กาญจนบุรีถกคณะทำงานแก้ปัญหาสารพิษจากกากหางแร่และตะกอนหางแร่ รองผู้ว่าฯเผยเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานการฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว การตรวจสอบสุขภาพของชาวบ้านคลิตี้และความเป็นไปได้ในการนำกากหางแร่ไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งร่วมพิจารณาแนวทางการจัดการกากหางแร่ในบริเวณที่มีการตกค้างในพื้นที่
วันนี้ (30 ต.ค.67) ที่ห้องประชุมเอราวัณ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี นายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหากากหางแร่และตะกอนหางแร่ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายชัยนิรุจน์ มะลิวัลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ดร.ชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง ผอ.ส่วนน้ำเสียชุมชน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ดร.รวมทรัพย์ คะเนะดะ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 8 นายสุรศักดิ์ จันทร์ชุม อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งปลัดอำเภอทองผาภูมิ และผู้แทนส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานการฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว การตรวจสอบสุขภาพของชาวบ้านคลิตี้และความเป็นไปได้ในการนำกากหางแร่ไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งร่วมพิจารณาแนวทางการจัดการกากหางแร่ในบริเวณที่มีการตกค้างในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกากหางแร่และการดำเนินงานด้านสุขภาพ
สำหรับปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้และพื้นที่ใกล้เคียง ในตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีสาเหตุจากการปล่อยน้ำเสียที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนจากบ่อกักเก็บตะกอนหางแร่ของโรงแต่งแร่บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงสู่ลำห้วยคลิตี้ เมื่อปี 2541 ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อม ได้แก่ น้ำตะกอนดิน และสัตว์น้ำเกินค่ามาตรฐาน
จนกระทั่งประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากห้วยคลิตี้ได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้นำมาสู่การยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 ของชาวบ้านในพื้นที่ และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูสภาพห้วยคลิตี้ พร้อมติดตามตรวจสอบ โดยวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ พืชผัก และสัตว์น้ำ ในห้วยคลิตี้ให้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี
โดยกรมควบคุมมลพิษจึงได้ว่าจ้างศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตรายมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อดำเนินโครงการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งผลการศึกษาได้นำมาสู่การจัดทำโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา ดร.ชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง ผอ.ส่วนน้ำเสียชุมชน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ศ.ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์ นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งคณะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และชาวบ้านชุมชนคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง เข้าร่วมประชุมหารือ โดยมี นายพนม โพธิ์แก้ว ส.ส.จังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 5 เดินทางไปร่วมรับฟังข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะประเด็นปัญหาของกรมควบคุมมลพิษที่แจ้งให้ทราบว่ากรมควบคุมมลพิษไม่มีงบประมาณในการนำมาบริหารจัดการโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี
ในวันดังกล่าว กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันชี้แจงกรณีที่นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ตัวแทนคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการพื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ได้ยื่นหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษ เพื่อขอให้ดำเนินการในประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นการจัดการกากหางแร่และดินปนเปื้อนสารตะกั่วที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่ การดูดตะกอนหน้าฝายดักตะกอนทั้ง 4 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย ตะกอนดินที่สะสมหน้าฝายดักตะกอน KC3, KC4, KC4/1 และ KC5 เป็นต้น - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี