ลุ่มน้ำเลย เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีแม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสายหลัก ที่มีต้นน้ำมาจากอ.ภูหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงลาดชัน จากนั้นไหลลงผ่านที่ราบเชิงเขาในเขต อ.วังสะพุง และที่ราบในเขต อ.เมือง ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.เชียงคาน รวมความยาว 230 กม. มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,560 ตร.กม. และมีปริมาณน้ำท่ามากถึง 1,130 ล้านลูกบาศก์เมตร
(ลบ.ม.) ต่อปี
ในช่วงฤดูฝนก.ค.-ส.ค.ปีใดที่เกิดฝนตกหนัก ระดับน้ำแม่น้ำเลยจะยกตัวสูงขึ้น และหากมีน้ำโขงหนุน จะทำให้น้ำในแม่น้ำเลยไม่สามารถระบายลงน้ำโขงได้ ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมเขต อ.วังสะพุง อ.เมือง และ อ.เชียงคาน ส่วนฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำเลยจะเหือดแห้งอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเกือบทุกปี
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยในปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2520 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประทานเข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และได้มีพระราชดำรัสในการแก้ปัญหาลุ่มน้ำเลยความตอนหนึ่งว่า
“...ควรพิจารณาวางโครงการชลประทานลุ่มน้ำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรพิจารณาสร้างฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำ ตามความเหมาะสมในลําน้ำเลยตอนล่าง เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเลย ในเขตอ.เชียงคาน โดยระบายน้ำจากเขื่อนเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำเลยตอนบน มาเสริมปริมาณน้ำธรรมชาติที่ฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำตอนล่างเพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในลุ่มน้ำเลยใช้ทำการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคได้ตลอดทั้งปี...”
กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสมาได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในหลายขนาดและประเภท ประกอบด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กรวม59 แห่ง ฝายทดน้ำและอาคารบังคับน้ำในลำน้ำเลยและลำน้ำสาขารวม 65 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 86 ล้านลบ.ม. คิดเป็นเพียงแค่ 8% ของปริมาณน้ำท่าลุ่มน้ำเลยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การแก้ปัญหาน้ำในลุ่มน้ำเลยจึงยังไม่สัมฤทธิผล โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนล่างในเขตอ.เชียงคาน ทำให้ราษฎรยังประสบปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งอยู่
“เพื่อแก้ปัญหาของลุ่มน้ำเลยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ครม.จึงมีมติอนุมัติให้กรมชลฯดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณลุ่มน้ำเลยตอนล่าง เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ระยะเวลาดำเนินการปี 2560-2567 และขอขยายระยะเวลาถึงปี 2570” นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กรมชลประทาน กล่าว
โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอเนกประสงค์ ที่ช่วยบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำหลากและน้ำแล้ง ประกอบด้วย 4 งานหลัก ดังนี้ 1.ปตร.ศรีสองรักเป็นประตูระบายน้ำหลัก สร้างปิดกั้นคลองลัดตัดใหม่ของแม่น้ำเลย เชื่อมต่อลงแม่น้ำโขง ระบายน้ำได้ 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันคืบหน้า 90% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 2.ปตร.ลำน้ำเลยเป็นประตูระบายน้ำสร้างปิดกั้นแม่น้ำเลยระบายได้ 400 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมก่อสร้างประตูเรือสัญจรแบบ NAVIGATION LOCK เพื่อรักษาระบบนิเวศและเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว 3.พนังกั้นน้ำฝั่งซ้ายขวาในจุดลุ่มต่ำ ความยาวรวม 37 กม. ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 10 กม. และ 4.สถานีสูบน้ำฝั่งซ้าย 2 แห่ง ฝั่งขวา 2 แห่ง พร้อมระบบส่งน้ำความยาวรวม 99 กม. ปัจจุบันสถานีสูบน้ำฝั่งขวา พร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ 1 แห่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างการออกแบบและเตรียมความพร้อมสำรวจแนวท่อส่งน้ำเพื่อพื้นที่การเกษตร และจะดำเนินการก่อสร้างในปีถัดไป
เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์จะสามารถเปิดพื้นที่ชลประทานได้ทั้งสองฝั่งลำน้ำเลยตอนล่างทั้งในช่วงฤดูฝน 72,500 ไร่ ฤดูแล้ง 18,100 ไร่ รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อ
การอุปโภค-บริโภคสำหรับราษฎรรวม 44 หมู่บ้านในต.เชียงคาน ต.นาซ่าว ต.เขาแก้ว ต.ปากตม ต.ธาต ต.จอมศรี และต.หาดทรายขาว อ.เชียงคาน จ.เลย แต่แม้ขณะนี้โครงการจะยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง แต่ในช่วงฤดูฝนปี 2567 ที่ผ่านมาสามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดจากแม่น้ำโขงหนุนสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรม
ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กล่าวว่า จากสาเหตุที่ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาน้ำในลำน้ำโขงสูงกว่าปกติ ซึ่งปกติอัตราการไหลของลำน้ำโขงตอนบนในช่วงเดือนต.ค.ของทุกปีจะอยู่ที่ 11,900 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ในปีนี้เพิ่มสูงเป็น 23,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงทำให้ระดับน้ำโขงบริเวณ อ.เชียงคาน สูงกว่าระดับน้ำในลำน้ำเลยนานถึง 1 สัปดาห์ ประตูระบายน้ำศรีสองรักฯ ได้ทำหน้าที่ปิดกั้นน้ำจากแม่น้ำโขงไม่ให้หนุนเข้ามาสมทบกับน้ำฝนสามารถลดปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเลยตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อระดับน้ำโขงลดลง ก็ได้ทำการเปิดบานประตูเพื่อระบายน้ำในแม่น้ำเลยให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง
ในช่วงปลายฤดู กรมชลฯยังได้เก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำจนเต็มศักยภาพ จำนวน 6 ล้านลบ.ม. ตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรทางฝั่งขวาของแม่น้ำเลยได้ 1,500 ไร่ ในฤดูแล้งปีนี้
โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักฯยังออกแบบก่อสร้างให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของจ.เลย ด้วยการนำหัวผีตาโขนประดับที่บริเวณตอม่อ พร้อมตกแต่งประดับไฟส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยและสวยงามยามค่ำคืน นอกจากนี้ยังก่อสร้างหอชมทัศนียภาพ เป็นจำนวน 6 หอ นับเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมทัศนียภาพลำน้ำเลยและแม่น้ำโขงเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจ.เลยให้เติบโตมั่นคงยั่งยืนตลอดไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี