รองโฆษกสภาทนายฯ แจง"ทนายตั้ม"โดนจับกุมเป็นคนละส่วนกับการสอบมรรยาททนาย เพราะต้องให้ศาลตัดสินคดีถึงที่สุดก่อน แนะลูกความไม่สบายใจสามารถเจรจาเลิกจ้าง เพื่อหาทนายความใหม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่เคยทำไว้
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 67 นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ และรองโฆษกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงกรณี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือตั้ม ทนายความ ผู้ต้องหาที่ถูกตำรวจขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับข้อหา ฉ้อโกงทรัพย์ ฟอกเงินฯ กระทั่งถูกจับกุมตัวได้พร้อมภรรยาตำรวจ บก.ป.จะต้องนำตัวมา
สอบสวนที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) อาจทำให้ลูกความที่ ว่าจ้างทนายตั้มหรือสำนักงานของทนายตั้ม นั้นมีความวิตกกังวล ตนขออธิบายถึงกระบวนการ ว่าถ้าหากพนักงานสอบสวนได้นำตัวทนายตั้มฝากขังต่อศาลดูว่าศาลจะพิจารณาให้ประกันตัวหรือไม่ หากว่าทนายตั้มได้ประกันตัวเขาก็สามารถออกมาดูแลลูกความได้ตามปกติ
แต่ประเด็นสำคัญคือ ถ้าศาลไม่ให้ประกันตัว ทนายตั้มจะต้องถูกส่งตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯดังนั้นถ้าเกิดว่ามีนัดกับศาลในคดีของลูกความ เรื่องนี้นั้นเสมียนของทนายตั้มจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนนัดพิจารณาในคดีความนั้นๆออกไปก่อน แต่หากลูกความในคดีรู้สึกไม่สบายใจที่จะจ้างวานทนายคนดังกล่าวต่อ ก็ต้องไปลองคุยเพื่อเจรจาขอเลิกจ้าง และข้อตกลงกับทางสำนักงานฯ หรือทนายความคนนั้นเพื่อหาทนายความใหม่ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างทนายความและลูกความในการชำระค่าจ้างทนายความ ซึ่งตนเอง หรือแม้แต่สภาทนายความฯก็ไม่อาจเข้าไปก้าวล่วงได้
ส่วนการพิจารณาคดีมรรยาททนายความนั้น ต้องแจ้งว่า สภาทนายความจะดูเป็นรายคดีๆไป ถ้าทนายความผู้ใดถูกดำเนินคดีหรือถูกออกหมายจับ แต่ถ้าข้อหาเป็นคนละส่วนกับที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนต่อสภาทนายฯเรื่องมรรยาททนายความนั้น ก็จะไม่ส่งผลอะไรต่อการพิจารณา
“โดยทั่วไปแล้วคดีที่ศาลออกหมายจับและศาลยังไม่ได้พิจารณาคนนั้นๆว่า กระทำผิด เพียงแต่ศาลเชื่อเหตุแห่งการออกหมายจับที่ตำรวจระบุในคำร้องมาเท่านั้น ทำให้ผู้ที่ถูกออกหมายจับยังไม่ใช่ผู้กระทำผิดเพราะศาลยังไม่ได้พิจารณาพิพากษาคดีจนถึงที่สุด อย่าลืมว่าคนที่ถูกออกหมายจับ เมื่อถึงชั้นพิจารณาของศาลพิพากษาคดีแล้วก็มีคดีที่ศาลยกฟ้องได้” นายวีรศักดิ์ กล่าว
ดังนั้นการถูกออกหมายจับหรือมีคดีจึงไม่มีผลกับการพิจารณาเรื่องมรรยาททนายความ ซึ่งต่างจาก ทนายความที่ถูกศาลตัดสินจนคดีถึงที่สุด ว่าทนายคนนั้นทำผิดจริง แล้วมีการลงโทษจำคุก ยกตัวอย่าง มีทนายความได้ละเมิดอำนาจ และศาลได้พิเคราะห์ พฤติกรรมพยานหลักฐานแล้วพิพากษาว่ากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจริงมีโทษจำคุก ซึ่งหากจำเลยมีอาชีพทนายความ ศาลจะส่งรายงานมาที่สภาทนายความฯ และขั้นตอนต่อไปทางสภาทนายความฯจะแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบว่าการกระทำของทนายความคนนั้น เข้าข่ายความผิดข้อบังคับมรรยาททนายความหรือไม่ ผิดข้อใด และควรจะถูกลงโทษอย่างไร ซึ่งการลงโทษเบาสุดคือการภาคทัณฑ์ ตักเตือน ต่อมาคือการพักใบอนุญาตว่าความไม่เกิน3ปี และขั้นร้ายแรงที่สุด คือการลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี