เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2567 พร้อมมอบนโยบายจุดเน้น “เรียนดี มีความสุข” และคลิกออฟ โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” “OBEC Zero Dropout” “เรียนดี มีความสุข” และนโยบายเร่งด่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีผู้บริหาร สพฐ.เข้าร่วม ณ โรงแรมไดม่อนด์พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ตนได้มอบนโยบายของรัฐบาล นโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ.โดยได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout และได้คลิ๊กออฟเปิดตัวโครงการ “OBEC Zero Dropout” หรือ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” เพื่อให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ นำนโยบายไปสู่แผนการปฏิบัติ การติดตามค้นหาเด็ก ว่าตกหล่นอยู่ที่ไหน เพื่อพากลับมาเรียน แต่ถ้าเจอตัวแล้วเด็กไม่อยากกลับมาเรียน ก็ต้องพาการศึกษาไปให้เด็ก เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษา ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล Thailand Zero Dropout และฝากถึง ผอ.โรงเรียน และคุณครูทั่วประเทศ ให้ทำเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง โดยให้ทุกเขตไปกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดให้ชัดเจนในการค้นหา ติดตามเนื่องจากขณะนี้ สำนักนโยบายและแผน สพฐ.มีข้อมูลเด็กดรอปเอาท์ ซึ่งเป็นภาพรวมทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กระจายอยู่ทุกแท่ง ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง ม.6 จำนวน 6.9 แสนคน จากตัวเลขของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่พบว่ามีเด็กดรอปเอาท์จากทุกสังกัดทั่วประเทศ จำนวน 1.02 ล้านคน ในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของ สพฐ.ได้ส่งข้อมูลให้ทุกเขตพื้นที่ฯ เร่งค้นหาติดตามเด็กกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาโดยเร็วที่สุด ตามไทม์ไลน์ที่ สพฐ.วางใว้ในการแก้ปัญหาเด็กดรอปเอาท์ ส่วนตัวเลขที่ รมว.ศธ.แถลงเมื่อวานนี้ (6 พ.ย.) ว่ามีเด็กดรอปเอาท์ จำนวน 394,039 คนนั้น คือเฉพาะกลุ่มเด็ก ป.1 - ม.3
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทุกเขต นำนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ไปสู้เป้าหมายของการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ที่สำคัญได้กำชับให้ ผอ.ทุกเขต หาวิธีการลดภาระให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ครูมีเวลาไปจัดการเรียนการสอน และหาวิธีลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงให้ทุกเขตพื้นที่ฯดูแลโรงเรียน 9,214 โรงเรียน ในการเตรียมสอบ PISA ในปี ค.ศ.2025 ที่คาดว่าจะสุ่มสอบข้อสอบ PISA ในปีหน้านี้ สพฐ.มั่นใจว่า การสอบ PISA ในปีต่อไป เด็กเราจะมีผลการสอบที่สูงขึ้น เพราะทุกโรงเรียน ทุกเขตพื้นที่ฯได้เตรียมความพร้อมและได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ให้กับครูและนำชุดฉลาดรู้ให้นักเรียนมีความเข้าใจและฝึกทดสอบในการเตรียมตัวกันอย่างจริงจัง
“ผมได้เน้นย้ำ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทุกเขต ว่าต้องมีแผนการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของ ศธ. แผนการปฏิบัติที่ให้มีเป้าหมาย มีตัวชี้วัด มีการติดตาม ผอ.เขตฯ ทุกคนต้องรู้ข้อมูลว่าโรงเรียนในพื้นที่ของตัวเองมีสภาพ ปัญหา อุปสรรคอะไร มีความต้องการ มีจุดอ่อน จุดแข็ง และมีการรายงานผลอย่างใกล้ชิด รวดเร็ว และเมื่อมีปัญหาให้ผอ.เขตฯลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์”
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ในปี 2568 สพฐ.ได้กำหนดจุดเน้น “สพฐ.2568 ปีแห่งความท้าทายการศึกษาไทย” มี 13 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มมาจากโยบายรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา และปรับให้สอดคล้องกับ นโยบายรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร อาทิ จุดเน้นที่ 1 เรื่อง ความปลอดภัย ทางโรงเรียนจะต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า ปัญหาซึมเศร้า ฯลฯ เนื่องจากเรามีนักเรียนกว่า 6 ล้านคน มีครู บุคคลากรฯ 5 แสนกว่าคน จะเห็นว่าในโรงเรียนมักมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงเน้นย้ำ ผอ.เขตฯ จะต้องไปออกแบบ มีมาตรการเฝ้าระวัง มีการเตือน และเมื่อเกิดเหตุแล้วจะต้องแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้นักเรียนอยู่ในโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดสำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา
จุดเน้นที่ 2 เรื่อง การแก้ปัญหา Thailand Zero Dropout ซึ่งเป็นความท้าทายเนื่องจากมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้เอ็กซเรย์ทุกพื้นที่ โดยใช้ระบบ ใช้โปรแกรมค้นหาช่วยเหลือเพื่อนำเด็กให้กลับมาเรียน และจุดเน้นที่ 3 เรื่อง การสอบ PISA เนื่องจากในการสอบ PIZA ครั้งที่ผ่านมา เด็กเรามีผลการสอบต่ำมากที่สุดในรอบ 20 ปี จึงเป็นความท้าทายที่เราทุกคนตั้งเป้าว่าผลการสอบครั้งหน้า จะต้องมีคะแนนสูงขึ้น ดังนั้น ทุกคนจะต้องจับมือกันร่วมมือกันยกระดับการสอบ PIZA และการสอบโอเน็ต รวมถึงการสอบทุกประเภท เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนดี มีความสุข
นอกจากนี้ ได้มอบนโยบาย 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ กับ 1 มือถือ ซึ่งมาจาก โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” “OBEC Zero Dropout” ที่ สพฐ.ได้คิดนวัตกรรม โดยให้ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ไปคิดหารูปแบบ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดยะลา กับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็ใช้รูปแบบไม่เหมือนกัน แต่ สพฐ.ก็ทำให้เห็น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เช่น ถ้าเด็กไม่อยากเรียนในระบบ ก็เรียนอยู่ที่บ้าน หรือส่งต่อไปเรียนที่อื่น จะมีทั้งเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ซึ่ง สพฐ.ได้ทดลองใช้ไปในหลายพื้นที่ เพราะเด็กบางคนมีความจำเป็นต้องช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพไม่สามารถมาเรียนในระบบได้ เราก็ไปจัดการเรียนให้ที่บ้านหรือที่อื่นตามนโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” หรือ Anywhere Anytime ส่วนโรงเรียนมือถือ ต่อไปถ้าเด็กไม่สะดวกมาเรียนที่โรงเรียน เด็กมีมือถือ มีแท็บเล็ต มีเทคโนโลยี ก็เรียนผ่านเทคโนโลยี ซึ่งตนเชื่อว่าหลังจากที่มอบนโยบายไปแล้ว ผอ.เขตฯ ก็จะไปคิดรูปแบบอื่นๆ ตามบริบทของพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน และตามความพร้อมของผู้เรียน โดยตนได้เน้นย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องใช้รูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี