เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมสภาทัศนมาตรศาสตร์แห่งเอเชีย ครั้งที่ 4 และการประชุมวิชาการทัศนมาตรศาสตร์อาเซียน ครั้งที่ 9 ประจำปี 2567 (The 4th ASIA OPTOMETRIC CONGRESS และ The 9th ASEAN OPTOMETRIC CONFERENCE - AOC 2024) ภายใต้หัวข้อ การเห็นเพื่อชาวเอเชียทุกคน (VISION FOR ALL ASIANS) ซึ่งเป็นเวทีสำคัญสำหรับนักทัศนมาตรในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และพัฒนานวัตกรรมการดูแลสุขภาพสายตา
ปีที่แล้วประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (World Blind Union - Asia Pacific Mid-term Regional General Assembly) ที่จังหวัดภูเก็ตซึ่งผลของการประชุมดังกล่าวเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น และเชื่อว่าการจัดงานครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อ การเห็นเพื่อชาวเอเชียทุกคน (VISION FOR ALL ASIANS) มีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพตาในภูมิภาคเอเชีย ถึงแม้ว่าตนไม่ใช่นักทัศนมาตร หรือจักษุแพทย์ แต่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ตนมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในการดูแลผู้ด้อยโอกาสทางสังคม รวมทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชนของประเทศไทย
จากข้อมูลประชากรของ ESCAP Data Sheet 2022 ระบุว่าประชากรในภูมิภาคเอเชียกำลังเติบโตในอัตราที่ลดลง ในขณะที่อายุขัยกำลังเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นในทุกอนุภูมิภาค เช่นเดียวกับแนวโน้มของการบกพร่องทางการมองเห็นในภูมิภาคเอเชียมีการเพิ่มขึ้นตามอายุ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การสูญเสียการมองเห็น และผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียที่เป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) ซึ่งในทศวรรษข้างหน้า ประเทศไทยมีความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อจัดการกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ภายใต้ นโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร (5x5 Let's Turn the Tide) ซึ่งประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ และ 5 มาตรการ ในแต่ละกลยุทธ์ ได้แก่ 1) การเสริมพลังวัยแรงงาน 2) การเพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3) การเสริมสร้างพลังผู้สูงอายุ 4) การเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5) การเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 และได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567
นับเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ ที่ประเทศไทยพยายามเปลี่ยนผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นให้เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยวิธีการและมาตรการต่างๆ ปัจจุบันมีผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเกือบ 200,000 ราย ที่ขึ้นทะเบียนมีบัตรประจำตัวคนพิการ ซึ่งช่วยให้สามารถได้มีโอกาสที่เท่าเทียมและทั่วถึง ภายใต้การรณรงค์ "EQUAL" ประกอบด้วย "E" ย่อมาจาก Empowerment คือ การเสริมพลัง "Q" ย่อมาจาก Quality of life คือ คุณภาพชีวิต "U" ย่อมาจาก Understanding คือ ความเข้าใจ "A" ย่อมาจาก Accessibility คือ การเข้าถึง และ "L" ย่อมาจาก Linkage คือ การเชื่อมโยง
นอกจากนี้ ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นในประเทศไทยยังได้รับสิทธิและโอกาสตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และกฎหมายเฉพาะอื่นๆ อาทิ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ได้รับเบี้ยความพิการเดือนละ 800 บาท สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการจ้างงาน ส่งผลให้มีโอกาสมากมายในการเข้าทำงานในองค์กรชั้นนำ ด้วยความสามารถ ไม่ใช่ด้วยความพิการ และยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถขอสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้อีกด้วย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี