๊งค์’ขอโทษประชาชน
ตัวแทนเครือข่าย The Patani และ 45 องค์กร ตามบี้จนนาทีสุดท้ายให้รัฐบาลจับจำเลยคดีตากใบ พร้อมยื่นหนังสือต่อกมธ.สันติภาพชายแดนใต้จี้“ถอดยศ-งดบำนาญ”คนที่หนีคดีทั้งหมด “ภูมิธรรม”สั่งแม่ทัพ 4 คุมพื้นที่เข้ม ด้าน “นิพนธ์ บุญญามณี”ซัดยุติธรรมไทยล้มเหลว ปล่อยคดีตากใบขาดอายุความ ชี้ไม่สร้างความเชื่อมั่น อย่าหวังแก้ไฟใต้
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนประชุมมีตัวแทนเครือข่าย The Patani และ 45 องค์กร ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงประธานในที่ประชุม ซึ่งมีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.ขอให้นายกรัฐมนตรีกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาส ให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้ 2.ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามหมายศาล โดยกำชับไปยังพนักงานปกครอง ให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาส ให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้ 3.ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามหมายศาล โดยกำชับไปยังสถานีตำรวจทุกแห่ง ให้ดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 7 คนโดยเร่งด่วน และส่งตัวจำเลยขึ้นสู่ศาลนราธิวาส ให้ทันในการประชุมคดี วันที่ 25 ตุลาคม2567
4.ขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศึกษากรณีที่เกิดขึ้น และเสนอแนวทางสร้างสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง ในการแก้ไขปัญหาตากใบและปัญหาอื่น ๆ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.หากรัฐล้มเหลวในการนำตัวจำเลยขึ้นสู่ศาล ซึ่งจะเป็นตราบาปหนึ่ง แต่รัฐบาลยังสามารถดำเนินการต่อไปด้วยกลไกอื่นได้ เช่น ขอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความจริง มีอำนาจหน้าที่คล้ายกับคณะกรรมการ Truth and Reconciliation ของแอฟริกาใต้ แต่ในขอบเขตที่แคบกว่ามาก
เนื่องจากสามารถเชิญจำเลยทั้ง 7 และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นอดีตข้าราชการ มาให้ความจริงแก่คณะกรรมการฯ ว่า มีบทบาทอย่างไรในกรณีตากใบ เป็นสักขีพยานในเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นบ้าง หากยอมรับว่าได้กระทำความผิด ก็สามารถขอโทษและชดเชยต่อผู้ถูกกระทำหรือต่อญาติผู้ถูกกระทำได้
สำหรับกรณีที่จำเลยผู้ใดไม่ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการอิสระฯ คณะกรรมการฯ สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณางดเงินบำนาญหรือดำเนินการถอดยศจำเลยผู้นั้นได้ และขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้หน่วยราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับญาติมิตรของผู้เสียชีวิตในกรณีตากใบ ในการจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยอาจรวมถึงพิธีละหมาดฮายัดเพื่อขอพรและขอสันติสุข ทั้งนี้ สามารถปรึกษาหารือกับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในการจัดหาสถานที่ และการจัดให้มีสัญลักษณ์ที่เหมาะสมด้วย
การประชุมหนนี้มีการเชิญ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหมเข้าร่วมด้วยแต่ไม่ได้มาเนื่องจากติดภารกิจ และมอบหมาย พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาค 4 เข้ามาชี้แจงแทน
พล.ต.ไพศาล เผยว่า ในฐานะผู้บังคับบัญชา ได้เน้นย้ำว่า ให้ดูแลในพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุ และส่วนการกระทำต่าง ๆ ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมายที่จะทำได้ ทั้งนี้ต้องยกระดับความปลอดภัยให้สูงขึ้น
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทยและอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ได้กล่าวถึงกรณี “เหตุการณ์ตากใบ” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี2547 ช่วงที่ นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี โดยในปัจจุบันมีบุคคลสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในยุคนั้นก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และในขณะที่บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน และกำลังปล่อยให้คดีขาดอายุความทำให้เกิดข้อสงสัยถึงความจริงใจที่จะแก้ปัญหาและความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมไทย แม้ศาลจะได้ประทับรับฟ้องคดีไว้แล้ว
นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรมไทย มีการเลือกปฏิบัติ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบยุติธรรมลดลงอย่างมาก การที่รัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ย่อมทำให้ความไว้วางใจในรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมเสื่อมลง และส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะยิ่งยากขึ้นและซับซ้อนมากกว่าเดิม หากประชาชนไม่รู้สึกว่าพวกเขาได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง
“เหตุการณ์ตากใบเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อสร้างความเสมอภาคและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเพราะประเด็นความยุติธรรม ความเสมอภาคความเท่าเทียมเป็นปัญหาพื้นฐานของสังคมพหุวัฒนธรรม” นายนิพนธ์ กล่าว
ขระที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงถึงคดีตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ว่า คดีนี้เกิดขึ้นประมาณ 20 ปีที่แล้ว ตนรู้สึกเสียใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลได้แสดงความเสียใจไม่ว่ารัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยได้ชดเชยเยียวยาไปแล้ว ตนในฐานะนายกฯก็รู้สึกเสียใจและขอโทษในนามรัฐบาล และจะพยายามทำให้ดีที่สุด ส่วนตัวกฎหมาย ไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่งคำถามให้กฤษฎีกา ตอนแรกเรื่องคดีนี้ ตั้งแต่ 1ต.ค.ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)และรัฐบาลได้เร่งรัดเรื่องนี้ เมื่อเช้าได้คุยในเรื่องกฎหมายว่าทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะการออกพระราชกำหนด (พรก.) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ทางกฤษฎีกาเห็นว่า กรณีนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการตรา พรก.ในส่วนเนื้อหาต่ออายุความ เป็นการเฉพาะ ไม่ได้มุ่งขยายอายุความทั่วไป จึงไม่สอดคล้อง และอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ ฉะนั้น ไม่เข้าเกณฑ์ในการออก พรก.ตามรัฐธรรมนูญ
นายกฯ กล่าวอีกว่า สุดท้ายแล้วขอให้ทุกคนและหน่วยงานรัฐ ตระหนักถึงความรุนแรง ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก อยากให้เกิดความสงบสุข ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง เราจะพยายามอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่าคดีที่จะหมดอายุความ รัฐบาลเตรียมรับมือเหตุการณ์ที่จะเกิดอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ในเรื่องเหตุการณ์ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อมีหมายศาล ทางตร.และความมั่นคงก็ทำเต็มที่ ดูแลค้นหา และไม่อยากให้ความรุนแรงอย่างกรณีที่เกิดล่าสุด แม้จะไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บแต่ไม่อยากให้โยงเรื่องความรุนแรงนี้กับการเมือง และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เรื่องความปลอดภัยของทุกคนในประเทศมีความสำคัญ เราดูแลอย่างเต็มที่ เมื่อถามว่า 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ไว้วางใจแล้ว จะสื่อสารอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้น่าเสียใจ ตนรู้สึกเสียใจและ20ปีที่ผ่าน นายกฯที่ผ่านๆมาก็รู้สึกเสียใจ และแสดงความรับผิดชอบในส่วนที่ทำได้ ตนจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเช่นกัน ความสงบสุขต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย อยากให้ทุกคนสบายใจและบ้านเมืองสงบสุข เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่จะเกิดการต่อต้านในพื้นที่ นายกฯ กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลนายทักษิณ มีความรับผิดชอบเกิดขึ้นแล้ว ตนจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในทุกๆพื้นที่ ถามว่ากังวลมากมั้ย มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของประเทศชาติ ซึ่งความรุนแรงไม่อยากให้โยงประเด็นการเมืองในทุกเรื่อง กรณีตากใบได้รับการเยียวยา ดูแลปัญหาดูแลจิตใจ ในเรื่องอื่นๆ ไม่อยากให้อะไรที่ไม่เกี่ยวกับคดีนี้เป็นตัวเสริมให้เกิดความรุนแรง เมื่อถามว่ารัฐบาลต้องเยียวยาเพิ่มเติมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องไปดูกัน เพราะทุกครอบครัวได้รับการเยีวยาไปแล้ว พูดคุยได้ ทุกพื้นที่ของประเทศไทย ก่อนจะมีเรื่องนี้ ตนต้องไปทุกพื้นที่อยู่แล้ว ส่วนกรณีพล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาค4และอดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยนั้น เราให้ออกจากพรรคแล้ว และยังไม่มีใครได้คุยกับ พล.ท.พิศาล เลย อะไรที่เจรจาพูดคุยก็ทำอยู่แล้ว และต้องดำเนินการตามกฎหมาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี