สทนช.นำคณะผู้แทนประเทศจีนหารือการดำเนินโครงการเสริมสร้างการปรับตัวของชุมชนเมืองต่อภาวะอุทกภัยในแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ที่จังหวัดเชียงราย
วันที่ 16 พ.ย.67 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำคณะผู้แทนประเทศจีน ศึกษาพื้นที่ประสบอุทกภัย หารือการดำเนินโครงการเสริมสร้างการปรับตัวของชุมชนเมืองต่อภาวะอุทกภัยภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนทุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ปี 68 เพื่อแก้ปัญหาน้ำข้ามพรมแดนอย่างยั่งยืน โดยมีนายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายพ.อ.พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หัวหน้ากลุ่มนโยบายแผนและการข่าว กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย นายอภิศักดิ์ สวัสดิรักษ์ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาแม่สาย และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า แม่น้ำสาย - แม่น้ำรวก ซึ่งเป็นแม่น้ำที่กั้นชายแดน ระหว่างไทยและเมียนมา ในช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วมชุมชนเมืองโดยรอบทั้ง 2 ฝั่งของประเทศ และบริเวณพื้นที่ทำการเกษตร แต่เมื่อถึงฤดูแล้งจะประสบปัญหาไม่มีน้ำสำหรับเกษตรกรรม โดยที่ผ่านมา สทนช. ได้ดำเนินโครงการวิจัยร่วมเพื่อการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน ด้านอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำสาย - น้ำรวก ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ปี 61 แต่โครงการไม่สามารถดำเนินได้ตามแผนเนื่องจากการแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 จึงต้องมีปรับเปลี่ยนงบประมาณและแผนการดำเนินงาน
“ในปีนี้ สทนช. จึงได้จัดทำข้อเสนอขอรับงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ปี 68 สำหรับดำเนินโครงการเสริมสร้างการปรับตัวของชุมชนเมืองต่อภาวะอุทกภัยภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำสาย - แม่น้ำรวก ระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการแจ้งเตือนอุทกภัยล่วงหน้าและระบบการสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยข้ามพรมแดน รวมถึงเสริมสร้างขีดความสามารถให้ชุมชนตั้งรับปรับตัวกับสถานการณ์อุทกภัยได้ โดยในระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. 67 สทนช. พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากประเทศจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมศึกษาดูงานพื้นที่ประสบอุทกภัย ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นการหารือเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว
สำหรับการลงพื้นที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้ ได้ติดตามสภาพพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยบริเวณอำเภอแม่สาย และอำเภอท่าขี้เหล็ก เมียนมา จากทัศนียภาพมุมสูงบริเวณวัดพระธาตุดอยเวา รวมถึงบริเวณสถานีสูบน้ำดิบจากน้ำแม่สาย สะพานมิตรภาพแม่น้ำสาย แห่งที่ 1 และตลาดสายลมจอย อำเภอแม่สาย นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาดูงานที่สบรวก สามเหลี่ยมทองคำ และสถานีวัดระดับน้ำแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน ด้วย
โดย สทนช. ได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าวร่วมกับผู้แทนจากประเทศจีน ซึ่งแผนการดำเนินงานในระยะเริ่มแรกจะมีการประเมินความต้องการสำหรับระบบเตือนภัย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคโนโลยีและแนวปฏิบัติระหว่างไทย เมียนมา และจีน ในประเด็นการติดตามด้านอุตุ - อุทกวิทยาการแบ่งปันข้อมูล และระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า การศึกษาร่วมและการลงพื้นที่สำหรับติดตั้งสถานีตรวจวัดข้อมูลอุตุ - อุทกวิทยา ในบริเวณต้นน้ำสาย - รวก ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจัดสรรทุนของประเทศจีน เพื่อเป็นงบประมาณในการดำเนินโครงการต่อไป” ดร.สุรสีห์ กล่าว
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยต่อว่า สำหรับการมาเยือนประเทศไทยในคราวนี้ สทนช. และคณะผู้แทนจากประเทศจีน รวมถึงผู้แทนจากประเทศสมาชิกแม่โขง - ล้านช้างได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ยังได้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการหารือระดับภูมิภาค ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมเดอะ คาวาลิ คาซ่า รีสอร์ต จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อรายงานผลการดำเนินโครงการและถอดบทเรียนจากโครงการที่ สทนช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ปี 65 จำนวน 2 โครงการได้แก่
โครงการสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชนด้านน้ำในระดับภูมิภาคล้านช้าง - แม่โขงซึ่งช่วยส่งเสริมบทบาทและศักยภาพของเยาวชนจาก 6 ประเทศของภูมิภาคในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนของภูมิภาคในอนาคต และโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะด้านน้ำที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบนาข้าวระดับภูมิภาคล้านช้าง - แม่โขง เพื่อเร่งรับมือกับปัญหาภัยแล้งและภาวะขาดแคลนน้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ชาญฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศมาใช้สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ช่วยส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยมีจังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่นำร่องดำเนินการ โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าว มีสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (SEI) และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERIC) เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการตามแผนงาน มีกำหนดเสร็จสิ้นในเดือน ธ.ค.นี้ - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี