บอร์ด กพฐ.ประชุมวาระพิเศษ เดินหน้ายกเครื่องหลักสูตรใหม่ ปีการศึกษา 2568 เตรียมใช้ในสถานศึกษาที่มีความพร้อมและสมัครใจ
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จัดการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน วาระพิเศษ โดยมี ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) รวมถึงผู้บริหารสำนักต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของ สพฐ.เข้าร่วม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ
ศาสตราจารย์บัณฑิต กล่าวว่า วันนี้ กพฐ.ได้หารือร่วมกันว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ให้เด็กและเยาวชนมีสมรรถนะทัดเทียมนานาชาติ เป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 โดยสิ่งที่พิจารณาในวันนี้ เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาผู้เรียน คือเรื่องหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งคณะกรรมการมีข้อสรุปว่า ให้มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ โดยในเบื้องต้นจะใช้ชื่อว่า "หลักสูตรพัฒนาสมรรถนะตามช่วงวัย" เป็นการพัฒนาต่อยอดจาก (ร่าง) กรอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเดิม ซึ่งเป็นกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่ได้ยกร่างไว้ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ในครั้งนี้ กพฐ.ได้มอบหมายคณะทำงาน สพฐ.ให้นำร่างกรอบหลักสูตรดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดและให้นำสื่อ เทคโนโลยีดิจิทัลหรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI มาใช้ในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยให้ครูสามารถจัดการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
"ทั้งนี้ สำหรับการนำหลักสูตรใหม่ไปใช้จัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ทาง กพฐ.ได้พิจารณาว่าจะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่นี้ในปีการศึกษา 2568 ในสถานศึกษาที่มีความพร้อมและสมัครใจ โดยใช้ในระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาตอนต้นก่อน และมีแผนขยายผลการใช้ให้ครอบคลุมระดับประถมศึกษาตอนปลายและระดับมัธยมศึกษาต่อไป ในปีการศึกษา 2569 นอกจากนี้ ได้มอบหมาย คณะทำงาน สพฐ.จัดทำแผนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล รวมถึง การจัดเก็บบันทึกผลการดำเนินงานต่างๆ เพื่อเสนอ กพฐ.ในการประชุมครั้งถัดไป" ประธาน กพฐ.กล่าว
ทั้งนี้ กพฐ.ได้มอบแนวทางและให้หลักการของหลักสูตรใหม่ คือ มุ่งพัฒนาสมรรถนะตามพัฒนาการของผู้เรียน 5 ช่วงวัย ดังนี้ ระดับปฐมวัย มีพัฒนาการสมวัย , ประถมศึกษาตอนต้น มีพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี , ประถมศึกษาตอนปลาย มีพื้นฐานการดำเนินชีวิตที่ดี , มัธยมศึกษาตอนต้น ค้นพบความสนใจ ความชอบและความถนัด และ มัธยมศึกษาตอนปลาย เส้นทางสู่อาชีพ
รวมถึง การจัดโครงสร้างเวลาเรียนที่ยืดหยุ่นตามบริบทหรือความต้องการของสถานศึกษา เน้นการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ รายงานผลการเรียนด้วยระดับคุณภาพที่อธิบายความสามารถของผู้เรียน และจัดการเรียนรู้ด้วยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (ACTIVE LEARNING) ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ทันสมัย เช่น AI, แหล่งเรียนรู้, สื่อทันสมัย เพื่อต่อยอดพัฒนาการของผู้เรียนให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ สามารถเลือกเรียนสิ่งที่ชอบ และประกอบอาชีพที่ใช่ในอนาคตต่อไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี