ไทยตอนบนหนาว
อินทนนท์11องศาฯ
ท่องเที่ยวเริ่มคึกคัก
ภาคใต้ยังมีฝนหนัก
กรมอุตุฯเตือนไทยตอนบนอากาศเย็นภาคใต้ยังมีฝนตกชุก ด้าน ศปช.เผย เชียงใหม่ฟื้นฟูพื้นที่พร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงประเพณี “ยี่เป็ง” ขณะที่ยอดดอยอินทนนท์ อุณหภูมิลดฮวบ 11 องศาฯ ส่วน จ.เลย นักท่องเที่ยวแห่ชมทะเลหมอกภูอีเลิศ วิวอันซีน ด้านเชียงราย เร่งดูดโคลน ฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย
เมื่อวันที่ 3พฤศจิกายน กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบนและฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ ฉบับที่ 6 (มีผลกระทบถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567) ดังนี้ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลง และมีอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง โดยภาคเหนืออุณหภูมิจะลดลงอีก 1-2 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศเย็นถึงหนาว ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลง รวมทั้งระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแห้งและลมแรง
ขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลางและตอนล่าง ประกอบกับช่วงวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2567 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านในบริเวณดังกล่าว ขณะที่ลมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้ วันที่ 4 พฤศจิกายน2567 ภาคใต้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา และกระบี่ วันที่ 5-6 พฤศจิกายน2567 ภาคใต้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนอากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบนและฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ ช่วงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านในบริเวณดังกล่าว ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบนลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา และกระบี่ ส่วนวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2567 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ขณะเดียวกัน กรมทรัพยากรธรณีประกาศพื้นที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ประกอบกับมีพื้นที่คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินถล่มล่วงหน้า โดยเฉพาะบริเวณภาคกลาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ จ.ชุมพร ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสตูล
ขณะที่กรมชลประทานยังคงดำเนินการช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานชลประทานที่ 12 ลงพื้นที่กำจัดวัชพืชผักตบชวา บริเวณคลองระบาย 4 ขวา สุพรรณ 1 ต.นางลือ อ.เมือง จ.ชัยนาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ สำนักงานชลประทานที่ 15 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง บริเวณ ทรบ.บางเหลง หมู่ 9 ต.ท้องลำเจียก อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราชสำนักงานชลประทานที่ 16 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง บริเวณหมู่ 1,3 และ 4 ต.กระแสสินธุ์อ.กระแสสินธุ์จ.สงขลา และสำนักงานชลประทานที่ 16 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1 เครื่อง บริเวณใต้สะพานคลองหวะ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุอุทกภัยในพื้นที่
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ทาง ผวจ.เชียงใหม่ พร้อมคณะ ได้ปล่อยขบวนรถน้ำและกำลังพลออกจากลานประตูท่าแพไปยังจุดต่าง ๆ แบ่งเป็น 5 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 ตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ ถึงลานประตูท่าแพ เส้นทางที่ 2 ตั้งแต่ดับเพลิงกู้ภัยทางน้ำ ถึงสำนักงานการท่องเที่ยวเทศบาลนครเชียงใหม่ เส้นทางที่ 3 ตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ ถึงสวนสุขภาพบ้านเด่น เส้นทางที่ 4 ตั้งแต่หน้าสถานีรถไฟ ถึง ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ และเส้นทางที่ 5 ตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ ถึงเชิงสะพาน ร.9 ฝั่งตะวันออก เพื่อทำความสะอาดเมือง คืนความสวยงามเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวช่วงการจัดงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่
ที่ จ.เชียงใหม่ วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าเริ่มมีลมเย็น โดยเฉพาะที่ยอดดอยมีอากาศหนาวเย็นมากขึ้น โดยที่ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ วัดอุณหภูมิได้ต่ำสุดที่ 11 องศาฯ มี นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ขึ้นไปสัมผัสอากาศหนาว และชมทะเลหมอกกันเป็นจำนวนมาก สถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางขึ้นไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวม 3,343 คน มียานพาหนะขึ้นไปยอดดอย 864 คัน ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้สภาพอากาศที่หนาวต่อเนื่อง จะส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปสัมผัสอากาศหนาวกันมากยิ่งขึ้น
นายกริชสยาม คงสตรี ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ให้ข้อมูลว่า จากห้วงเวลาที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่และลำพูนเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างหนักเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก หน่วยงานทุกภาคส่วนได้ร่วมกันเร่งฟื้นฟูเพื่อให้พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ กลับสู่สภาพเดิมอย่างเร็วที่สุด ปัจจุบันได้ฟื้นคืนกลับมาสะอาด สวยงาม พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสอากาศหนาวแล้ว โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติทั้ง 15 แห่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม เช่น อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ–ปุย และอุทยานแห่งชาติแม่วาง (ผาช่อ) เป็นต้น
ส่วนที่ จ.เลย สภาพอากาศในช่วงเช้ายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้อากาศเย็นและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยเฉพาะที่ยอดภู เขตอุทยานต่างๆ เช่น อุทยานแห่งชาติภูกระดึง วัดได้ 14.5 องศาฯ อุทยานแห่งชาติภูเรือ วัดได้ 13.0 องศาฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง (ภูเรือ) วัดได้ 14.5 องศาฯ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเลย (อ.ภูเรือ) วัดได 15.0 องศาฯ และอุทยานแห่งชาติภูสวนทราย (อ.นาแห้ว) วัดได 18.0 องศาฯ ทำให้หลายจุดเกิดเป็นทะเลหมอก เช่น ภูอีเลิศ ต.ปากหมัน อ.ด่านซ้าย จ.เลย นักท่องเที่ยวต่างขึ้นชมทะเลหมอก รับแสงแรกของวันใหม่ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ต่างได้สัมผัสความหนาวเย็นบนภูแห่งนี้ ที่นักท่องเที่ยวขนานนามว่าเป็นแกรนด์แคนยอนเมืองไทย สำหรับภูอีเลิศ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ปากหมัน ห่างจาก อ.ด่านซ้าย ประมาณ 30 กิโลเมตร มีความสูงจากตีนภูถึงยอดภูประมาณ 500 กว่าเมตร สามารถมองเห็นวิวด้านบนได้ 180 องศา เป็นยอดภูที่ยังคงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ และความงามของดอกไม้ป่านานาพรรณ สลับกับดอกหญ้าที่พลิ้วไหวตามแรงลมอยู่ตามร่องโขดหินที่ซ้อนกันหลายๆ ชั้น จนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปชม ต่างขนานนามว่า เป็นแกรนด์แคนยอนเมืองไทย เมื่อถึงจุดชมวิวก็จะพบกับทะเลหมอกเป็นอันซีนเนื่องจากยาวพลิ้วตามร่องเขาอย่างสวยงาม มองเห็นทั้งตัวเมืองด่านซ้าย และกว้างไกลไปจนถึงพรมแดนประเทศลาวสำหรับการเดินทางขึ้นภูอีเลิศ เริ่มจากบ้านปากหมัน โดยจะมีรถอีแต๊กของชาวบ้าน รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว โดยใช้เวลาเดินทางถึงยอดภูประมาณ 1 ชั่วโมง
ที่ จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังประสบอุทกภัย ว่าทางเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการต่างๆ ได้เร่งฟื้นฟู มีการนำรถมาดูดโคลน ในจุดที่ยังมีดินโคลนติดค้าง เช่น ท่อระบายน้ำ พื้นที่ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนเกาทรายและไม้ลุงขน ที่ดินโคลนสะสมอยู่ค่อนข้างมาก นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ยังพยากรณ์ว่าช่วงวันที่ 4-5 พฤศจิกายนนี้ อาจมฝนตก ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังซ้ำได้อีก เจ้าหน้าที่ได้เน้นการเปิดฝาท่อและดูดดินโคลนไปตามถนนสายหลักทีละสายก่อนจะดูดตามซอกซอยที่รถดูดโคลนสามารถเข้าถึงได้
นายสิริชัย สุขนิล พนักงานขับรถจักรกล อบจ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ทีมงานได้เข้ามาช่วยดูดโคลนในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย นานกว่า 1 เดือนแล้วนับตั้งแต่น้ำลด โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน28 คน รถดูดโคลน 2 คันและรถบรรทุกน้ำอีก 3 คัน แม้ว่ากระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมมีการส่งมอบคืนพื้นที่แต่ก็เป็นในส่วนของพื้นผิวถนนและบ้านเรือนประชาชน ขณะที่ท่อระบายน้ำยังมีดินโคลนอุดตัน อาจต้องใช้เวลาอีกนานนับเดือน เนื่องจากหลายจุดมีรอยแตกและทรุดตัว จากดินโคลนที่จับตัวแข็งจนยากต่อการดูดออก คาดว่าทีมงานยังต้องปฏิบัติงานกันต่อไปจนถึงช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่นๆ ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยภาคเอกชน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของร้านขายอุปกรณ์เสริมสวย อาทิ ร้านเจแอนด์บีเทรดิ้ง ประตูน้ำ ร้านสหพัฒบิวตี้ ศรีราชา และบริษัท farger (ขายสีย้อมผม) ได้ร่วมกับกลุ่มช่างผมใน จ.เชียงราย นำอุปกรณ์สำหรับทำผม ช่วยเหลือพี่น้องชาวช่างเสริมสวยที่ประสบอุทกภัยทั้งในเขตตัวเมืองเชียงรายและพื้นที่แม่สาย โดยสิ่งที่นำมาแจก เป็นอุปกรณ์เกี่ยวร้านทำผม เช่น สีย้อมผม เตียงสระผม เก้าอี้ตัดผม กรรไกรตัดผม และสิ่งที่ใช้ประกอบอาชีพเสริมสวยพร้อมกับมอบเงินบริจาคอีกจำนวนหนึ่ง
ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พร้อมด้วยผู้นำหมู่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.แม่สาย จ.เชียงราย ต่างระดมกำลังกันเข้าทำสำรวจพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามแผนป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะแผนของกระทรวงมหาดไทยที่ให้มีการเวนคืนที่ดินริมแม่น้ำสายตลอดแนว ตั้งแต่ชุมชนถ้ำผาจม บริเวณตลาดสายลมจอยไปถึงชุมชนเกราะทราย และชุมชนไม้ลุงขน ระยะทางประมาณ 40 เมตร โดยให้กรมโยธาธิการและผังเมืองศึกษาผลกระทบและแผนฯ
นายธนวัฒน์ธีรัตนชัย ผู้ใหญ่บ้านชุมชนเกาะทราย กล่าวว่า ชุมชนเกราะทรายมีประชากรทั้งที่มีบัตรประชาชนและไม่มีบัตรกว่า 2,000 คน เนื้อที่ประมาณ 75 ไร่ บ้านเรือนประมาณ 650 หลังคาเรือน ส่วนมากประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้าง สภาพทางกายภาพเป็นชุมชนที่มีบ้านอยู่ติดและขนาบลำน้ำสาย ซึ่งชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่มาหลายชั่วอายุคนไม่ต่ำกว่า 60-70 ปีแล้ว ทำให้ได้รับผลกระทบมาก การสำรวจครั้งนี้เป็นเพียงสำรวจจำนวนบ้านเรือนและจำนวนประชาชนที่ชัดเจน เพื่อให้ทางอำเภอและกระทรวงฯ รับทราบ ไม่ได้เป็นสำรวจชี้แนวเขต ซึ่งจะเป็นส่วนงานอื่น หากได้ข้อมูลชัดเจนก็จะแจ้งให้ชาวบ้านรับทราบ ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับชาวบ้านในเรื่องนี้แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านทราบข้อมูลบ้างแล้ว
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ริมน้ำสายหลายราย ยังแสดงความกังวลเรื่องที่อยู่อาศัยในอนาคตหลังจากมีการเวนคืนที่ดินเพราะบ้านเรือนริมน้ำสายมีเพียงไม่กี่หลังที่มีเอกสารสิทธิที่เหลือส่วนมากไม่มีเอกสารสิทธิทำให้อาจไม่ได้รับความช่วยเหลือ เช่นกรณีของ น.ส.ขันแก้ว พญาหลวงขันคำ อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 80 ซอย14 ชุมชนเกาะทราย มีบ้านห่างจากน้ำสายเพียง 10 เมตร กล่าวว่า เพิ่งฟื้นฟูบ้านจากน้ำท่วมแล้วเสร็จยังไม่ทันเข้าอยู่อาศัย เพราะติดปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้าและประปา ที่ยังคงซ่อมแซมติดตั้งไม่แล้วเสร็จ ทรัพย์สินก็ยังไม่จัดซื้อใหม่แต่กลับต้องมากังวลกับเรื่องการถูกเวนคืนที่ดิน จึงไม่มั่นใจว่าจะได้อาศัยอยู่ต่อไปอีกหรือไม่
น.ส.ขันแก้ว กล่าวอีกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่พร้อมจะย้ายออก หากการย้ายเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่รัฐบาลควรควรจะจัดสรรที่ดินหรือสร้างที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านได้มีที่อยู่ก่อนหากเป็นไปได้ก็อยากให้ไปอยู่รวมกันเป็นชุมชนคล้ายบ้านจัดสรร ถ้ารัฐบาลให้เพียงค่ารื้อถอนเพราะที่ดินแถวนี้ไม่มีโฉนดหรือเอกสารสิทธิ แต่ชาวบ้านอยู่กันมานานตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วและมีการเสียภาษีที่ดินให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกปี หากได้รับเพียงค่ารื้อถอนแค่นั้นจริงชาวบ้านก็คงไม่มีเงินพอที่จะตั้งต้นชีวิตใหม่ อยากให้ภาครัฐได้คำนึงถึงส่วนนี้ด้วย หากจัดสรรที่ดินให้อยู่อาศัยเป็นกิจจะลักษณะชาวบ้านก็พร้อมจะย้ายออกไปทั้งหมดอย่างแน่นอน
ส่วนการฟื้นฟูด้านอื่นๆ ทางนายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในส่วนงานต่างๆ ออกดำเนินการช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องทั้งการเคลียร์ท่อระบายน้ำเก็บขยะตามชุมชนและขยะครัวเรือน โดยยืนยันที่จะดำเนินการจนกว่าจะแล้วเสร็จทุกพื้นที่ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือน เร็วกว่ากำหนดที่วางไว้ครั้งแรกซึ่งคาดว่าจะใช้เวลานานถึง 6 เดือน แต่ด้วยการระดมการช่วยเหลือกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภา)ยามยาก และจิตอาสาหลายภาคส่วน จึงทำให้การฟื้นฟูทำได้รวดเร็ว และจะเสร็จสิ้นเร็วกว่ากำหนด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี