สภา กทม.ไฟเขียวค่าเก็บขยะอัตราใหม่ เผยแยกขยะจ่ายแค่ 20 บาท/เดือน แต่ถ้าบ้านไหนไม่คัดแยก ต้องควักจ่ายเต็มๆ 60 บาท/เดือน
30 ต.ค.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง ได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยพิจารณาวาระสำคัญคือ คณะกรรมการวิสามัญฯ รายงานผลการพิจารณา ญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพฯ เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. … เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 34 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 2 คน ให้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่อไป
ด้าน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เดิมข้อบัญญัติฯ ปี 2562 มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย (ค่าเก็บขยะ) ตามครัวเรือนเดือนละ 80 บาท โดยมองว่ามีค่าธรรมเนียมสูงเกินไปผู้ว่าฯกทม. จึงให้จัดทำข้อบัญญัติฯใหม่ โดยแบ่งการจัดเก็บเป็น 2 แบบ ดังนี้ 1. มีการคัดแยกขยะ ค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน 2. ไม่มีการคัดแยกขยะ ค่าธรรมเนียม 60 บาทต่อเดือน
ขระที่ นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า วันนี้ทางสภากรุงเทพฯ ได้ผ่านข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมการจัดการขยะของกรุงเทพฯ โดยที่ผ่านมา เราใช้ของปี 2546 เท่ากับว่าใช่ของเดิมมาเกิน 20 ปีแล้ว ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน โดยอัตราใหม่ มีรายละเอียดดังนี้
กลุ่ม 1 มีขยะไม่เกิน 20 ลิตร (4 กก.) ต่อวัน ซึ่งครัวเรือนส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มนี้ มีอยู่เกิน 2 ล้านครัวเรือน ที่ผ่านมา จ่ายอยู่ 20 บาทต่อเดือน จะเพิ่มขึ้นเป็น 60 บาทต่อเดือน หรือ 3 เท่า แต่ข้อพิเศษของข้อบัญญัติฉบับนี้ สำหรับบ้านที่แยกขยะ กทม.จะเปิดให้ท่านลงทะเบียนเพื่อลดหย่อนค่าธรรมเนียมกลับมาเป็น 20 บาทได้
กลุ่ม 2 สำหรับผู้ที่มีขยะเกิน 20 ลิตร (4 กก.) ต่อวัน แต่ไม่เกิน 1,000 ลิตร (200 กก.) จะเป็นกลุ่ม 2 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นห้องแถว ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ จะต้องจ่ายเป็น "อัตราก้าวหน้า" หรือจ่ายต่อหน่วย (หน่วยละ 20 ลิตร) ที่ผ่านมา จ่ายหน่วยละ 40 บาท และเราจะเพิ่มเป็นหน่วยละ 120 บาท หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่หากมีการแยกขยะ เช่น แยกขยะแล้วขยะลดลงจาก 100 ลิตร/วัน เป็น 60 ลิตร/วัน ในอัตราใหม่ก็จะลดลงจาก 600 บาท/เดือน เป็น 360 บาท/เดือน
กลุ่ม 3 สำหรับผู้ที่มีขยะเกิน 1,000 ลิตร (200 กก.) หรือ 1 ลบ.ม. จะเป็นกลุ่ม 3 ซึ่งสถานประกอบการต่างๆ เช่น ห้าง ตลาด สำนักงาน โรงแรม จัเป็นการจ่ายแบบ "อัตราก้าวหน้า" ที่ผ่านมา จ่ายหน่วยละ 2,000 บาท จะเพิ่มเป็นหน่วยละ 8,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่า ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะสามารถลดอัตราค่าธรรมเนียมถ้ามีการลดปริมาณขยะที่ส่งให้ กทม. ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ กทม.จะมีเวลา 180 วันระหว่างวันที่ราชกิจจาฯ ออกกับวันบังคับใช้อัตราใหม่ ที่ทางกทม. จะออกระเบียบ จัดทำระบบรองรับ แต่ในเบื้องต้นจะเป็นการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแยกขยะ "บ้านนี้ไม่เทรวม" ส่งหลักฐานผ่านระบบที่เตรียมไว้ จะมีแจกอุปกรณ์ส่งเสริมการคัดแยกที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สังเกตง่ายขึ้นด้วย
นายพรพรหม ยังชี้แจงประเด็นทำไมถึงต้องเพิ่มอัตราการเก็บขยะว่า เรื่องนี้ผมเคยโพสต์แล้ว แต่อยากจะสื่อสารอีกครั้งถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่ม เนื่องจากอัตราปัจจุบันทำให้สัดส่วนของรายจ่ายด้านจัดการขยะต่างกับรายได้จากค่าธรรมเนียมอย่างมาก
ผมได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านการจัดการขยะ vs. รายได้ค่าเก็บขยะจากอัตราปัจจุบัน
ค่าบริหารจัดการขยะทั้งหมดต้องใช้งบประมาณ เกิน 7,000 ล.บ. แต่จัดเก็บอยู่ที่ 522 ล.บ.
**ต่อ 1 บ้าน: กทม. มีค่าใช้จ่าย 9.12 บาท/วัน ซึ่งในอัตราปัจจุบันเราเก็บบ้านละ 0.67 บาท/วัน**
**ต่อ 1 กก.: กทม. มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2.28 บาท แต่อัตราปัจจุบันเก็บเพียง 0.1675 บาท**
เท่ากับว่ากทม. จ่ายอยู่ 93% ส่วนประชาชนจ่ายเพียง 7% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
"ตอนนี้อัตราที่ต่ำทำให้ภาระตกอยู่ที่ท้องถิ่นหมด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจเพราะอัตราต่ำ และไม่มีแรงจูงใจให้ลดหรือคัดแยกขยะ"นายพรพรหม กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี