เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ รร.เดอะ ควอเตอร์ อารีย์ บาย ยูเอชจี ซ.พหลโยธิน 10 กรุงเทพฯ นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แถลงข่าวเปิดตัวโครงการพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข ปี 3 “สื่อ เตือน สติ” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค. 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมนิทรรศการแบบผสมผสาน ฟังการเสวนาธรรมจากวิทยากรชื่อดัง และคลินิกสุขาใจรับปรึกษาปัญหาด้วยกระบวนการเชิงจิตวิทยาแนวพุทธ
นายธนกร เปิดเผยว่า ที่มาของโครงการพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข คือแม้คนไทยราวร้อยละ 85 จะนับถือศาสนาพุทธ แต่มีจำนวนน้อยมากที่เข้าใจหลักธรรมที่เป็นแก่น ขณะที่สื่อด้านศาสนาพุทธแม้จะมีไม่น้อยแต่การเข้าถึงยังไม่ถูกทำให้เป็นระบบ นอกจากนั้นยังมีสื่อที่ไม่ทำหน้าที่เป็นสื่อ สร้างความเกลียดชัง สร้างดราม่าอารมณ์ร่วม แทนที่จะทำให้จิตใจจะเบิกบานกลับหดหู่ ซึ่งการทำหน้าที่สื่อ ความดาดหวังนอกจากเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพแล้ว อยากให้นำหลักธรรมในศาสนาพุทธมาประยุกต์ใช้ด้วย
“เราเชื่อว่าเป็นโอสถทิพย์ในยุค AI (ปัญญาประดิษฐ์) ในยุคที่คนเติบโตมาในยุคที่รู้สึกว่าไม่รู้จะจับอะไร ไม่มีราก เราเห็นคนซึมเศร้า โรคซึมเศร้าเป็นทุกข์ชนิดหนึ่ง ทุกข์ที่หาแก่นสารอะไรไม่เจอ ไม่รู้จะยึดกับอะไร วิ่งหาสิ่งที่ไปยึดบางทีมันก็ยิ่งวิ่งไปหามันก็ยิ่งหนี เดินก็ยิ่งไกล โบราณเขาบอกว่ายิ่งว่ายน้ำก็ยิ่งลึกแทนที่จะขึ้นฝั่ง อย่างนี้เป็นต้น จริงๆ ธรรมะช่วยได้หมด” นายธนกร กล่าว
ผจก.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวต่อไปว่า หลักธรรมคำสอนในศาสนาพุทธ สามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องไปวัด แต่งตัวนุ่งขาวห่มขาวสำรวมกาย วาจา ใจ นั่นเป็นอีกขั้นหนึ่ง แต่เบื้องต้นขอให้มีสติ ให้รู้ว่าแต่ละวันมีเรื่องอะไรเข้ามาทำให้สุขหรือทุกข์ใจบ้าง ขณะเดียวกัน การใช้คำว่า “สื่อ-เตือน-สติ” ในงานของปีนี้ เพราะต้องยอมรับว่าในภัยทางออนไลน์มีอยู่มากและจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อก็ไม่เตยลดลง รวมถึงสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ทั้งข่าวปลอม ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง การรังแกระราน ก็ยังดำรงอยู่ไม่ลดลงเช่นกัน
งานในปีนี้จึงต้องการย้ำให้ระมัดระวังในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) หากไม่มีสติช่วยยับยั้งก็ทำให้พลาดได้ บางคนอยู่กับโลกเสมือนมากเสียยิ่งกว่าโลกจริง คำว่าสื่อเตือนสติจึงมาจากหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คือการบอกกับผู้คนว่าเมื่อรับสื่อต้องระมัดระวัง เพราะสื่อที่เข้ามาหาเรามีทั้งที่เป็นยาพิษและสมุนไพรที่มีประโยชน์ หากแยกแยะผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบไม่ได้ก็จะเกิดอันตราย และผลกระทบไม่ว่าด้านใดก็มีผลต่อทั้งตัวผู้รับสารเองและต่อสังคมทั้งสิ้น
ทั้งนี้ สำหรับงาน โครงการพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข ปี 3 “สื่อ เตือน สติ” ในส่วนของกิจกรรม ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร จะมีวงเสวนาธรรมที่ฟังแล้วไม่น่าเบื่อ มีมุมมองจากคนทำสื่อด้านธรรมะหลายท่านที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์การทำงาน มุมมองว่าด้วยการนำหลักธรรมในศาสนาพุทธมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ขับรถบนท้องถนน เห็นคนขับรถเร็วปาดหน้า ตั้งสติเพียงนิด แทนที่จะรีบด่าทอออกไป ลองคิดว่าเขาอาจจะมีธุระด่วนจำเป็นจริงๆ จะเห็นว่าการมีสติสามารถช่วยดูแลการใช้ชีวิตของเราได้
นอกจากนั้น ยังขอเชิญชวนน้องๆ เด็กและเยาวชน นักเรียน-นักศึกษา อายุไม่เกิน 25 ปี ทำคลิปวีดีโอหัวข้อ “หนูได้ธรรม” เนื้อหาว่าด้วยธรรมะในชีวิตประจำวัน ความยาวไม่เกิน 90 วินาที ส่งประกวดเพื่อชิงเงินรางวัลรวมกว่า 90,000 บาท โดยสามารถส่งได้ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. – 20 พ.ย. 2567 (ปิดรับในเวลา 16.00 น.) โดยจะประกาศผลรางวัลในช่วงการจัดงาน ณ วัดอรุณฯ
อีกทั้งยังมีการจัดนิทรรศการในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.thaimediafund.or.th หรือติดตามข้อมูลข่าวสารและสอบถามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” https://www.facebook.com/ThaiMediaFundOfficial/?locale=th_TH
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี