ปูม้าล้นตลาด vs ปลาหมอคางดำ: บทเรียนการจัดการทรัพยากรทางน้ำของไทย
ปรากฏการณ์ปูม้าล้นตลาดที่เก้ายอด จ.ระยอง จนทำให้ชาวประมงเรือเล็กเก้ายอด ในจังหวัดระยอง ต้องขอความช่วยเหลือจากนักท่องเที่ยวมาช่วยกันซื้อปูม้าที่จับมาได้จำนวนมาก เป็นภาพสะท้อนความสำเร็จของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางอาหารและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยรับมือกับปลาหมอคางดำในหลายจังหวัด
ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทรัพยากรทางทะเลของไทยยังคงอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของความมั่นคงทางอาหาร ไม่เพียงสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน การผสมผสานระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างชาญฉลาด นำไปสู่การรักษาความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน
เช่นเดียวกันกับปลาหมอคางดำ ไม่ได้เป็นปลาต่างถิ่นชนิดแรกที่เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศของประเทศ แต่เป็นปลาที่สามารถแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วและรุกรานสัตว์น้ำท้องถิ่น เป็นอีกสถานการณ์ทางระบบนิเวศที่ทุกภาคส่วนในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคต่างระดมความร่วมมือเข้ามาช่วยกันส่งผลให้ปัจจุบันปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่มีปริมาณลดลงอย่างเป็นรูปธรรม เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถจัดการและควบคุมปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติได้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีแนวทางใหม่ๆ ในการจัดการปลาชนิดนี้มากมาย แปรวิกฤตเป็นโอกาส
ตัวอย่างการจัดการที่ประสบความสำเร็จในจังหวัดสมุทรสาครที่ระดมความร่วมมือกับกองเรือประมงพื้นบ้าน ใช้อวนรุนเคยมาจับปลาหมอคางดำในคลองต่างๆ ทุกวัน ล่าสุดชาวประมงออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าปลาหมอคางดำน่าจะเหลืออยู่ในแหล่งน้ำไม่ถึง 15-20% แล้ว รวมทั้งโรงงานปลาป่นที่ออกมาบอกว่าจำนวนปลาหมอคางดำที่มาส่งขายที่โรงงานน้อยลงมาก หรือ จังหวัดสมุทรสงครามที่สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และจับมือกับเกษตรกรกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
สิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้มีการเกิดจับปลาขึ้นมาจำนวนมากๆ คือ การทำให้ปลามีมูลค่าสูงขึ้น เช่น การประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาทเพื่อนำไปทำน้ำหมักชีวภาพ มาตรการช่วยรับซื้อเพื่อนำไปทำปลาป่นของเอกชนรายหนึ่งก็เป็นอีกตัวเร่งให้มีการไล่จับปลาชนิดนี้อย่างเข้มข้น ส่งผลให้ปลาหมอคางดำลดลงอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันสำนักงานประมงจังหวัดที่เป็นหัวหอกในการดำเนินการเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำอย่างจริงจังช่วยสร้างความตระหนักให้กับประชาชนทุกพื้นที่ให้ความสนใจ ที่สำคัญปลาชนิดนี้มีประโยชน์สามารถนำมาบริโภคได้ หลายชุมชนจับมาบริโภคเป็นอาหารในครัวเรือนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว และยังกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคมากขึ้น นับเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและหลายชุมชนในการแปรรูปปลาชนิดนี้ เป็นสินค้าใหม่ๆ ได้หลากหลาย อาทิ น้ำปลา ปลาร้า ปลาส้ม ปลาแดดเดียว ไส้อั่ว น้ำยาขนมจีน พิซซ่า ไปจนถึงเครื่องดื่ม อย่างน้ำแตงโมปลาแห้ง เป็นต้น เปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้กับอีกหลายชุมชน นอกจากนี้ เกษตรกรนำปลาหมอคางดำมาใช้เลี้ยงเป็ด หรือเป็นเหยื่อปลาและปูเพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้อีกด้วย
ทางออกของการจัดการปัญหาปลาหมอคางดำ เป็นอีกหนึ่งบทเรียนของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศชี้ให้เห็นว่า แม้ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่แพร่พันธุ์ได้รวดเร็วแต่ยังเป็นปลาที่มีประโยชน์ หากทุกภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างร่วมมือร่วมแรงลงทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ และมีความต่อเนื่อง ก็สามารถเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การควบคุมจำนวนประชากรปลาชนิดนี้ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและระบบนิเวศของบ้านเราได้
จิตรา ช่วงไสว นักวิชาการอิสระ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี