กสทช.เผยคนไทยตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ พุ่งสูงสุดทุกภูมิภาค รองลงมาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เร่งให้ความรู้เสริมเขี้ยวเล็บทางปัญญา
นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดย รศ.(พิเศษ) พล.ต.ท.ดร.ณรงค์ กุลนิเทศ ประธานหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ จัดประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ(Public Hearing) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมเวลาดี เขตเทศบาลเมืองนครพนม เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ประเมินผล สรุปผลการศึกษาความเห็น และข้อเสนอแนะในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 67 เพื่อจัดทำรายงานให้เกิดประโยชน์และส่งผลต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้เป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่สามารถใช้ประกอบการประเมินผลได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศ ซึ่งรายงานดังกล่าวจะนำเสนอต่อรัฐสภา
โดยการประชุมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มผู้พิการทางสายตาและการได้ยิน โดยมี น.ส.สุภัชชานันท์ รัญญะวิทย์ และ น.ส.ดารุณี เทพพันทา เป็นล่ามภาษามือ กลุ่มนักศึกษา กลุ่มผู้บริโภค และ กลุ่มสื่อสารมวลชน ที่ร่วมสานพลังในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช.
ในการนี้ได้เปิดเวทีเสวนา”เหลียวหน้าแลหลัง” โดย น.ส.อารีวรรณ จตุทอง รศ.(พิเศษ) พล.ต.ท.ดร.ณรงค์ กุลนิเทศ อ.จตุรงค์ เพิ่มรุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และ ดร.ธชะนัน วงศ์ปัน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ ร่วมเป็นวิทยากรมาให้ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการของ กสทช.ฯ และมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่ง กสทช. จะได้รับรู้ปัญหาในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ และเร่งแก้ไขปัญหาเฉกเช่นกับผู้บริโภคที่เป็นคนปกติทั่วไป สิ่งที่สำคัญ กสทช. ที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือการให้ประชาชนได้รู้เท่าทันในเรื่องการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม เพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวง
ทั้งนี้ น.ส.อารีวรรณ จตุทอง กตป.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ว่า จากการได้ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในแต่ละภูมิภาค ทำให้ทราบว่าปัญหาที่ประชาชนเป็นเหยื่อมากที่สุด คือ 1.การโฆษณาชวนเชื่อ เช่นพวกอาหารเสริม ที่อ้างสามารถรักษาได้สารพัดโรค รวมถึงกาแฟเพิ่มสมรรถภาพ รองลงมาคือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงต้องเพิ่มความรู้เหมือนเป็นสติเตือนให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข่าวสาร ภาพ และเสียง รวมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องมีความเท่าทัน และมีภูมิคุ้มกันตนเองได้ นอกจากนี้ การทำงานสร้างเครือข่ายของผู้บริโภค ควรสนับสนุนให้มีความรู้ความสามารถในทุกพื้นที่
“การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการดำเนินงานดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมประเมินผล โดยนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามารวมกันพูดคุย ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยใช้เวทีในการสื่อสารเพื่อรับรู้และเข้าใจประเด็น/ปัญหา และช่วยกันผลักดันให้เกิดข้อสรุป เป็นแนวทางในการแก้ไขประเด็นปัญหานั้นๆและสานพลังในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และสิ่งสำคัญที่สุดในปี 2567 ของ กสทช. ที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การให้ประชาชนได้เท่าทันในเรื่องใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมเพื่อไม่ให้เป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวง ดิฉันรู้สึกได้ถึงความตั้งใจของผู้เข้าร่วมเวทีนี้ทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านคงจะได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะได้อย่างเต็มที่ ขอให้การจัดครั้งนี้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะความคิดเห็นสาธารณะในวันนี้” น.ส.อารีวรรณ จตุทอง กตป.การคุ้มครองผู้บริโภค กล่าว
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี