เป็นปัญหาสำคัญที่กลายเป็นทุกข์แสนสาหัสของชาวบ้านในหลายพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเวลานี้ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากเกิดปัญหาเรื่อง “ไฟฟ้าตก-ไฟฟ้าดับ” หลายครั้งต่อวัน โดยมีสาเหตุมาจากการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าไม่ทั่วถึง ทำให้ชาวบ้านต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการลากสายไฟฟ้าพ่วงต่อกันไปมาจำนวนหลายสิบหลัง เป็นเหตุให้แรงดันไฟฟ้าปลายสายต่ำ โดยขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง อีกทั้งในหลายพื้นที่ชาวบ้านยังไม่มีไฟฟ้าใช้
จากปัญหาที่เกิดขึ้น “สส.จ๋า - ดร.วชิราภรณ์ กาญจนะ” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต 3 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน ได้เห็นความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาร่วมประชุมเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
แต่ปัญหาติดตรงที่เงื่อนไขในส่วนของการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้า ปัจจุบันมีงบประมาณให้เฉพาะ “บ้านเรือนที่ไม่เคยมีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้ามาก่อนเท่านั้น” หรือเรียกว่า “ครัวเรือนใหม่” โดยทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะมีงบประมาณในการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้เพียง 2 หลักเกณฑ์ คือ
1. ขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้ฟรีเพียง 140 เมตรแรก ระยะทางที่เหลือทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะออกค่าใช้จ่ายในการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้เพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ ต้องให้ชาวบ้านที่ต้องการให้ขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเอง ถ้าหากชาวบ้านรายนั้นไม่มีเงิน ต้องให้ อบต. หรือ เทศบาล นั้นๆ อุดหนุนงบประมาณจ่ายแทน
2. ให้ค่าใช้จ่ายในการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้า หลังละ 75,000 บาท ในบริเวณนั้นมีบ้านเรือนกี่หลัง ก็ให้เอา 75,000 คูณ ได้ผลลัพธ์เท่าไหร่ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายในการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะออกค่าใช้จ่ายในการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าฟรีให้เพียงเท่านี้ ส่วนที่เหลือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะออกค่าใช้จ่ายให้เพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือจะให้ชาวบ้านที่ต้องการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเอง ถ้าชาวบ้านไม่มีเงินในส่วนนี้ก็ให้ อบต. หรือ เทศบาล นั้นๆ อุดหนุนงบประมาณจ่ายแทน
ซึ่งทั้งสองหลักเกณฑ์ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวบ้านยังคงหาเช้ากินค่ำ ได้เงินมาพอประทังชีวิตวันต่อวัน ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าส่วนที่เกินจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้
เรื่องนี้หากมองตามความเป็นจริง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเปรียบเสมือนเป็นผู้ขายสินค้า ลูกค้าคือชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้า ตามหลักแล้วช่องทางการขนสินค้ามาขายให้กับลูกค้า ผู้ขายควรจะเป็นผู้จัดการค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ทั้งหมด แต่ในกรณีนี้กลับกลายเป็นว่า ผู้ขายมาบังคับให้ผู้ซื้อออกค่าใช้จ่ายในการสร้างช่องทางขนส่ง มิหนำซ้ำหากชาวบ้านไม่มีเงินจ่ายก็บังคับให้ผู้บริหารท้องถิ่นช่วยอุดหนุนเงินงบประมาณแทน ยิ่งเมื่อมองเข้าไปในเนื้อหาสาระสำคัญอย่างเช่น “รายได้” การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้จัดเก็บ ดังนั้น ก็ควรจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างทั้งหมด แต่ทำไมจึงผลักภาระมาให้แต่ละท้องถิ่นต้องออกค่าใช้จ่ายช่วยชาวบ้าน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งหลักเกณฑ์ที่มีปัญหามาก นั่นคือ บ้านเรือนที่เคยมีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแล้ว หรือที่ เรียกว่า “ครัวเรือนเก่า” แต่ทว่าบ้านเรือนเหล่านี้ไม่ได้รับการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้ามาให้อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ทำให้ชาวบ้านต้องพ่วงสายไฟฟ้าต่อกันไปมาเอง มิเตอร์ไฟฟ้าหลายตัวต่อพ่วงสายไฟกันไปมาหลายสิบหลังคาเรือน ลักษณะนี้เป็นการลากสายไฟเชื่อมต่อที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้แรงดันไฟฟ้าปลายสายไฟฟ้าต่ำ เป็นเหตุให้เครื่องใช้ไฟฟ้าของชาวบ้านเสียหายบ่อยมาก แต่พอชาวบ้านไปขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมาทำการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้ กลับได้รับคำตอบว่า ถ้าบ้านไหนที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแล้ว จะไม่มีงบประมาณในการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้ เพราะมีไฟฟ้าใช้แล้ว
ประเด็นนี้ “สส.จ๋า” ได้ทำเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาร่วมประชุม และทำหนังสือไปถึงการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้มีการขอปรับหลักเกณฑ์ในการขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าใหม่ ซึ่งทางผู้บริหารระดับสูงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้รับปากว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขให้ อีกทั้งยังมีประเด็นการขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปรับหลักเกณฑ์ และวิธีการช่วยเหลือให้ชาวบ้านมีมิเตอร์ไฟฟ้าถาวรอย่างทั่วถึง เพราะที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากได้ทำการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าชั่วคราว แต่ไม่สามารถขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าถาวรได้ ทำให้ชาวบ้านที่มีมิเตอร์ไฟฟ้าชั่วคราวต้องเสียเงินค่าไฟสูงกว่ามิเตอร์ไฟฟ้าถาวรเกือบเท่าตัว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องขอให้พิจารณาทบทวนการจัดเก็บค่าไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันถ้าเป็นถนนทางหลวง หรือ ทางหลวงชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะให้ใช้ไฟฟ้าในส่วนนี้ฟรี แต่หากว่าถ้าโอนถนนเส้นนี้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะอุดหนุนเงินค่าไฟฟ้าสาธารณะเพียงร้อยละ 10 โดยส่วนที่เหลือแต่ละท้องถิ่นต้องออกเอง ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมา จึงขอให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชนมากที่สุด
ขณะที่ในส่วนของ กรมป่าไม้ และ กรมอุทยานฯ ก่อนหน้านี้ได้มีปัญหาเรื่องการขออนุญาตสร้างถนน หรือ ขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ของกรมป่าไม้ และ กรมอุทยานฯ เพราะกว่าจะได้รับอนุญาตจากทั้งสองหน่วยงานให้ดำเนินการได้ ที่ผ่านมาดำเนินไปอย่างล่าช้ามาก แต่ภายหลังการเข้าร่วมประชุมได้รับคำยืนยันว่า หลังจากนี้กรณีด้านความจำเป็นในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน จะได้รับการพิจารณาอนุญาตอย่างเร่งด่วน
นี่คือการทำงานเชิงรุกของ “สส.จ๋า - ดร.วชิราภรณ์ กาญจนะ” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต 3 ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความแม่นยำของข้อมูลข่าวสาร การประสานงานที่เข้าถึง ทำให้พร้อมแก้ไขปัญหาและทำงานได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายสู่อนาคตเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี