ดีเอสไอฝากขังศาลครั้งที่สี่ 18 บอสดิไอคอน แจ้งเพิ่มข้อหาใหม่ เข้าข่าย“เเชร์ลูกโซ่” เพิ่ม เวลาฝากขังเป็น 7 ผัด 84 วัน เปิดพฤติการณ์ยิบตุ๋นเหยื่อ 9 พันคน เสียหายร่วม3 พันล้าน เน้นหาสมาชิกใหม่มากกว่าขายของ รายได้ของดิไอคอนมิได้เกิดจากการขายสินค้าที่แท้จริง ยังค้านประกันตัว เพราะต้องสอบเหยื่อร่วมครึ่งหมื่น ขณะที่ศาลอนุมัติหมายจับ “เอก สายไหมต้องรอด” ปมโพสต์ข้อมูลเท็จคดีดิไอคอน เจ้าตัวโร่พบตำรวจ เตรียมพยานหลักฐาน-ทนายและหลักทรัพย์พร้อมประกันตัว ยันที่ผ่านมาไม่เคยปฎิเสธเข้าพบตำรวจ พร้อมมาตามนัด ยันไม่รู้จักบอสดิไอคอน แค่พาพยานที่มาร้องไปให้ตำรวจตรวจสอบ
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก.และพล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธุ์ ผบก.ปปป. ประชุมชุดพนักงานสืบสวนสอบสวนติดตามความคืบหน้าคดีสำคัญของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด
เรียก“เอก สายไหม”สอบปมพยานเท็จ
หลังประชุม พล.ต.ต.จรูญเกียรติเผยว่า คดีต่างๆคืบหน้ามาก สัปดาห์หน้าน่าจะชัดเจนหลายเรื่อง ในส่วนคดีนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด อยู่ในขั้นตอนพนักงานสอบสวน ซึ่งเวลา 15.00 น.วันนี้ (22 พฤศจิกายน) ชุดสืบสวนนัดนายเอกภพมาให้ถ้อยคำ ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามเรียกนายเอกภพมาตั้งแต่วันจันทร์อังคารที่ผ่านมา แต่นายเอกภพอ้างว่าติดธุระ เดี๋ยวจะมาพร้อมทนาย ซึ่งกรณีนายเอกภพจะเข้าข่ายความผิดเรื่องพ.ร.บ.คอมพ์ สำหรับพยานเท็จก็เรียกมาสอบแล้ว แต่บริษัทดิไอคอนไม่ติดใจดำเนินคดี จึงเหลือเพียงแค่นายเอกภพเพียงคนเดียว ดิไอคอนยืนยันแล้วว่าพยานดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับดิไอคอน
จ่อออกหมายเรียก‘ฟิล์ม’ปม20ล้าน
ส่วนกรณีนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือฟิล์ม และน.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ หรือ เจ๊พัชถูกกล่าวหา เรียกรับเงินจากบอสดิไอคอน 20 ล้านบาท โดยอ้างชื่อนายภูดิท กำเนิดพลอย หรือ หนุ่ม กรรชัย พนักงานสอบสวนบก.ป.ประชุมแล้วเห็นว่าจะรวมเป็นคดีเดียวทั้งหมด ทั้งคดีที่หนุ่ม กรรชัยมาร้องทุกข์ข้อหาหมิ่นประมาทและบอสดิไอคอนมาร้องทุกข์ข้อหาพยายามฉ้อโกงและพยายามกรรโชกทรัพย์ แต่จะเข้าข้อหาใดบ้าง ขอให้ทางพนักงานสอบสวนเข้าไปสอบปากคำ น.ส.ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพรหรือ บอสปัน ก่อน และค่อยพิจารณากันอีกครั้งว่าจะเข้าข้อหาใด เบื้องต้นคดีดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของศาลแขวง ความผิดจะได้รับโทษ 2 ใน 3 จึงจะออกหมายเรียกได้เท่านั้น
หมายจับ“เอก สายไหม”ผิดพรบ.คอมพ์ฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตำรวจ บก.ปอท. นำหลักฐานไปยื่นต่อศาล เพื่อขออนุมัติหมายจับ นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสายไหมต้องรอด ตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยศาลได้อนุมัติหมายจับนายเอกภพแล้ว ขณะที่เจ้าตัวกำลังเดินทางเข้าพบตำรวจ ที่บช.ก. โดยนายเอกภพหรือ เอก สายไหมเผยว่า ทราบข่าวว่ามีหมายจับจากสื่อ ตามกำหนดวันนี้ตำรวจเชิญให้ตนมาให้ถ้อยคำ จึงเดินทางมา ยืนยันสิ่งที่ทำเพื่อประชาชน และปฎิเสธว่าไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับบอสดิไอคอน การนำตัวพยานมา เพราะพยานมาแจ้งตน ตนจึงพามาให้ตำรวจตรวจสอบ วันนี้นำเอกสารหลักฐานทั้งหมดมาและเตรียมทนายแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่กังวลใจ มองว่าเป็นขั้นตอนกฎหมาย เชื่อว่าบช.ก. จะให้ความเป็นธรรม ซึ่งตนเตรียมหลักทรัพย์ประกันตัวไว้แล้ว หากเห็นหมายจับ ก็ยินดีมอบตัวกับพนักงานสอบสวน ส่วนที่ผ่านมาตำรวจนัดมาแล้วหลายครั้ง ตนไม่ได้ปฎิเสธ ตนแจ้งว่ายินดีเข้ามาพบวันนี้ตามคำนัดหมาย
ฝากขังครั้งที่สี่18บอสดิไอคอน
วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 นายวรัตน์พล หรือบอสพอล วรัทย์วรกุล ประธานบริหารบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวกรวม 18 ราย ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชน โดยคำร้องฝากขังครั้งนี้ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ เเนบคำร้องเเจ้ง ข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง18 คนเพิ่มเติมมาด้วย โดยสรุปว่า
สำหรับคดีนี้ ดีเอสไอได้รับหนังสือเรื่อง “ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีมีการร้องทุกข์กล่าวโทษในการทำความผิดอาญาอันเป็นคดีพิเศษ” มาพร้อมสำนวนการสอบสวนคดีอาญาจำนวน 92,289 แผ่น ในการดำเนินคดี กับบริษัท ดีไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก มาให้พิจารณาว่าเข้าเข้าเงื่อนไขเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ดีเอสไอจึงเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกลองการรับคดีพิเศษ และมีมติที่ประชุมวันที่ 29 ตุลาคมเป็นเอกฉันท์ เห็นว่ากรณีดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ เป็นการร่วมกันกระทำผิดที่มีลักษณะเป็นกลุ่มขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำเป็นระบบ ส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้างทั่วราชอาณาจักร มีประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมาก ถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง จึงเสนออธิบดี ดีเอสไอมีคำสั่งให้เป็นคดีพิเศษและมอบกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน ต่อมา อธิบดี ดีเอสไออนุมัติให้เป็นคดีพิเศษ จึงรับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 119/2567
แจงยิบพฤติการณ์เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่
จากนั้นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนปากคำผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรงฯและพยานเจ้าหน้าที่ จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คำให้การของ นายณัชภัทร ขาวแก้ว นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)ได้รับมอบอำนาจจากเลขาธิการ สคบ.ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ในความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ตามมาตรา 19รวมถึงความผิดฐานอื่นและบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ตามมาตรา 54แห่ง พ.ร.บ.ขายตรงฯ ซึ่งสคบ. เชิญผู้เสียหายมาให้ถ้อยคำจนทราบรายละเอียด รูปแบบ การดำเนินธุรกิจของบริษัทดิไอคอนฯ โดย ตรวจสอบและพิจารณาแล้วพบว่า บริษัท ดิไอคอน ฯได้มีการโฆษณาผ่านเฟซบุ๊คเพื่อชักชวนให้ประชาชน รวมทั้งผู้เสียหายเข้าร่วมธุรกิจกับบริษัทเพื่อสร้างรายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ มีการชักชวนให้เป็นตัวแทนจำหน่าย ลักษณะเครือข่ายเป็นแม่ทีม-ลูกทีม โดยสร้างเครือข่ายด้วยการชักชวนให้บุคคลอื่นมาสมัครสมาชิก จะได้ผลตอบแทนตามจำนวนสมาชิกที่แนะนำมาสมัคร
ในส่วนสินค้านั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าตัวแทนจำหน่ายที่รับสินค้าไป ไม่ได้นำสินค้าไปขายให้ผู้บริโภคทั่วไป มีเพียงการขายให้กันระหว่างตัวแทนใต้สายงานของตนเอง ซึ่งตามข้อเท็จจริง ในการประกอบธุรกิจบริษัท ดิไอคอน ฯมีลักษณะเป็นการชักชวนและมุ่งเน้นให้หาสมาชิกรายใหม่เพิ่ม มาสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า โดยมีการกำหนดเป็นตำแหน่งต่างๆ ตั้งแต่ระดับผู้จัดจำหน่ายรายย่อย ไปจนถึงตำแหน่ง royal crown dealer อีกทั้ง ผู้บริโภคก็ไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ของดิไอคอนฯ ได้ ต้องสมัครเป็นตัวแทน จึงจะซื้อสินค้าได้ จะเห็นได้ว่าการประกอบธุรกิจของบริษัทดิ ไอคอนฯ ไม่เป็นไปตามที่นายทะเบียนได้อนุญาตให้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงแต่อย่างใด มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจในลักษณะมีตัวแทนหลายชั้นผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 19,20 ต้องระวางโทษตามมาตรา 46,48 แห่ง พ.ร.บ.ขายตรงฯ
จึงมีมติเอกฉันท์ให้แจ้งข้อกล่าวหาเผู้ต้องหา ความผิดฐานดังกล่าว และเปลี่ยนลำดับผู้ต้องหาตามลำดับความสำคัญของพฤติการณ์ในคดี ดังนี้ 1.บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดยนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้มีอำนาจดำเนินการแทนนิติบุคคล (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 18) เป็นผู้ต้องหาที่ 1 2.นายวรัตน์พล หรือบอสพอล วรัทย์วรกุล (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 19) เป็น ผู้ต้องหาที่ 2 3.นายจิระวัฒน์ หรือบอสแล็ป แสงภักดี (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 1) เป็นผู้ต้องหาที่ 3 4.นายกลด หรือบอสปีเตอร์ เศรษฐนันท์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 2) เป็นผู้ต้องหาที่ 4 5.น.ส.ปัญจรัศม์ หรือบอสปัน กนกรักษ์ธนพร (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 3) เป็นผู้ต้องหาที่ 5 6.นายฐานานนท์ หรือบอสหมอเอก หิรัญไชยวรรณ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 4) เป็นผู้ต้องหาที่ 6
7.น.ส.นัฐปสรณ์ หรือบอสสวย ฉัตรธนสรณ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 5) เป็นผู้ต้องหาที่ 7 8.น.ส.ญาสิกัญจณ์ หรือบอสโซดา เอกชิสนุพงศ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 6) เป็นผู้ต้องหาที่ 8 9.นายนันท์ธรัฐ หรือบอสโอม เชาวนปรีชา (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 7) เป็นผู้ต้องหาที่ 9 10.นายธวิณทร์ภัส หรือบอสวิน ภูพัฒนรินทร์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 8) เป็นผู้ต้องหาที่ 10 11.น.ส.กนกธร หรือบอสแม่หญิง ปูรณะสุคนธ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 9) เป็นผู้ต้องหาที่ 11 12.น.ส.เสาวภา หรือบอสซูมมี่ วงษ์สาชา (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 10) เป็นผู้ต้องหาที่ 12
13.นายเชษฐ์ณภัฏ หรือบอสทอมมี่ อภิพัฒนกานต์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 11) เป็นผู้ต้องหาที่ 13 14.นายหัสยานนท์ หรือบอสป๊อป เอกชิสนุพงศ์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 12) เป็นผู้ต้องหาที่ 14 15.น.ส.วิไลลักษณ์ หรือบอสจอย ยาวิชัย หรือเจ็งสุวรรณ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 13)เป็นผู้ต้องหาที่ 15 16.นายธนะโรจน์ หรือบอส อ็อฟ ธิติจริยาวัชร์ (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 14) เป็นผู้ต้องหาที่ 16 17.นายยุรนันท์ หรือบอสแซม ภมรมนตรี (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 15) เป็นผู้ต้องหาที่ 17 18.น.ส.พีชญา หรือบอสมีน วัฒนามนตรี (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 16)เป็นผู้ต้องหาที่ 18 19.นายกันต์ หรือบอสกันต์ กันตถาวร (เดิมคือผู้ต้องหาที่ 17) เป็น ผู้ต้องหาที่ 19
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เข้าแจ้งข้อกล่าวหาและฐานความผิดเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาทุกรายให้ทราบว่า “ร่วมกันกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น,ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ค้านประกัน-ชี้เหยื่อพุ่ง9พัน/สูญเฉียด3พันล.
ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนดีเอสไอระบุว่า ถ้าผู้ต้องหาขอปล่อยชั่วคราว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ประกอบกับมีผู้เสียหายจำนวนเบื้องต้นประมาณ 9,000 ราย มูลค่าความเสียหายจำนวนถึง 2,956,274,931 บาท ซึ่งผู้ต้องหาอาจหลบหนีได้หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ศาลอาญาพิจารณาคำร้องเเล้วอนุญาตให้ฝากขังได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีที่พนักงานสอบสวนเเจ้งข้อหาเพิ่มเติม เป็นข้อหาที่มีอัตราโทษจำคุกถึง 10 ปีเเละศาลอนุญาตฝากขังในข้อหาดังกล่าวเเล้วจะทำให้ สามารถยื่นฝากขังผู้ต้องหาได้ 7 ครั้ง รวม 84 วันจากเดิมที่ยื่นฝากขังได้ 4 ครั้ง 48 วัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี