16 พ.ย. 2567 ที่คอนเวนชั่น ฮอลล์ 2 ไทยพีบีเอส มีการจัดงาน The Visual Talk Data is All Around เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 15 พ.ย. 2567 ชวนวิทยากรจากภาคส่วนต่างๆ มาฉายภาพความสำคัญของการใช้ข้อมูลต่อการออกแบบนโยบาย โดย นายกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ยกตัวอย่างอิทธิพลของบุคคลที่มีชื่อเสียง หรืออินฟลูเอนเซอร์ ต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่พบว่า คนไทยร้อยละ 81 ติดตามอินฟลูเอนเซอร์ โดยมีเพียงร้อยละ 11 ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 7 ที่ไม่รู้ว่าอินฟลูเอนเซอร์คือใครและทำอะไร
ข้อมูลยังระบุด้วยว่า เหตุผลในการเลือกซื้อสินค้า ร้อยละ 36.35 ต้องการซื้ออยู่แล้ว แต่รองลงมา ร้อยละ 29.92 ซื้อเพราะเชื่ออินฟลูเอนเซอร์ และที่ใกล้เคียงกันมากคือร้อยละ 29.31 ซื้อเพราะถูกอินฟลูเอนเซอร์โน้มน้าว ถามว่าจำประโยคที่ว่า ฉันซื้อเพราะฉันเชื่อ ฉันลงทุนเพราะฉันเชื่อคนนี้ ได้หรือไม่? จาก 1 ใน 10 เรื่องราวที่สังคมไทยให้ความสนใจที่สุดประจำ 10 เดือนแรกของปี 2567 แต่เป็นเรื่องที่มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากเพราะยอมลงทุนเนื่องจากเชื่ออินฟลูเอนเซอร์ ข้อมูลนี้จึงชี้ว่าอินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลต่อการซื้อ-ขายสินค้าจริงๆ
โดยงานของไวซ์ไซท์คือการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่ไหลเวียนอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่ง 10 เดือนแรกของปี 2567 10 อันดับเรื่องราวที่สังคมไทยให้ความสนใจที่สุด อ้างอิงยอดการมีส่วนร่วมของผู้คน (Engagement) พบว่า อันดับ 1 โอลิมปิกที่ปารีส 171 ล้าน อันดับ 2 หมูเด้ง 165 ล้าน อันดับ 3 หมีเนย 124 ล้าน อันดับ 4 น้ำท่วมภาคเหนือ 100 ล้าน อันดับ 5 ดิไอคอน 99 ล้าน อันดับ 6 วันสงกรานต์ 95 ล้าน อันดับ 7 ลิซ่า 93 ล้าน อันดับ 8 Boy Group วง The Bus 85 ล้าน อันดับ 9 วันแม่ 49 ล้าน อันดับ 10 รถบัสนักเรียนไฟไหม้ 14 ล้าน
เมื่อดูถึงการเติบโตของการซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์ มูลค่าในไทย ปี 2562 อยู่ที่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อผ่านไปเพียง 4 ปี ในปี 2566 โตขึ้นเป็น 2.65 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยช่องทางหลัก ร้อยละ 55 แพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์โดยตรง รองลงมา ร้อยละ 28 แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นลักษณะที่ผู้เล่นต่างชาติรวบวงการตลาดดิจิทัลของประเทศไทยไปเรียบหมด ดังนั้นเมื่อแพลตฟอร์มขอเก็บค่าส่วนต่างเพิ่มก็จะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะผู้ค้ารายเล็กๆ ที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม
“ภาพที่น่าเป็นห่วงกว่าก็คือหนึ่งในปุ่มที่น่าจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต คือปุ่ม Pay Later (ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง) เรารู้ว่าปุ่ม Pay Now (จ่ายตอนนี้) มันสะดวกมาก จ่ายปุ๊บไม่ต้องกรอกอะไรเลยได้ของ แต่ในปี 2566-2567 ปุ่มที่สะดวกกว่าคือ Pay Later กดปุ๊บได้ของยังไม่ต้องจ่ายเงินด้วยซ้ำ แต่เรื่องนี้มันจะตามมาด้วยบริการทางการเงิน ปุ่มนี้จะไม่มีผลกระทบในเชิงลบสำหรับผู้บริโภคที่มีทักษะทางการเงินที่ดี เพราะเขารู้ว่าจะเริ่มเป็นเครดิตแล้ว เป็นหนี้ในระยะสั้นแล้ว บัตรเครดิตเรายังต้องเดินไปซื้อที่ร้าน ปุ่มนี้กดได้แม้กระทั่งบนเตียงนอน” นายกล้า กล่าว
ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Botnoi Group กล่าวถึงประโยชน์ของข้อมูล ได้แก่ 1.สร้างความตื่นตัว เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปริมาณฝุ่น PM2.5 จะได้หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน 2.อธิบายปรากฏการณ์ เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไล่ตั้งแต่ระลอกแรกช่วงต้นปี 2563 ตามด้วยการใช้มาตรการล็อกดาวน์ จากนั้นสถานการณ์เบาลง ก่อนจะมาระบาดระลอก 2 ช่วงเข้าสู่ปีใหม่ 2564 ที่ จ.สมุทรสาคร จากนั้นอีกไม่นานก็มีการระบาดจากสถานบันเทิง เป็นต้น เมื่อทำเป็นกราฟแล้วก็ทำให้เข้าใจได้อย่างรวดเร็วว่าเกิดอะไรขึ้น
3.ค้นพบ เช่น น้ำมัน ยาชนิดใหม่ๆ ดาวดวงใหม่ๆ ในจักรวาล 4.จัดกลุ่มหรือจัดระเบียบ เช่น นำข้อมูลลูกค้ามาแบ่งเป็นกลุ่มๆ เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยมีตัวอย่างข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติชอบอะไรในประเทศไทย โดยดูจากสิ่งที่นักท่องเที่ยวโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ ชาวเยอรมันพูดถึงความเป็นมิตรของคนไทย (Friendly) มากที่สุด ขณะที่ชาวอเมริกันกับชาวออสเตรเลียพูดถึงสินค้าในไทยมีราคาถูก (Cheep) มากที่สุด เป็นต้น และ 5.ทำนาย เช่น ดูว่ามีโอกาสเกิดน้ำท่วมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวบรวมข้อมูลมาแล้วก็ต้องตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้อง หรือการทำความสะอาดข้อมูล (Cleansing) ก่อนใช้ เช่น เคยมีกรณีผู้ให้บริการสินเชื่อ ที่มีตั้งแต่ 12 งวด 18 งวด 24 งวด และ 36 งวด ตนไปเห็นข้อมูลก็แปลกใจว่าเหตุใดยอดสินเชื่อกลุ่ม 18 งวดสูงกว่ากลุ่มอื่น แทนที่จะเป็น 12 งวด และ 36 งวด แต่เมื่อสอบถามไปก็ได้ทราบว่า สินเชื่อ 18 งวด เป็นค่าตั้งต้น (Default) กล่าวคือ ในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อไม่เปลี่ยนไปเลือกแบบอื่น ผู้ให้บริการก็จะอนุมัติแบบ 18 งวดให้
“สิ่งที่ผมอยากฝากน้องๆ ที่อยากทำ Data Science (วิทยาศาสตร์ข้อมูล) คือลองหัดสงสัยเยอะๆ เวลาเราได้ข้อมูลมา ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้? เพราะอะไร? ตั้งคำถาม” ดร.วินน์ กล่าว
นายกษิดิศ สตางค์มงคล นักวิเคราะห์ข้อมูล และบล็อกเกอร์ เจ้าของเพจ DataRockie กล่าวถึงความสำคัญของการตั้งคำถามกับการทำงานด้านข้อมูล ว่า หากตั้งคำถามผิดตั้งแต่แรกงานที่ทำก็ผิดทั้งหมด แต่หากตั้งคำถามได้ดีก็จะไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยมีตัวอย่าง เช่น มิยาโมโต มูซาชิ นักดาบระดับตำนานคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ตั้งคำถามว่าทำไมซามูไรถึงไม่ใช้ทั้งดาบยาวและดาบสั้นในการต่อสู้ โดยสมัยนั้นซามูไรมักจะใช้แต่ดาบยาวในขณะที่ดาบสั้นเพียงพกไว้เฉยๆ
หรือ ทาเครุ โคบายาชิ นักแข่งกินจุชาวญี่ปุ่น เคยเป็นแชมป์กินราเม็งที่บ้านเกิดแต่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปแข่งกินฮอทด็อกที่สหรัฐอเมริกา กติกาคือให้เวลา 12 นาที ใครกินได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ คว้าเงินรางวัล 1 แสนเหรียญสหรัฐ สถิติเดิมในปีก่อนหน้าคือ 25 กับอีก 1 ส่วน 8 ชิ้น แต่โคบายาชิทำลายสถิติไปที่ 50 ชิ้น ทั้งที่ชาวญี่ปุ่นตัวเล็กกว่าชาวอเมริกันเสียด้วยซ้ำไป แต่ที่เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ เพราะเกิดจากวิธีการตั้งคำถามของโคบายาชิ ว่าจะกินฮ็อทด็อกให้ง่ายขึ้นได้อย่างไร ตามด้วยการคิดคำตอบ คือขนมปังบิดชุบน้ำให้นุ่มกลืนง่าย ส่วนฮ็อทด็อกแยกกินก็กลืนง่าย
“คำถามที่ดีจะนำไปสู่การทำสิ่งใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ถ้าเกิดว่าเราทำสิ่งเดียวซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ แต่เราคาดหวังผลลัพธ์ที่ต่างไปจากเดิม ไอน์สไตน์บอกว่าไม่บ้าก็โง่” นายกษิดิศ กล่าว
ดร.อสมา กุลวานิชไชยนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอราไลน์ จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำหากต้องการใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ก็คือการมีนโยบายดูแลทรัพยากรข้อมูล เช่นเดียวกับนโยบายดูแลทรัพยากรบุคคล ไล่ตั้งแต่การจัดตั้งคณะทำงานจากคนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล มีมาตรฐานกระบวนคัดกรองข้อมูลก่อนเผยแพร่หรือใช้งาน เพราะการไม่มีมาตรฐานจะเกิดปัญหา เช่น ข้อมูลสกปรกไม่สามารถนำไปใช้ได้ หรือข้อมูลหลุดรั่วเพราะไม่มีกฎเกณฑ์การนำไปใช้
“ข้อมูลจะมีคุณภาพในการใช้งาน เพราะจะมีกฎระเบียบว่าข้อมูลที่ถูกนำไปใช้จะต้องผ่านการกระบวนการกำกับดูแลก่อน เราจะได้มั่นใจว่าข้อมูลชุดนี้ใช้งานได้ ไม่เช่นนั้นข้อมูลไม่สะอาด เอาไปวิเคราะห์กัน Garbage In – Garbage Out (ใส่ของเสียเข้าไปก็ได้ของเสียกลับออกมา) ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เสียพลังงานในการวิเคราะห์เปล่าๆ สุดท้ายมีแนวทางชัดเจนและมันจะเกิดการแบ่งปันข้อมูล เพราะมีการจัดลำดับชั้นแล้ว ข้อมูลชุดนี้ต้องเผยแพร่ ชุดนี้ต้องเป็นความลับ ดังนั้นจะไม่มีคำพูดว่าข้อมูลนี้แชร์ได้หรือไม่” ดร.อสมา กล่าว
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) และอดีตทีมงานเทคโนโลยีดิจิทัลพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการปรับเปลี่ยน 3 ข้อด้านข้อมูล ที่จะทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนและสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับนโยบายต่างๆ ของประเทศมากขึ้น คือ 1.ประสิทธิภาพ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมที่ภาคเหนือ แม้รัฐบาลจะทำได้รวดเร็วเรื่องเบิกจ่ายงบประมาณเยียวยา แต่กระบวนการยังเป็นแบบดั้งเดิม คือต้องมีใบรับรองว่าเป็นผู้ประสบภัย ผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลไกประชาคมหมู่บ้าน แล้วจึงทำเรื่องขอรับการเยียวยา
แต่จริงๆ แล้วสามารถทำให้ดีกว่านั้นได้ คือการแปลงที่อยู่จริงให้เป็นพิกัดทางภูมิศาสตร์ (Geocoding) หรือแปลงเลขที่บ้านให้เป็นค่า GPS ซึ่งมีตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา แคนาดาและอังกฤษ ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยก็มีแผนที่ดาวเทียมที่จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA อยู่แล้ว ที่แสดงให้เห็นว่าจุดใดมีน้ำท่วมบ้าง หากนำ 2 อย่างนี้มารวมกัน รู้บ้านเลขที่ รู้ตัวเจ้าบ้าน รัฐบาลก็สามารถจ่ายเงินเยียวยาผ่านระบบพร้อมเพย์ได้เลย
2.โปร่งใส ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐของไทยจะจัดซื้ออะไรก็ต้องทำ TOR ซึ่งเอื้อต่อการใช้ดุลพินิจกำหนดคุณสมบัติ (Spec) สิ่งของต่างๆ จนเกิดคำถามเรื่องการจัดซื้อในราคาแพงกว่าท้องตลาดอย่างผิดปกติอยู่บ่อยครั้ง เช่น ถาดหลุมจัดซื้อใบละ 500 บาท แต่ในท้องตลาดขายใบละ 300 บาท หรือเครื่องออกกำลังกายจัดซื้อราคาหลักแสนบาท ทั้งที่ของอย่างเดียวกันในท้องตลาดราคาเพียงหลักหมื่นบาท หรือกำหนดขึ้นเพื่อให้เหลือเฉพาะคนในกลุ่มพวกเดียวกันที่เข้าประมูลงานได้ เป็นต้น
แต่ที่ประเทศเกาหลีใต้ การจัดซื้อของหน่วยงานภาครัฐจะมี 2 รูปแบบ คือ 1.สิ่งที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องทำ TOR ก็ทำไป 2.สิ่งที่เป็นสินค้าสำเร็จรูปทั่วไป เช่น ถาดหลุม โต๊ะ-เก้าอี้ ซึ่งร้อยละ 64 ของการจัดซื้อภาครัฐในเกาหลีใต้อยู่ในประเภทนี้ ซึ่งมีการจัดทำแพลตฟอร์มกลาง เชื่อมระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการสั่งซื้อ กับบริษัทห้างร้านที่มีสินค้านั้นพร้อมขาย โดยการปรับเปลี่ยนมาใช้รูปแบบนี้ ทำให้เกาหลีใต้ประหยัดงบประมาณได้มาก
“นอกเหนือจากการประหยัดงบประมาณ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทุกวันนี้กระบวนการยกร่าง TOR กว่าจะยกร่าง กว่าจะประกาศ กว่าจะประมูล กว่าจะเซ็นสัญญา 2 เดือน เราก็ลดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจาก 2 เดือนเหลือ 1 ชั่วโมง ผมคิดว่ามันจะเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการด้วย ทุกวันนี้นึกภาพเราผลิตโต๊ะ-เก้าอี้อยากขายให้ภาครัฐ มันเข้ายากนะถ้าไม่รู้จักใครในหน่วยงานที่จะเป็นคณะกรรมการยกร่าง TOR ผมเชื่อว่าเราแทบจะเข้าไปประมูลงานภาครัฐยากมาก” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า และ 3.ประชาธิปไตย ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีระบบกลางทางกฎหมาย (Law Portal) ที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำหรับเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอยู่แล้ว แต่สามารถทำให้ดีกว่าปัจจุบันที่ประชาชนต้องเข้าไปคอยดูในเว็บไซต์เป็นระยะๆ ได้ โดยรัฐจัดทำแอปพลิเคชั่นที่ช่วยแจ้งเตือน เพื่อให้ผู้สนใจได้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็น
น.ส.อาทิตยา บุญยรัตน์ ทีม กทม. ยกตัวอย่างโครงการ “ร้านนี้ไม่เทรวม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม https://greener.bangkok.go.th/ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับภาคเอกชนคือ Line Man Wongnai เปิดลงทะเบียนร้านอาหารทุกประเภทในกรุงเทพฯ เพื่อร่วมมือกับ กทม. ในการแยกขยะจากการประกอบอาหาร ข้อมูลนี้ช่วยให้ กทม. รู้ว่ามีร้านอาหารหนาแน่นในย่านใดบ้างของแต่ละเขต ขณะเดียวกันยังกระตุ้นให้ผู้บริโภคในฐานะพลเมืองได้เห็นว่าร้านใดมีการแยกขยะและเลือกสนับสนุนร้านเหล่านี้
“กทม. มีปัญหาเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือปัญหาขยะที่มันเกิดจากเราทุกคน ปีๆ หนึ่ง กทม. ใช้เงินภาษีสูงถึง 8 พันล้านบาทในการกำจัดขยะ ถ้าเราสามารถลดขยะได้เราจะสามารถลดทั้งเงินภาษีในการกำจัดขยะ และลดผลกระทบที่มันจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมได้ กทม. ก็เลยมีความจริงจังในการดำเนินการเรื่องขยะด้วยโครงการไม่เทรวม ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานซึ่ง กทม. สามารถทำได้ในการแยกขยะ ซึ่งขยะที่แยกออกมา ขยะอินทรีย์สามารถกำจัดได้ด้วยกรรมวิธีทางธรรมชาติ ทำให้ในปี 2566 ลดเงินภาษีได้ถึง 141 ล้านบาท” น.ส.อาทิตยา ระบุ
น.ส.อาทิตยา ยังกล่าวอีกว่า อยากชวนทุกคนมาช่วยกันทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งขอฝากโครงการร้านนี้ไม่เทรวม เชื่อว่าทุกคนมีโอกาสกินข้าวนอกบ้าน อย่างน้อยๆ ก็อาหารตามสั่ง จึงอยากให้ทุกคนเป็นกระบอกเสียงเชิญชวนผู้ประกอบการ แยกขยะและสมัครเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร กทม. มีวิธีคิดการทำงานด้วยข้อมูล ขณะที่ตนซึ่งทำงานฝั่งสื่อสาร สิ่งที่ทีมสื่อสารของ กทม. พยายามทำคือสร้างการสื่อสารที่นำไปสู่การมีส่วนร่วม (Engage) ของผู้คน รวมถึงเพื่อให้ได้ข้อมูลมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ไทยพีบีเอส มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่อยากนำเสนอนวัตกรรมสื่อที่นำข้อมูลมาออกแบบและพัฒนาเพื่อเล่าเรื่องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะเชื่อว่าในยุคดิจิทัลแบบนี้ประชาชนคือผู้กำหนดข้อมูลข่าวสารตัวจริง สิ่งที่ทำจึงอาจถือเป็นสื่อสาธารณะในยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยประกาศเข้าสู่แผน Digital Transformation (การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล) มาตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีก่อน และพัฒนาเรื่อยมา
“ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ใช้ชื่อว่า The Visual ThaiPBS เป็นหนึ่งในหมุดหมาย หรืออาจจะบอกว่าเป็นหนึ่งในผลผลิตและผลงานที่น่าภาคภูมิใจของ ThaiPBS ที่ทำให้เห็นว่าการปรับตัวเองไปสู่สื่อสาธารณะที่ยังคงทำพันธกิจสำคัญคือเป็นพื้นที่เพื่อระดมการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังคงยึดมั่นพันธกิจนี้อยู่ แต่เปลี่ยนไปใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมากขึ้น” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
อนึ่ง ภายในงานดังกล่าว The Visual ThaiPBS ยังได้นำตัวอย่างผลงานการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลมาจัดแสดงด้วย ได้แก่ 1.The Bag (สัม) ภาระหนัก บนบ่าเด็ก :สะท้อนปัญหาการแบกน้ำหนักกระเป๋านักเรียนของเด็กไทย 2.Thrones of Thorn ศึกชิงบัลลังก์ราชาหนาม ปอกเรื่องราวใต้เปลืองทุกเรียนไทย : บอกเล่าประวัติศาสตร์ของทุเรียน หนึ่งในพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงของไทย 3.เธอไม่เปลี่ยนแปลง..ร้อนนี้จึงเปลี่ยนไป : ฉายภาพอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีต และมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญเพียงใดกับการเปลี่ยนแปลงนี้
4.นกเงือก..นักปลูกป่าผู้คลั่งรัก : ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมของนกเงือกที่ช่วยกระจายพันธุ์ไม้และเพิ่มพื้นที่ป่า และ 5.วัยเด็ก วันเด็ก กับความหวังที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น : รวบรวมคำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรีแต่ละท่าน มาถอดรหัสหาความคาดหวังของผู้ใหญ่ต่อเด็ก และคำขวัญของแต่ละยุคสมัยสัมพันธ์กับสถานการณ์ของประเทศเพียงใด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี