รวมตัวร้องปอศ.
ถูกหลอกลงทุน
สูญเงินนับล้าน
เหยื่อ7หมื่นคน
ผู้เสียหายถูกบริษัทผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานสะอาดตุ๋นลงทุน เหยื่อเผยเคยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง มีเพียงบางรายที่ได้รับการเยียวยา คาดยังมีผู้เสียหายกว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 31ตุลาคม ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นายกิตติคุณ แสงหิรัญ ตัวแทนสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยผู้เสียหายกว่า 20 คน เข้าพบกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) เพื่อแจ้งความผิดบริษัทผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานสะอาดแห่งหนึ่ง ซึ่งหลอกลวงให้ผู้อื่นร่วมลงทุนมีสมาชิกที่ตกเป็นผู้เสียหายทั่วประเทศ รวมกว่า 70,000คน
นางอภันธ์ตรี เจริญศักดิ์ อายุ 55 ปี ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า เมื่อช่วงปลายปี 2562 ตนและผู้เสียหายส่วนใหญ่ได้รับลิงค์จากบริษัทดังกล่าว ชักชวนนำเงินเกษียณจากงาน ไปลงทุนต่อยอด โดยระบุว่าดำเนินธุรกิจด้านเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานสะอาด มีการโฆษณาว่าสามารถขายเครื่องได้ทั้งในและต่างประเทศ หากซื้อหุ้นราคา100บาท จะได้เงินปันผลใน 50 สัปดาห์ จากนั้นจะได้รับเงินปันผลตลอดชีวิต ทำให้มีผู้หลงเชื่อ นำเงินมาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่บริษัทแห่งนี้ก็จะอ้างว่าเงินปันผลจะถูกหัก 10% จ่ายสรรพากรและปันผลให้ผู้แนะนำ
นางอภันธ์ตรี กล่าวต่อว่า ผู้ลงทุนกลุ่มแรกเริ่มลงทุนเมื่อเดือนกันยายน 2562 กลุ่มที่ 2 ช่วงเดือนธันวาคม 2562-เมษายน 2563 และกลุ่มที่3 เริ่มเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 และได้รับปันผล 3% ใน 30 สัปดาห์ ทำให้ในช่วงระหว่างกลุ่มที่2 และ3 ผู้เสียหายมีการระดมซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากมีการโอนเงินเข้าธนาคารแห่งหนึ่งสาขารามอินทรา ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาท ช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ก็มีการอ้างว่าโปรแกรมการลงทุนได้ปิดตัวลง เนื่องจากรัฐบาลได้ยึดทรัพย์ ทางบริษัทฯ ให้แอดมินติดต่อไปยังผู้เสียหายเพื่อเกลี้ยกล่อมไม่ให้แจ้งความ โดยระบุว่าถูกภาครัฐกลั่นแกล้งอายัดบัญชีธนาคาร แล้วอ้างว่าจะมีการซื้อหุ้นและเยียวยาโดยคืนเงินให้ แต่ก็ไม่มีจริงจึงมีการเรียกร้องเพื่อขอความเป็นธรรม
นางอภันธ์ตรี กล่าวอีกว่า ต่อมาช่วงเดือนมีนาคม 2566 มีการฟ้องร้องเรียนค่าเสียหายทางแพ่งต่อศาล ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้บริษัทดังกล่าว นำเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาแสดง แต่ก็ไม่มีการนำมา จนมีการยื่นอุทธรณ์ 5-7 ครั้ง คดีนี้ยุติไปช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ส่วนการเยียวยา นั้น เนื่องจากตนและผู้เสียหาย ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้เสียหายกลุ่มแรกที่ได้รับการเยียวยา 299 คน ทำให้เกรงว่าจะไม่ได้รับเงินคืน จึงรวมตัวกันเข้าร้องขอความช่วยเหลือกับทางสภาทนายความฯ และเข้าร้องทุกข์ที่ บก.ปอศ.เพื่อให้ดำเนินคดีอาญา
ด้านนายกิตติคุณ กล่าวว่า ในส่วนของคดีอาญานั้น เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนและนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยสภาทนายความฯ ได้ประสานอัยการกองเศรษฐกิจและทรัพยากร แต่ปรากฏว่าผ่านมา3 ปีจนเปลี่ยนอัยการเพราะครบวาระก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนผู้เสียหายไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษและกระทรวงยุติธรรม กรณีที่เกิดขึ้น ทางสภาทนายความฯ ได้ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ซึ่งผู้เสียหายสามารถติดต่อเข้ามาได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี