‘ทวี สอดส่อง’เผย‘คดีดิไอคอน’อยากให้‘ตำรวจ’ทำงานเป็นหลักร่วมกับ‘ดีเอสไอ’ แต่ต้องตามกฎหมาย ส่วน‘โฆษก พปชร.’แฉตัวย่อนักการเมือง อาจเชิญให้ข้อมูล พร้อมสั่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รายงานข้อเท็จจริงปม‘อัจฉริยะ’เข้าห้องพนักงานสอบสวนเรือนจำฯ กำชับให้แถลงข่าวต่อสังคมภายใน 1 พ.ย.
30 ตุลาคม 2567 ที่กระทรวงยุติ ธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมพิจารณารับคดี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป เป็นคดีพิเศษ ว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานการประชุมร่วมของตำรวจกับดีเอสไอ เมื่อวานนี้ (29 ต.ค.) เพียงดูแต่ข่าวเท่านั้น ในความเห็นส่วนตัวคดีฉ้อโกงประชาชน ยังอยากให้ตำรวจทำคดีอยู่ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับขั้นตอนกฎหมาย เพราะตำรวจทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว มีพนักงานสอบสวนและมีศักยภาพ โดยคดีฉ้อโกงประชาชน มีผู้เสียหายจำนวนมาก พนักงานสอบสวนจะฝากศาลคุมขังได้ 4 ฝาก แต่ขณะนี้เหลือเพียง 3 ฝาก ต้องส่งสำนวนให้อัยการ ภายในไม่เกิน 20 กว่าวัน จึงอยากให้พนักงานอัยการพิจารณาอีก 1 ฝาก เพื่อตรวจสอบสำนวนว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 จึงจะรับเป็นคดีพิเศษ ก็อยากขอให้ นายกฯ แต่งตั้งตำรวจพนักงานสอบสวนชุดเดิมที่ทำคดีมาร่วมด้วยจะได้ทำงานอย่างไร้รอยต่อ ส่วนคดีฟอกเงินแยกออกคนละสำนวน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ส่วนถ้าเข้าข่ายคดีแชร์ลูกโซ่ หรือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และคดีฟอกเงิน ต้องใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานเส้นทางการเงิน ซึ่งเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ว่าหน่วยงานใดจะรับผิดชอบก็ต้องให้เกิดความยุติธรรม สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นอกจากนี้ ตามอำนาจ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ จะให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวน เป็นที่ปรึกษาทางคดี ป้องกันการครหาเพราะแต่ละหน่วยงานมีความอิสระ ที่สำคัญอยากให้ตำรวจเป็นหลัก
“สำหรับผู้เสียหายก็สามารถไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจได้ตามปกติหรือ ดีเอสไอ ก็ได้ ถ้ารับเป็นคดีพิเศษ ทั้งนี้ อุปสรรคในอดีตที่ผ่านมา ก็คือ การเยียวยาผู้เสียหายทำได้ค่อนข้างช้า แต่ถ้ารับเป็นคดีพิเศษ ควรจะเร่งคืนทรัพย์เยียวยาแก่ผู้เสียหายให้รวดเร็วที่สุด” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ผู้สื่อข่าวสอบถามประเด็นที่โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตั้งโต๊ะแถลงอักษรย่อนักการเมืองในพรรคเพื่อไทย เกี่ยวข้องบริษัท ดิไอคอน จะมีการตรวจสอบหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ถ้ารับเป็นคดีพิเศษ อธิบดีดีเอสไอควรมีการเชิญผู้แถลงข่าวดังกล่าวมาให้ข้อมูลว่าจริงหรือไม่ ถ้ากลัวอันตรายก็สามารถให้คุ้มครองพยานได้เพราะไม่เช่นนั้นอาจพูดให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย แต่การสอบสวนจะยึดหลักฐานข้อเท็จจริง เพราะตามรัฐธรรมนูญต้องส่งเสริมประชาชนแจ้งข้อมูลข่าวสารและจะเก็บเป็นความลับ ทั้งนี้ ทราบว่าช่วงบ่ายวันนี้ (30 ต.ค.) ดีเอสไอจะมีการพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ
เมื่อสอบถามว่ากรณี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ขอเข้าพบ นายจิระวัฒน์ หรือโค้ชแล็ป ในห้องพนักงานสอบสวนเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้รับรายงานหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตามหลักการสามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้และราชทัณฑ์ไม่ต้องรายงานมา ซึ่งส่วนตัวยังไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริง แต่โดยปกติทนายความเข้าเยี่ยมได้อยู่แล้ว ส่วนกรณีนายอัจฉริยะไม่เกี่ยวข้องกับคดีหรือผู้ต้องหานั้น ตนยังไม่ทราบรายละเอียด
อย่างไรก็ตาม กรณีสังคมตั้งข้อสงสัยว่า นายอัจฉริยะ เข้าเรือนจำในฐานะอะไร เพราะราชทัณฑ์ยังไม่มีการชี้แจง หลังจากนี้ตนจะให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นดังกล่าว ภายในสัปดาห์นี้ เขาต้องรายงานไม่เกินวันศุกร์นี้ (1 พ.ย.67) และตนจะให้กรมราชทัณฑ์แถลงข่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี