นครพนมขานรับ “ธวัชบุรีโมเดล” ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด นำร่องอำเภอศรีสงคราม พื้นที่เส้นทางโจรผ่าน ลำเลียงยาบ้าเข้าตอนใน คาดโทษคนของรัฐที่รู้เห็นเป็นใจ
วันนี้ (16 พ.ย.67) ที่ห้องประชุมพระธาตุธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 (ผอ.กอ.รมน.2) ผู้บัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 (ผบ.นบ.ยส.24) และ พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ (จรช.) พล.ต.ท.สยาม บุญสม จเรตำรวจ (จรต.) พล.ต.ท.อุดร ยอมเจริญ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.) พล.ต.ต.ณัฐนนท์ ประชุม รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (รอง ผบช.ภ.4) นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ร่วมประชุมบูรณาการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบาย ข้อสั่งการการป้องกันยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่จังหวัดนครพนม
โดยรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันยาเสพติด การสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด การสร้างอาชีพให้กับผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู การสนับสนุนและการแก้ไขปัญหายาเสพติดและการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อรับทราบข้อมูล สถานการณ์ในพื้นที่ ปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้มอบแนวทางการปฏิบัติ การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเน้นการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล
ในการประชุมครั้งนี้ถือเป็นความลับระดับหนึ่ง โดยไม่ให้สื่อมวลชน หรือบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ภายในห้อง ในการนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เพื่อทำให้ประชาชนมีความสุข ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ครั้งลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการแก้ไขปัญหายาเสพติดใน อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 1พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และพึงพอใจในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีหลักการสำคัญคือการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อเข้าถึงและแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การป้องกัน การบำบัด และการฟื้นฟู จึงเกิดเป็นโครงการ ”ธวัชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบนำร่องขยายผลการดำเนินการไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามภูมิภาค
โดยเริ่มก่อนที่จังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุทัยธานี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ สกลนคร นครพนม ระยอง นครศรีธรรมราช ตรัง และนราธิวาส
ในส่วนของ จ.นครพนม ถือเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ ลำเลียงสิ่งผิดกฎหมายข้ามลำน้ำโขงประจำ ส่วนหนึ่งมีคนของรัฐ และนักการเมืองท้องถิ่นบางคนเอี่ยวด้วยโดยใช้เงินจ้างชาวบ้านริมแม่น้ำโขงเป็นหูเป็นตา สอดส่องบุคคลแปลกหน้า รวมถึงใช้เป็นที่พักยาเสพติด ก่อนจะอาศัยจังหวะลำเลียงเข้าพื้นที่ตอนใน
ทั้งนี้ จากสถิติการตรวจยึดจับกุม พบว่าส่วนใหญ่แก๊งค้ายาบ้า จะใช้เส้นทางผ่าน อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม และจะนำยาเสพติดมาพักเพื่อรอการส่งต่อ ลักษณะขนขยับจากริมแม่น้ำโขง เข้ามาไว้ในพื้นที่ ก่อนจะลำเลียงเข้าตอนในไป จนกว่าจะถึงมือเอเยนต์ใหญ่
ในที่ประชุมจึงให้เริ่มโครงการดังกล่าว ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม เป็นอันดับแรก โดยไม่มีการทำงานทับซ้อนกับหน่วยสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 (นบ.ยส.24) ที่ตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2566 แต่จะเป็นการทำงานคู่ขนานกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งยังคาดโทษคนของรัฐที่มีส่วนรู้เห็น สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ไม่มีใครให้ข้อมูล เนื่องจากการประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นความลับ ถ้ามีการรั่วไหลออกไป จะต้องมีคนในที่ประชุมเท่านั้นที่รู้ และมีรายชื่อไว้ก่อนเข้าประชุมทุกคน
ด้าน พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามรูปแบบ “ธวัชบุรีโมเดล” จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการ ศอ.ปส.จ.นครพนม เพื่อมอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามรูปแบบ “ธวัชบุรีโมเดล” ที่เคยได้ดำเนินการใน จ.ร้อยเอ็ด รวมทั้งเพื่อร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จ.นครพนม ซึ่งได้มีการชี้แจงให้ที่ประชุมทราบวัตถุประสงค์กรอบอำนาจหน้าที่คณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และแนวทางการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีความสุข โดยได้มีการพิจารณาการมอบหมายหน้าที่และแบ่งมอบพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
ทั้งนี้ ในการประชุมฯ ได้มีการนำเสนอโดยการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันยาเสพติด การสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด การสร้างอาชีพให้กับผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู การสนับสนุนและการแก้ไขปัญหายาเสพติดและการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อรับทราบข้อมูล สถานการณ์ในพื้นที่ ปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้มอบแนวทางการปฏิบัติ การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเน้นการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติดให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งจังหวัดนครพนมได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีการจัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 (นบ.ยส.24) เพื่อให้เกิดการดำเนินการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อนึ่ง จ.นครพนม จะยกระดับการแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ใช้รูปแบบ 'ธวัชบุรีโมเดล' มาเป็นแนวทางในการดำเนินการและกำหนดขั้นตอนดำเนินการไว้ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นเตรียมการ ขั้นปฏิบัติการ ขั้นส่งต่อ ความยั่งยืน ขั้นทบทวนหลังการปฏิบัติ และขั้นขยายผลไปพื้นที่อื่น
รวมทั้งยังกำหนดความรับผิดชอบให้แต่ละส่วนราชการ ได้แก่ จังหวัดนครพนม และ ศอ.ปส.จว.น.พ. เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก ทำหน้าที่ในการวางแผน อำนวยการ บูรณาการ ประสาน และควบคุมกำกับดูแล รวมทั้งขับเคลื่อนการสร้างหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็ง สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม และตำรวจปราบปรามยาเสพติด รับผิดชอบหลักในมาตรการสกัดกั้น และมาตรการปราบปราม เน้นสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่เขตของจังหวัด การปิดล้อมตรวจค้น ติดตามจับกุม ขยายผล และยึดทรัพย์สินคดียาเสพติด
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม (สสจ.ฯ) รับผิดชอบหลักในมาตรการบำบัด เน้นการคัดกรอง แบ่งแยกผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด ผู้เสพ และผู้ติดยาเสพติด ก่อนนำเข้าบำบัด ตามระดับความรุนแรง สำนักงานแรงงาน และพัฒนาชุมชน ฯ รับผิดชอบหลักให้การช่วยเหลือ ภายหลังผ่านกระบวนการบำบัด โดยการจัดหางานสนับสนุน การฝึกอาชีพ และการพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่วนมณฑลทหารบกที่ 210 (มทบ.210) เป็นหน่วยร่วมในการวางแผน อำนวยการ ประสานการปฏิบัติ และเป็นหน่วยสนับสนุนให้กับทุกส่วนราชการที่เป็นหน่วยปฏิบัติหลัก และเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยจึงได้กำหนดตารางประสานสอดคล้องให้ครอบคลุม ทั้งภารกิจ หน่วยปฏิบัติหลัก และหน่วยสนับสนุน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี