ตำรวจสอบเครียดนาน 6 ชั่วโมง อดีตเมีย-ลูกสาว “หมอบุญ” ให้การภาคเสธ อ้างถูกปลอมลายเซ็น คดีฉ้อโกงเหยื่อสูญ 7.5 พันล้านบาท พร้อมให้ทนายแจ้งเอาผิดหมอบุญ รอส่งฝากขังต่อศาลอาญา 25 พฤศจิกายนนี้ ด้าน ผบก.น.1รอหารือผู้บังคับบัญชา ปมมีผู้เสียหายหลายพื้นที่ ส่วนหมอบุญ ประสานขอหมายแดงแล้ว
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีศาลอาญาออกหมายจับ นพ.บุญ หรือ “หมอบุญ” วนาสิน อายุ 86 ปี, นางจารุวรรณ วนาสินอายุ 79 ปี อดีตภรรยา และ น.ส.นลิน วนาสิน อายุ 51 ปี ลูกสาว พร้อมพวกรวม 9 คน ในข้อหาฉ้อโกง สมคบกันฟอกเงินและ พ.ร.บ.เช็ค หลังจากเปิดโครงการใหญ่ล่อลวงเหยื่อกระเป๋าหนักกว่า 247 คน ร่วมลงทุนใน 5 โครงการ จนสูญเงินรวมกว่า 7,500 ล้านบาท ซึ่งชุดสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหามาได้แล้ว 6 คน ส่วนอดีตภรรยากับลูกสาวเข้ามอบตัว อ้างว่าถูกปลอมลายมือชื่อเซ็นค้ำประกันเงินกู้ โดยตำรวจได้คุมตัวไปให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำอย่างเคร่งเครียด ว่าทางทนายความของอดีตภรรยาหมอบุญ เตรียมแจ้งความดำเนินคดีกับหมอบุญ ในข้อหาปลอมลายเซ็น
ทั้งนี้ ภายหลังการสอบสวนนานกว่า 6 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยส่งตัวอดีตภรรยาและลูกสาว ควบคุมไว้ที่ห้องขัง สน.พญาไท ส่วนหมอบุญตรวจสอบพบว่าบินหนีไปฮ่องกงตั้งแต่วันที่ 29 กันายนที่ผ่านมา หลังจากนั้นได้เดินทางต่อไปยังประเทศจีน ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานตำรวจสากลตามล่าตัว
นอกจากนี้ยังมีเหยื่ออีก 12 คน ได้เข้าแจ้งความกับทางตำรวจ บก.ปอศ.ภายหลังถูกผู้ต้องหากลุ่มเดียวกัน ฉ้อโกงรวมเป็นเงิน 1,900 ล้านบาท ซึ่งทาง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.สั่งให้ส่งสำนวนการสอบสวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว หลังจากพบว่ามูลค่าความเสียหายเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสายวันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศห้องควบคุมตัวผู้ต้องหา สน.พญาไท ซึ่งควบคุมตัวอดีตภรรยาและลูกสาวของหมอบุญ ชั่วคราว ว่าทั้งสอง ยังคงถูกคุมตัวไว้ โดยยังไม่มีเจ้าหน้าที่เบิกตัวไปสอบสวนเพิ่มเติม หรือขยายผลต่อแต่อย่างใด ขณะที่คืนที่ผ่านมาจนถึงช่วงเช้า ผู้ต้องหาก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรเป็นพิเศษ
สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 2 คนมีความกังวลและเครียดตามปกติ แต่ด้วยความเป็นแม่ลูกและได้อยู่ด้วยกัน ทำให้คลายกังวลและคอยช่วยเหลือกันได้บ้าง ส่วนเวลาเยี่ยมผู้ต้องหา ในช่วงเช้าเวลา 08.00-09.00 น.มีหญิง 1คน ที่เป็นญาติ ได้ซื้อข้าว ผลไม้ และกาแฟ พร้อมกับหอบหิ้วข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นและเสื้อผ้ามาเข้าเยี่ยม แต่ไม่สะดวกให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน และไม่สะดวกให้ถ่ายภาพ คาดว่าผู้ต้องหาทั้ง2 จะถูกคุมขังอยู่จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นจึงจะถูกคุมตัวไปขออำนาจศาลผัดฟ้องฝากขังที่ศาลอาญาต่อไป
พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น.1 กล่าวว่า เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนสอบปากคำ น.ส.นลิน เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการสอบปากคำนางจารุวรรณ ที่เมื่อคืนที่ผ่านมา ได้ขอพักและขอรับประทานยารักษาโรคประจำตัวหลายครั้ง จึงต้องพักการสอบสวนไว้ก่อน และเตรียมสอบปากคำเพิ่มเติมในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ซึ่งเบื้องต้นทั้งคู่ให้การภาคเสธ แต่รายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอยู่ในสำนวนการสอบสวน แต่ยืนยันว่าได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคดี และได้เตรียมขยายผลไปยังผู้ร่วมขบวนการรายอื่นๆ
พล.ต.ต.อัฏธพร กล่าวอีกว่า เนื่องจากคดีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก แค่เฉพาะในพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) มีผู้เสียหายแล้วกว่า 247 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 7,600 ล้านบาท ยังไม่นับรวมพื้นที่อื่นๆ และในต่างจังหวัดที่อยู่นอกพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ดังนั้นหลังจากนี้จะต้องประชุมหารือกับผู้บังคับบัญชาว่าจะมีแนวทางในการรับแจ้งความผู้เสียหายอย่างไร ปัจจุบันมีผู้เสียหายจากต่างจังหวัดทยอยเข้ามาแจ้งความต่อเนื่อง ทางตำรวจนครบาล จะรับเรื่องไว้เบื้องต้นก่อน ส่วน นพ.บุญ ที่อดีตภรรยาและลูกสาว ให้ข้อมูลว่าอยู่ที่ประเทศจีนนั้น พนักงานสอบสวนได้ยื่นเรื่องไปที่กองการต่างประเทศ เพื่อยื่นขอให้ตำรวจสากลออกหมายแดงโดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
ด้าน พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.สั่งการให้ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ.พร้อมด้วยพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ.ส่งสำนวนการสอบสวนคดีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ นพ.บุญ วนาสิน อายุ 86 ปี ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรี กับพวก ในคดีเกี่ยวกับการหลอกลวงชักชวนให้ลงทุนให้กับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) โดยส่งมอบสำนวนคดีไปเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้เสียหาย12 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 1,900 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าความเสียหายเข้าข่ายรับเป็นคดีพิเศษนั้น
รายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า สำหรับการรับโอนสำนวนดังกล่าวจากหน่วยงานเจ้าของสำนวนเดิม ตามขั้นตอนแล้ว หากเป็นการส่งหนังสือผ่านมาทางไปรษณีย์หรือมีคนมายื่นคำร้องก็ตาม เรื่องก็จะเข้าสู่กองบริหารคดีพิเศษ หากเป็นเรื่องเร่งด่วนก็จะมีการรายงานไปยังเลขานุการกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อรับทราบก่อน ว่าบุคคลในคดีเป็นผู้ต้องหาในฐานความผิดใดและมีหมายจับของศาลด้วยหรือไม่ จากนั้นกองบริหารคดีพิเศษ ก็จะมีการรายงานไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ทั้งนี้ อธิบดีฯ จะดำเนินการ 2กรณี คือ 1.อธิบดีฯ เห็นว่าพยานหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว อาจมีคำสั่งให้รับไว้เป็นคดีพิเศษ ตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่องกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ หรือ2.หากอธิบดีฯ เห็นว่าอาจต้องมีการกลั่นกรอง ก็จำเป็นต้องส่งเรื่องเข้าไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองคดีพิเศษ ซึ่งมี ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานฯ มีกองกฎหมายและกองบริหารคดีพิเศษ เป็นกรรมการ เพื่อกลั่นกรองเรื่องพิจารณาและเสนอความเห็นรายงานไปยังอธิบดีฯ เพื่อให้รับไว้เป็นคดีพิเศษ ว่าจะให้รับเป็นคดีพิเศษด้วยมาตราใด เช่น รับเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) เป็นต้น จากนั้นอธิบดีฯ จึงจะมีข้อสั่งการตามขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม หากกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับเป็นคดีพิเศษแล้ว สำนวนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกส่งมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นสำนวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) หรือสำนวนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นอกจากนี้หากคดีไม่มีความซับซ้อนมาก กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ แต่ถ้ามีความซับซ้อนเหมือนคดีดิไอคอนฯ ก็มีความเป็นไปได้ว่าต้องตั้งเป็นคณะพนักงานสอบสวน หรือตั้งเป็นวอร์รูม
รายงานข่าวระบุด้วยว่า หากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สั่งการให้รับคดีดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษ ก็จะส่งเรื่องไปยังกองคดีที่จะให้รับผิดชอบดำเนินการ ดังนั้น หากพฤติการณ์ทางคดีที่ปรากฏในสำนวนมีลักษณะความผิดเป็นแชร์ลูกโซ่ หรือ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 อาจจะต้องมอบหมายให้กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ หรือกองคดีแชร์ลูกโซ่ รับไปดำเนินการ
รายงานข่าวระบุอีกว่า ส่วนกรณีที่นพ.บุญ วนาสิน หรือหมอบุญ (ผู้ต้องหารายสำคัญ) ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทางตำรวจได้ประ สานไปยังกองการต่างประเทศให้ทำหนังสือไปยังตำรวจสากล เพื่อขอออกหมายแดงให้ช่วยติดตามจับกุมนั้น หากมีการรับโอนสำนวนมาและดีเอสไอรับไว้เป็นคดีพิเศษแล้ว ในบรรดาผู้ต้องหาที่ตกค้างอยู่ ก็เป็นหน้าที่ของดีเอสไอที่จะต้องติดตามจับกุมตัวและสอบสวนสืบสวนขยายผล
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีอำนาจในการจับกุมอยู่ดังเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ หรือสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนก็ตาม ดีเอสไอจึงมีหน้าที่อีกประการก็คือประสานงานกับกองการต่างประเทศ (ตร.) ซึ่งถ้าหากมีการจับกุมตัวได้แล้ว เจ้าพนักงานผู้จับกุมก็ต้องนำตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีในเวลานั้น
ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบไปยังเลขานุการกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรียบร้อยแล้ว และได้รับรายงานว่ายังไม่พบว่ามีการประสานเรื่องดังกล่าวเข้ามาแต่อย่างใด แต่หลังจากนี้หากมีการประสานจะส่งสำนวนคดีดังกล่าวให้ดีเอสไอ ก็จะต้องดูในเรื่องของข้อกฎหมายประกอบกัน อาทิ สำนวนดังกล่าวมีข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอหรือไม่ ตามพฤติการณ์แห่งคดี สำนวนคดีมีความครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอที่จะรับดำเนินการไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ มีรายละเอียดเป็นไปตามบัญชีแนบท้ายของประกาศ กคพ.หรือไม่ ซึ่งท้ายสุดจะเป็นอำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่จะพิจารณาจากเนื้อหาข้อเท็จจริงทั้งหมด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี