ศาลจังหวัดนราธิวาส สั่งจำหน่ายคดีสลายม็อบตากใบเมื่อปี 47 ออกจากสารบบความ คดีขาดอายุความ จับตัว 7 จำเลยสำคัญมาพิจารณาคดีไม่ได้
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ อ1516/2567 ที่ น.ส.ฟาตีฮะห์ ปะจูกูเล็ง ที่ 1 กับพวกรวม 48 ราย เป็นโจทก์ ฟ้อง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กับพวกรวม 9 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นจนถึงแก่ความตายฯ กรณีสลายม็อบที่บริเวณหน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม2547 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก
คดีนี้ วันที่ 25 เมษายน 2567 โจทก์ทั้ง 48 ราย เป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตาม ป.อ. มาตรา 59, 80, 83, 288, 289 (5), 309, 310 เนื่องจากเป็นคดีราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลจึงนัดไต่สวนมูลฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 162 (1) ในวันที่ 24 มิถุนายน 2567
โดยในวันนัด ศาลไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ได้ 1 ปาก จนล่วงเวลาราชการ จึงเลื่อนไปนัดไต่สวนมูลฟ้องต่อในวันรุ่งขึ้น ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดที่สอง ศาลอนุญาตให้โจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 ที่ 26 ที่ 35 ที่ 42 และญาติโจทก์ที่ 3 แถลงการณ์ด้วยวาจา เกี่ยวกับความรู้สึก ความเสียหาย หรือความประสงค์อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ตามฟ้อง แล้วเลื่อนไปนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 26 กรกฎาคม 2567
ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดที่สาม ศาลไต่สวนพยานโจทก์ได้ 2 ปาก ฝ่ายโจทก์นำพยานบุคคลเข้าไต่สวน 3 ปาก อ้างพยานเอกสาร 28 รายการ กับพยานวัตถุ 1 รายการ
ขณะที่ฝ่ายจำเลยอ้างเอกสารประกอบการถามค้าน 27 รายการ คดีเสร็จการไต่สวน ศาลนัดฟังคำสั่งหรือฟังคำพิพากษาวันที่ 23 สิงหาคม 2567 เหตุที่นัดนานเนื่องจากต้องส่งสำนวนและร่างคำสั่งฯ ให้อธิบดีผู้พิพากษา ภาค 9 ตรวจก่อนอ่าน
ทั้งนี้ ในการไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยทั้ง 9 คน ไม่มาศาล แต่แต่งทนายความมาซักค้านพยานฝ่ายโจทก์ รวมทั้งได้ยื่นคำ แถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165/2
ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งว่า คดีในส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 8 กับที่ 9 มีมูล ความผิดในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 และมาตรา 310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 290, 83 ให้ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณา
ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 7 พิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่า คำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ครบองค์ประกอบความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) กับพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการกระทำผิดตามฟ้องวันเดียวกัน ศาลออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5และที่ 8 กับที่ 9 มาสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัด สืบพยานในวันที่ 12 กันยายน 2567
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันนัด จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 8 กับที่ 9 ไม่มา ศาลจึงออกหมายจับ เว้นแต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาลมีหนังสือขออนุญาตจับต่อสภาผู้แทนราษฎร และเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การฯ กับติดตามผล การจับและขออนุญาตจับ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2567
ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ศาลได้รับสำเนาหนังสือของสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 24 กันยายน 2567 แจ้งว่า ระหว่างสมัยประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีความคุ้มกันใดๆ ในชั้นพิจารณาของศาล รวมทั้ง จากการจับและคุมขังในคดีอาญา ศาลจึงออกหมายจับจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน
ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้ มีอำนาจจัดการตามหมายจับควบคู่ไปกับพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานตำรวจตามปกติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในการติดตามจับกุมจำเลยที่หลบหนี
ในวันนัด วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับกุมจำเลยคนใดได้ ศาลไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อ ต้องเลื่อนคดีไปเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมจำเลยที่หลบหนีมาเสียก่อน แต่ศาลอนุญาตให้ญาติผู้ตายแถลงการณ์ด้วยวาจา เกี่ยวกับคดีนี้ แล้วมีคำสั่งเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี หรือนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาวันที่ 28 ตุลาคม 2567
โดยวันนัดวันนี้ วันที่ 28 ตุลาคม 2567 ยังคงไม่สามารถจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 8 กับที่ 9 ได้ ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากคดีขาดอายุความ ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) เหตุที่ศาลมีคำสั่งจำหน่าย คดีแทนพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นกรณีที่ปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความ ปรากฏต่อศาลในชั้นทำคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป แต่คดีนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 8 กับที่ 9 ไม่เคยเข้าสู่การพิจารณา แต่หลบหนีจนคดีขาดอายุความ เป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้ง 48 รายระงับ ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ ต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 7 ราย คดีสลายม็อบตากใบ ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จำเลยที่ 2 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีต ผบ.พล.ร.5 จำเลยที่ 3 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีต ผอ.ศปก.ตร.สน. จำเลยที่ 4 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีต ผบช.ภาค 9 จำเลยที่ 5 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีต ผกก.สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส จำเลยที่ 6 นายศิวะ แสงมณี อดีตรอง ผอ.กอสส.จชต. และอดีตรองปลัดฯมหาดไทย และจำเลยที่ 7 นายวิชม ทองสงค์ อดีต ผวจ.นราธิวาส
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี