สำหรับการประกอบวิชาชีพทนายความ แม้จะอยู่ในสถานะเอกชนไม่ใช่ราชการหรือส่วนราชการก็ตาม แต่ในการประกอบวิชาชีพ ทนายความนั้น ได้มีระเบียบ ข้อกำหนด หรือข้อบังคับที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดกำหนดเอาไว้คือ ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ซึ่งเป็นข้อบังคับที่ออกตามพระราชบัญญัติทนายความ 2528
ซึ่งในข้อบังคับดังกล่าวนั้นแบ่งเป็น 6 หมวด ได้แก่
หมวด 1 หมวดทั่วไป มีทั้งหมด 4 ข้อ ซึ่งเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับนิยามและสถานะของข้อบังคับ
หมวด 2 มรรยาทต่อศาลและในศาลซึ่งมีทั้งหมด 4 ข้อ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อกำหนดในการดำเนินการและปฏิบัติในชั้นศาลของทนายความ
หมวด 3 มรรยาทต่อตัวความ (ลูกความ) มีทั้งหมด 7 ข้อ ซึ่งเป็นรายละเอียดสำคัญในการปฏิบัติตัวต่อตัวความหรือลูกความ
หมวด 4 มรรยาทต่อทนายความ ต่อประชาชน
และหมวด 5-6 เกี่ยวกับเรื่องของการแต่งกายและการปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมายและข้อบังคับ
โดยในส่วนที่เป็นข้อสาระสำคัญ ที่ถึงขั้นชี้ชะตาในการประกอบวิชาชีพทนายความคงเป็นในส่วนของหมวดที่ 3คือมรรยาทต่อตัวความหรือลูกความนั่นเองโดยเฉพาะ เรื่องเงินๆ ทองๆ ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในข้อที่ 15 มีใจความสำคัญคือ“กระทำการใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือตระบัดสินลูกความ หรือ ครอบครอง หรือหน่วงเหนี่ยว เงินหรือทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร”
ในบทบัญญัติเกี่ยวกับบัญญัติทนายความข้อดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วนกล่าวคือ 1. การกระทำที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น ยักยอก ฉ้อโกง ย่อมเป็นการกระทำผิดมรรยาททนายความในข้อดังกล่าวในตัว
กรณีที่ 2 แม้การกระทำอาจจะยังไม่ครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม แต่เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือแก่ทนายความโดยเฉพาะเรื่องเงินหรือทรัพย์สิน เช่น การตระบัดสินลูกความ การครอบครอง หรือการหน่วงเหนี่ยวเงินหรือทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความ เช่นได้รับเงินค่าเสียหายในคดีแล้วแต่เก็บไว้เป็นระยะเวลานานเกินสมควรและไม่ส่งมอบให้แก่ลูกความ ได้รับเงินหรือค่าเสียหายในคดีแล้วมาหักค่าใช้จ่ายโดยพลการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกความเสียก่อนรวมถึงการเรียกร้องเงินหรือผลประโยชน์เพิ่มเติม นอกเหนือจากสัญญาว่าจ้างทนายความ เป็นต้น
ซึ่งในขั้นตอนการสอบสวนและกำหนดโทษแก่ทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาททนายความนั้น ในขั้นตอนทางปฏิบัติจะมีคณะกรรมการ ซึ่งเรียกว่าคณะกรรมการมรรยาททนายความ เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาลงโทษแก่ทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาททนายความในเรื่องต่างๆ ซึ่งโทษที่คณะกรรมการมรรยาททนายความจะกำหนดให้แก่ทนายความนั้นๆ จะมี 3 สถาน คือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี หรือ (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ
โดยในแนวทางและสถิติที่ผ่านมาการที่ทนายความประพฤติผิดข้อบังคับเกี่ยวกับมรรยาททนายความโดยเฉพาะเรื่องเงินนั้นไม่ว่าจะเป็นกรณีการกระทำที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องเงินและทรัพย์สินต่อตัวความ (ลูกความ) นั้นคณะกรรมการมรรยาททนายความมักจะลงโทษสถานหนักถึงขั้นลบชื่อออกจากทะเบียนความเสมอ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี