ผ่านพ้นไปแล้วกับ “เวทีจัดการความรู้สุขภาวะชุมชนเมืองตักสิลา ภายใต้โครงการสร้างสุขภาวะเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนเทศบาลเมืองมหาสารคาม” จัดโดยเทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีภาคีเครือข่ายจากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วมกว่า 600 คน ณ ห้องประชุมตักสิลาคอนเวนชั่นฮอลล์ อ.เมือง จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา
การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการความรู้นวัตกรรมการบริการสาธารณะที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยการสานพลังทางวิชาการและปฏิบัติการสู่พลังทางนโยบาย พร้อมร่วมประกาศวาระการสร้างเสริมสุขภาพเมืองตักสิลา ซึ่งโครงการสร้างสุขภาวะเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนเทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานเสริมความเข้มแข็งและสร้างสุขภาวะชุมชนเขตเมือง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการจัดการพื้นที่ด้วยการใช้ทุนและศักยภาพที่มีอยู่
พร้อมทั้งออกแบบระบบการจัดการและพัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบาย ผ่านการดำเนินงาน 4 มิติหลักได้แก่ การลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยส่งเสริมชุมชนปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย และจัดการอาหารปลอดภัยในชุมชน การสร้างสังคมสุขภาวะ ผ่านการพัฒนาระบบดูแลเด็กปฐมวัย สร้างครอบครัวอบอุ่น และดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาความน่าอยู่ของชุมชน ด้วยการจัดการขยะ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการครั้งนี้ เทศบาลเมืองมหาสารคามได้ร่วมมือกับเครือข่าย 5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย อบต.แก่งเลิงจาน อบต.เกิ้ง อบต.เขวา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทเทศบาล จำนวน 2 อำเภอ ประกอบด้วยเทศบาลตำบลบรบือ อำเภอบรบือ และเทศบาลตำบลโกสุมพิสัย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากจะสามารถลดจำนวนการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่แล้วยังเกิดนวัตกรรมการเสริมสร้างสุขภาวะสู่เมืองน่าอยู่ที่ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่จนส่งผลให้เทศบาลเมืองมหาสารคามก้าวสู่การเป็นพื้นที่เรียนรู้การจัดการสุขภาวะชุมชนเขตเมืองตามแนวทางSmart City โดย นายวิบูรณ์ แววบัณฑิตผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นประธานเปิดงาน กล่าวชื่นชมเทศบาลเมืองมหาสารคามที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนโครงการสร้างสุขภาวะเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน
ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดมหาสารคาม 20 ปีที่มุ่งเน้นการสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีและให้ความสำคัญกับการป้องกันสุขภาพก่อนการรักษา อันเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ การเพิ่มอายุเฉลี่ยการมีสุขภาพดีของประชาชนในจังหวัดให้สูงขึ้น โดยหวังว่าการทำงานในระยะ 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้ก้าวต่อไปข้างหน้า เป็นจังหวัดสุขภาพดี สามารถลดจำนวนการเจ็บป่วย และมีอายุยืนได้
นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม กล่าวในการแสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เทศบาลเมืองมหาสารคาม เมือง Smart City น่าอยู่อย่างยั่งยืน” ว่า การขับเคลื่อนโครงการสร้างสุขภาวะเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนเทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในหลายด้าน ทั้งการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ การเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย การพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ และการส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัย โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ ซึ่งนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งโดยเป้าหมายคือการประกาศให้มหาสารคามเป็นเมืองสุขภาวะอย่างแท้จริง ภายในปี 2030 (2573) เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ตรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส.กล่าวถึงเป้าหมายการสนับสนุนการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนเขตเมือง ว่า ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ความเป็นเมืองมีสุขภาพดี คุณภาพชีวิตดี และเข้าถึงบริการสุขภาพ ด้วยหลักการและจุดเน้นในการทำงานที่ สสส. เข้ามาร่วมขบวนขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับสำนัก/กองของเทศบาลร่วมกับกลุ่ม/ชุมชน แกนนำ สถาบันวิชาการ ภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ผ่านข้อมูล ความรู้ ทักษะ และปฏิบัติการร่วมกัน
ด้วยกฎ กติกา การสร้างข้อตกลง การกำหนดเป้าหมายและทิศทางในการพัฒนางาน/บริการ/กิจกรรม ด้วยการสนับสนุนทรัพยากรร่วมกันตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายในการจัดการสุขภาวะเขตเมืองร่วมกัน ซึ่งสำหรับประเด็นการจัดการสุขภาวะของชุมชน มหาสารคาม เพื่อลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรนั้นสสส. มีแนวทางการสนับสนุนโดยใช้พื้นที่เป็นฐานในการพัฒนา ผ่านการใช้ทุนทางสังคมและศักยภาพของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายกระจายไปในทุกอำเภอของจังหวัดมหาสารคาม รวม 61 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 42.96 โดยเครือข่ายเหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในทุกนโยบายของการพัฒนาเมืองมหาสารคามร่วมกันทั้งนี้ มีตัวอย่างผลการดำเนินงานของเทศบาลเมืองมหาสารคามที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่องจากปี 2565 จนถึงปัจจุบัน อาทิ
1.ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ จากเดิม 3,078 คน เหลือ 2,059 คน ลดลง 1,019 คน (ร้อยละ 33.11) 2.ลดควบคุมจำนวนผู้ป่วยเรื้อรัง จากเดิม 2,062 คน เหลือ 1,856 คน ลดลง 206 คน (ร้อยละ 10) 3.ลดจำนวนผู้ว่างงาน จากเดิม 348 คน เหลือ222 คน ลดลง 126 คน (ร้อยละ 36.21) 4.เพิ่มจำนวนผู้ออกกำลังกาย จากเดิม 17,035 คน เป็น 19,127 คน เพิ่มขึ้น 2,092 คน (ร้อยละ 12.28)
5.เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย จากเดิม 177 คน เป็น 350 คน เพิ่มขึ้น 173 คน (ร้อยละ97.74) 6.เพิ่มวันจำหน่วยตลาดเขียว และมีการส่งเสริมการผลิตพืช ผักระดับครัวเรือนและเพิ่มวันจำหน่วยตลาดเขียว จากเดิม 2 แห่ง เป็น7 แห่ง เพิ่มขึ้น 5 แห่ง (ร้อยละ 250) 7.เพิ่มครัวเรือนทำเกษตรอินทรีย์และลดปริมาณการใช้สารเคมี จากเดิม 157 ครัวเรือน เป็น 520 ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 363 ครัวเรือน (ร้อยละ 231.21)
8.เพิ่มจำนวนครัวเรือนที่มีการจัดการขยะเองได้ จากเดิม 5,282 ครัวเรือน เป็น 12,060 ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 6,778 ครัวเรือน (ร้อยละ128.32) 9.มีระบบการดูแลสุขภาพเพื่อลดปัญหาความเจ็บป่วยในผู้สูงอายุได้จำนวน 14,996 คน ร้อยละ 100 และ 10.มีแผนรับมือการเกิดภัยพิบัติของเทศบาลเมืองมหาสารคาม และมีความพร้อมในการช่วยเหลือภายในพื้นที่และเครือข่าย เป็นต้น
ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนา “สุขภาวะชุมชนเมืองตักศิลา” เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันและร่วมกันกำหนดแนวทางพัฒนาท้องถิ่นสุขภาวะสู่จังหวัดสุขภาวะ พร้อมระดมข้อเสนอต่อยอดและยกระดับการดำเนินงานเพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชน นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนเมือง” เพื่อให้ภาคีเครือข่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านบทเรียนการทำงาน แบ่งเป็น 3 ห้องย่อย ประกอบด้วย
ห้องที่ 1 : Smart City : Smart Healthy, ห้องที่ 2 : การลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ครอบคลุมประเด็นการลดบุหรี่และแอลกอฮอล์ การบริโภคอาหารปลอดภัย และการรับมือภัยพิบัติ และห้องที่ 3 : การสร้างสังคมสุขภาวะ นำเสนอบทเรียนการจัดการศึกษาเพื่อเด็กปฐมวัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งการจัดเวทีจัดการความรู้สุขภาวะชุมชนเมืองตักสิลาในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะ
กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นโอกาสในการแบ่งปันประสบการณ์และองค์ความรู้แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนและพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนให้กับประชาชนชาวเมืองมหาสารคามต่อไปได้!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี