'กาชาด'ชวนเหล่าฮีโร่ ปันโลหิตให้น้อง เติมเต็มโลหิตช่วยผู้ป่วยเด็กโรคเลือด
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ชวนเหล่าฮีโร่ ร่วมแบ่งปันความสุข เติมเต็มโลหิตช่วยผู้ป่วยเด็กโรคเลือด ในโครงการ “ปันโลหิต ให้น้อง”ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ พร้อมชวนแบ่งปันของเล่น และสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นสำหรับน้องๆ ได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์ ตั้งแต่วันนี้ - 30 พฤศจิกายน 2567
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเด็กโรคเลือด โดยเฉพาะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย แต่ละปีทั่วโลกจะมีทารกเกิดใหม่เป็นโรคนี้ประมาณ 350,000 ราย ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 หรือประมาณ 120,000 ราย อยู่ในทวีปเอเชียเป็นโรคทางพันธุกรรมสามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูกได้ ผู้ป่วยโรคดังกล่าวมีความจำเป็นต้องได้รับโลหิตในการรักษาเป็นประจำตลอดชีวิต แต่โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการตรวจเลือดคัดกรองก่อนตั้งครรภ์ทั้งสามีและภรรยา เพื่อลดผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
สำหรับอัตราเสี่ยงในการเป็นโรค หรือยีนแฝงในแต่ละครอบครัวจะเท่ากันทุกครั้งของการตั้งครรภ์ ดังนี้
-พ่อและแม่ป่วยเป็นธาลัสซีเมียทั้งคู่ ลูกจะป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย 100 เปอร์เซ็นต์
-พ่อและแม่มียีนแฝง หรือเป็นพาหะทั้งคู่ โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะธาลัสซีเมีย 50 เปอร์เซ็นต์ และลูกจะป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย 25 เปอร์เซ็นต์
-พ่อและแม่ คนใดคนหนึ่งเป็นธาลัสซีเมีย และอีกฝ่ายมียีนแฝง หรือเป็นพาหะ โอกาสที่ลูกจะป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย 50 เปอร์เซ็นต์ และลูกจะเป็นพาหะ 50 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน
ทั้งนี้ โลหิตที่ได้รับบริจาค ร้อยละ 23 จะถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคเลือด อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคไขกระดูกฝ่อ โรคฮีโมฟีเลีย และเกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น เนื่องจากผู้ป่วยจะมีภาวะโลหิตจาง มีอาการซีด อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย จำเป็นต้องรับโลหิตครั้งละ 1-2 ยูนิต ทุก 3-4 สัปดาห์ หากไม่ได้รับโลหิตจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ในรายที่โลหิตจางรุนแรง อาจทำให้หัวใจทำงานหนักจนหัวใจล้มเหลวได้ จึงต้องได้รับโลหิตในการรักษาอย่างทันท่วงที
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จึงต้องจัดโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริจาคโลหิตเป็นประจำสม่ำเสมอทุกๆ 3 เดือน เพื่อให้มีปริมาณโลหิตที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศถึงแม้ว่าการจัดหาโลหิตในปัจจุบันจะมีแนวโน้มที่มีผู้บริจาคโลหิตเพิ่มขึ้น มากกว่าในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา แต่ยังมีการขาดแคลนโลหิตในบางช่วงเวลา เช่น ในช่วงปิดภาคเรียนเดือนตุลาคม ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณโลหิตที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กโรคเลือด จึงขอเชิญชวนเหล่าฮีโร่ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง บริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กโรคเลือด ในโครงการ “ปันโลหิต ให้น้อง” ปันโลหิต-ปันความสุข ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษา และทำให้น้องๆ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจัดให้มีกิจกรรม ดังนี้
-สามารถบริจาคโลหิต ได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่ง ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ลพบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) สงขลา และภูเก็ต
-ร่วมบริจาคของเล่น (ในสภาพดี) อุปกรณ์เครื่องเขียน สีไม้ สมุดภาพระบายสี ให้กับผู้ป่วยเด็กโรคเลือด ได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถ.อังรีดูนังต์ ตั้งแต่วันนี้ - 30 พฤศจิกายน 2567 โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ พร้อมเป็นสะพานบุญส่งมอบของเล่น และสิ่งของที่ได้รับบริจาค เพื่อเป็นกำลังใจให้น้องๆ ผู้ป่วยโรคเลือด ณ โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตแห่งชาติ ในกรุงเทพมหานคร ต่อไป
-โพสต์ภาพถ่ายการบริจาคของเล่น อุปกรณ์เครื่องเขียน สีไม้ สมุดภาพระบายสี ให้กับผู้ป่วยเด็กโรคเลือด ผ่านสื่อ Social Media เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ โครงการ “ปันโลหิต ให้น้อง” ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และติดต่อบริจาคของเล่นและสิ่งของ ได้ที่หมายเลข : 0 2263 9600-99 ต่อ 1743
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี