ความคืบหน้ากรณีนายวิษณุ เลิศสงคราม ปลัดอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม 1 ใน 14 จำเลยคดีตากใบ ที่ถูกออกหมายจับ ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2567 แต่ไม่มีการแจ้งมายังอำเภอท่าอุเทน เพื่อประสานการส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีอาญาตามหมายจับ โดยในช่วงต้นเดือนตุลาคม 67 ปลัดอำเภอดังกล่าวยังมาทำงานปกติ แต่ต่อมาภายหลังมีการยื่นลาพักผ่อน ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลารคม 2567 หลังมีกระแสข่าวเรื่องคดีตากใบปะทุขึ้นมา เนื่องจากมีบุคคลสำคัญหลายรายที่หายตัวไป เชื่อว่าหลบหนีเพื่อรอคดีหมดอายุความ โดยสิ้นสุดคดีครบ 20 ปีในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
โดย นายวิษณุ เลิศสงคราม อายุ 45 ปี ปลัดอำเภอชำนาญการ ฝ่ายความมั่นคง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พบว่าเพิ่งหายตัวไปช่วงไม่กี่วัน ก่อนคดีหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 พอหลังคดีสิ้นสุดก็ได้รายงานตัวกลับมาทำงานในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 กระทั่งถูกขุดคุ้ยจนตกเป็นข่าว
ต่อมาทางผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ พยายามติดต่อเพื่อขอสอบถามข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถติดต่อปลัดอำเภอดังกล่าวได้ สอบถามเพื่อนร่วมงานยืนยันว่า ออกพื้นที่ด้านความมั่นคง ส่วนบ้านพักปิดเงียบ เนื่องจากมีกระแสดรามาโหมกระหน่ำ โดยสังคมตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการรู้เห็นว่ามีหมายจับ และเปิดช่องช่วยเหลือให้พ้นคดี
ล่าสุด นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือ”ด่วนที่สุด” ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ได้ให้จังหวัดนครพนมตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริง โดยประเด็นว่าจังหวัดนครพนมได้รับว่านายวิษณุ เลิศสงคราม ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาเมื่อใด ตำรวจได้แจ้งให้ทราบว่ามีหมายจับ และประสานขอให้ส่งตัวเพื่อดำเนินการหรือไม่ และได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง พร้อมสรุปความเห็นและจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ตามทางจังหวัดนครพนม อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากตรวจสอบพบว่า ก่อนคดีหมดอายุความ มีการขาดราชการ 6 วัน จึงพิจารณาความผิด โดยกระทรวงมหาดไทย ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
ทั้งนี้ คดีสลายการชุมนุมเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 สถานการณ์รุนแรงชายแดนใต้ปะทุขึ้นอีกครั้ง โดยเหตุการณ์แรกมีการปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 47 ต่อมาเกิดเหตุวันที่ 28 เมษายน 47 มีการปิดล้อมปราบชาวมุสสิมที่มัสยิสกรือเซะ กระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม 47 ก็เกิดโศกนาฎกรรมตากใบ จากการสลายการชุมนุม และขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 85 คน ในจำนวนดังกล่าวมี 78 คนเสียชีวิตระหว่างการขนย้าย
โดยนายมานิตย์ สุธาพร รองปลัดกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ได้กล่าวถึงสาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ที่โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี ว่า รถแต่ละคันมีการวางร่างผู้ชุมนุมนอนคว่ำหน้าซ้อนกันเป็นชั้นๆ ราว 4-5 ชั้น ประมาณคันละ 50-60 คน มี่เจ้าหน้าที่ควบคุมไปกับรถคันละ 5-6 คน ในจำนวนนั้นมีนายวิษณุ เลิศสงคราม ในขณะที่ยังรับราชการเป็นทหาร ก่อนจะสอบปลัดได้รวมอยู่ด้วย การนำตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับขึ้นรถเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความแออัดจนคนที่ถูกอัดอยู่ด้านในสุด หายใจไม่ออกและเสียชีวิตในที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี