‘อุบัติเหตุบนถนน’ปัจจัยทำเด็กเสียชีวิต ‘กสม.’ยกเคส‘รถบัสมรณะ’จี้รัฐบาลตั้งเป็นวาระเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2567 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในการแถลงข่าวประจำปีของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์รถทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี ประสบอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2567 ส่งผลให้นักเรียนและครูได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) จึงได้จัดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองเด็กตามหลักสิทธิมนุษยชนเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสำเนาแจ้งไปยังประธานรัฐสภา เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา สรุปได้ ดังนี้
จากการรวบรวมข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์โศกนาฏกรรมรถทัศนศึกษาดังกล่าวเกิดจากอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนของรถชำรุดและมีประกายไฟ ทำให้เชื้อเพลิงหลักของรถคือก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) ติดไฟและไหม้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรถคันดังกล่าวถูกดัดแปลงเพื่อติดตั้งถังก๊าซ CNG มากกว่าจำนวนที่จดแจ้งต่อกรมการขนส่งทางบก อีกทั้งคนขับรถไม่ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในรถและประตูฉุกเฉินไม่สามารถเปิดออกได้
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า อุบัติเหตุทางถนนกระทบต่อสิทธิและความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของทุกคน โดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) บัญญัติให้เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดและสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองในทุกรูปแบบเพื่อให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งคณะกรรมการประจำ CRC มีข้อกังวลเกี่ยวกับอุบัติเหตุและการบาดเจ็บทางถนนในประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเสียชีวิต จึงแนะนำให้รัฐดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างนโยบายการดูแลเด็ก และการสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยของเด็กแก่ครอบครัว โรงเรียน และสังคมโดยรวม อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 พบว่า มีรถรับส่งนักเรียนและรถทัศนศึกษาเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง แม้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน รวมถึงมีกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติและขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง
จึงมีรถรับส่งนักเรียนจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย บางส่วนดัดแปลงสภาพและนำมาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย จนทำให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย กสม. จึงเห็นว่า รัฐยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายความปลอดภัยทางถนน และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้รถทัศนศึกษา การใช้รถโดยสารสาธารณะและรถรับส่งนักเรียน
ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 กสม. โดยประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีหนังสือด่วนที่สุด เรื่องข้อเสนอแนะมาตรการความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองเด็กตามหลักสิทธิมนุษยชนจากโศกนาฏกรรมรถทัศนศึกษา แจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายและสิทธิเด็กให้ได้รับความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงยุติการบาดเจ็บและเสียชีวิตให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว สรุปได้ดังนี้
(1) ให้ ครม. กำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อยุติการเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งสมควรมอบหมายให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบภาพรวมเป็นการเฉพาะ (single command) เพื่อกำกับติดตาม รายงานสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนน และประเมินผลเพื่อรายงานให้ ครม. ทราบความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เพื่อยกเลิกการใช้รถโดยสารสองชั้นและรถที่ติดตั้งถังก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) เป็นเชื้อเพลิงมาใช้เป็นรถทัศนศึกษาและรถโดยสารสาธารณะ
(2) ในด้านการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน ให้ ครม. มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกเพิ่มความเข้มงวดผู้ที่ขออนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถโดยสาร การต่ออายุใบอนุญาต และการขออนุญาตแก้ไขดัดแปลงสาระสำคัญของรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก รวมถึงการตรวจสอบ กำกับสถานประกอบการเอกชนและผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ทำหน้าที่ออกหรือต่อใบอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
โดยร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราและบังคับใช้กฎหมายกับรถโดยสารสาธารณะที่ถูกดัดแปลงหรือไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต และให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างเคร่งครัด
อาทิ การตรวจสอบสภาพรถทัศนศึกษาหรือยานพาหนะให้อยู่ในสภาพดีและพร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย ก่อนการเดินทางโดยผู้ประกอบวิชาชีพ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกพนักงานขับรถทัศนศึกษาที่มีประสบการณ์ ผ่านการอบรมทักษะในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ และจัดให้มีพนักงานประจำรถที่สาธิตและแนะนำวิธีการรับมือหากเกิดอุบัติเหตุ โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ในสัญญาที่จัดหารถทัศนศึกษาพร้อมประกันการเดินทางด้วยทุกครั้ง
นอกจากนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยกำชับให้สถานศึกษาทุกแห่งในสังกัดปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ ตร. เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตรารถที่นำมาใช้รับส่งนักเรียนเพื่อให้เดินทางไปกลับโรงเรียนอย่างปลอดภัย
และ (3) ให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งรัดปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทัศนศึกษาให้สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็กและเยาวชนที่จะต้องได้รับการพัฒนาและความปลอดภัยของเด็ก รวมทั้งจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นรายวิชาภาคบังคับที่มีเนื้อหาการเผชิญเหตุฉุกเฉินหรือการเตรียมความพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุให้แก่เด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา โดยกำหนดชั่วโมงเรียนเพื่อฝึกปฏิบัติและเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุในทุกปีด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี